สกัดบทเรียน 23 โรงเรียนโมเดลต้นแบบเสริมนวัตกรรม ขับเคลื่อนสุขภาวะดีทั่วประเทศ

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

                  น่าห่วง ! การตลาดบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า-แอลกอฮอล์ คุกคามสุขภาพเยาวชนหนัก พบเด็กและเยาวชนอายุ 15-24 ปี สูบบุหรี่ 12.7% ดื่มแอลกอฮอล์ 20.9% ปัญหาสุขภาพจิตยังน่ากังวล ปี 67 มีเยาวชนเผชิญเครียดจากการเรียนพุ่ง 51.45% สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย จัดเวทีนำเสนอโมเดลส่งเสริมสุขภาวะเด็กอย่างเป็นองค์รวมด้วยการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach) สกัดบทเรียนจาก 23 โรงเรียนต้นแบบ พร้อมส่งต่อโรงเรียนทั่วประเทศเพื่อร่วมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะดีของเด็กทุกคน

                  เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 17 ก.พ. 2568 ที่ศูนย์ประชุมวายุภักดิ์ โรงแรมเซนทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (p2h) จัดเวทีนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะ ภายใต้โครงการพัฒนาโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะตามแนวทางการพัฒนาทั้งระบบ (Healthy School : The Whole School Approach) ระยะที่ 3 เปิดพื้นที่ถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการทำงานสร้างสุขภาวะในเด็กและเยาวชน ระหว่างเครือข่ายโรงเรียน 23 แห่ง ทั่วประเทศ

                  น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่สำคัญในกลุ่มเด็กและเยาวชนไทย ยังคงเป็นเรื่องบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และภัยออนไลน์ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพใจ ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบเยาวชนอายุ 15-24 ปี สูบบุหรี่ 12.7% ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 20.9% หรือ 1.9 ล้านคน ดื่มแล้วขับ 33.06% ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนน 25.09% ทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารบาดเจ็บและเสียชีวิต ขณะที่ปัญหาสุขภาพจิตและผลกระทบจากการใช้สื่อออนไลน์ของเด็กและเยาวชนยังคงน่ากังวล สอดคล้องกับรายงานผลสำรวจสุขภาพจิตเด็กไทย 3,516 คนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 16-30 ก.ย. ปี 2567 โดยร็อกเกต มีเดีย แล็บ และมูลนิธิแพธทูเฮลท์ พบเด็กและเยาวชนเผชิญความเครียด สาเหตุจากการเรียน 51.45% ถูกเปรียบเทียบรูปร่างหน้าตา 9.93% แบกความกดดันจากครอบครัว 9.78% กังวลเรื่องการเงิน 9.76%

                  “จากสถานการณ์ดังกล่าวซึ่งเราติดตามแนวโน้มมาก่อนหน้านี้ สสส. จึงร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ตั้งแต่ปี 2563 พัฒนาโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะแนวใหม่ ใช้หลักการพัฒนาทั้งระบบ (Whole School Approach) ซึ่งพิสูจน์ผลทั่วโลกว่าได้ผลดีและองค์การอนามัยโลกก็ให้การรับรอง มุ่งเน้นให้โรงเรียนมีกลไกการทำงานลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพของนักเรียนอย่างเป็นระบบ เช่น สร้างความตระหนักรู้ภัยบุหรี่และสารเสพติด รณรงค์ลดการบริโภคแอลกอฮอล์ สร้างทักษะการจัดการอารมณ์ ทักษะใช้สื่อเทคโนโลยี และเสริมองค์ความรู้ด้านภาวะโภชนาการ มีกระบวนการขับเคลื่อนจากภายในโรงเรียน ทั้งด้านระบบบริหารการจัดการเรียนรู้ ระบบช่วยเหลือนักเรียน การพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพของนักเรียน บูรณาการทำงานร่วมกับครอบครัวและชุมชนในพื้นที่ เกิดเป็นโรงเรียนต้นแบบสุขภาวะดี 23 แห่งทั่วประเทศ นักเรียนได้รับประโยชน์มากกว่า 48,500 คน เกิดความตระหนักรู้ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ 80% สุขภาพจิตดีและมีความสุขในการเรียน 72.2% มีเครื่องมือ และนวัตกรรมกระบวนขับเคลื่อนงานสุขภาวะอย่างเป็นระบบ พร้อมขยายผลบทเรียนสู่โรงเรียนอื่นๆ เพื่อร่วมมือกันในการดูแลเด็กและเยาวชนให้มีสุขภาวะดี สำหรับผู้สนใจโมเดลสร้างเสริมสุขภาวะในโรงเรียนแบบพัฒนาทั้งระบบ สามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.childimpact.co” น.ส.ณัฐยา กล่าว

                  น.ส.ภาวนา เหวียนระวี ผู้อำนวยการมูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะฯ ขับเคลื่อนผ่านแนวทางการดำเนินงานสำคัญ 5 ด้าน 1.พัฒนากลไกการทำงานของโรงเรียนให้เข้มแข็ง เน้นการพัฒนาศักยภาพครูให้มีองค์ความรู้ด้านสุขภาวะ พร้อมหนุนเสริมให้ผู้บริหารมีกำหนดนโยบายด้านสุขภาวะที่ชัดเจน นำไปสู่การลงมือปฏิบัติ 2.สร้างกลไกสนับสนุนด้านวิชาการ ร่วมสรรหาผู้เชี่ยวชาญออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ เน้นทักษะขั้นพื้นฐานในการสร้างเสริมสุขภาวะของนักเรียน 3.สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ผ่านการสื่อสารสร้างความเข้าใจแนวทางการสร้างเสริมสุขภาวะในโรงเรียน 4.ถอดบทเรียนการทำงาน เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ของกรมอนามัย และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 5.ขยายผลการสร้างเสริมสุขภาวะ ตามแนวทางการพัฒนาทั้งระบบ สู่โรงเรียนอื่นๆ ในพื้นที่ เพื่อร่วมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีของเด็กและเยาวชนทุกคน

                  ดร.ตฤณ ก้านดอกไม้ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า การส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะการใช้ชีวิต มี ทักษะการจัดการอารมณ์สังคม (social emotional learning) จะช่วยให้นักเรียนรอดพ้นจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย ในขณะที่หน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบในการดูแลเด็กและเยาวชนก็ต้องร่วมมือกันลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของนักเรียน ควบคู่ไปกับการสร้างเสริมทักษะวิชาการ โรงเรียนต้องดำเนินงานสุขภาวะนักเรียนให้ครอบคลุมทั้งด้านกาย ใจ ปัญญา และสังคม เพื่อให้นักเรียนปลอดภัยและเรียนหนังสืออย่างมีความสุข

                  นางวัชรินทร์ สิงหะ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดจันทร์ตะวันออก จ.พิษณุโลก กล่าวว่า โรงเรียนขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะแบบทั้งระบบในประเด็นโภชนาการ ออกแบบการทำงานทั้งระบบ โดยนำประเด็นเรื่องการบริโภคไปบูรณาการเข้ากับรายวิชาทั้ง 8 กลุ่มสาระ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องการบริโภคอาหารอย่างรอบด้าน มีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องโภชนาการนอกห้องเรียน เช่น การจัดงานขายอาหารปลอดภัย และทำงานร่วมกับผู้ปกครอง โดยครูประจำชั้นจะจัดส่งชุดความรู้เรื่องการกินที่ถูกต้องไปให้ที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ ในกลุ่มเด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐาน มีระบบติดตามโดยครูประจำชั้นคอยกระตุ้นให้เข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มการเคลื่อนไหวทางกาย บูรณาการความร่วมมือกับสถานพยาบาลในพื้นที่ จัดให้มีนักโภชนาการคอยให้คำแนะนำเรื่องการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้นักเรียนมีความรู้ด้านโภชนาการและมีพฤติกรรมการเลือกกินอาหารที่ถูกต้อง

Shares:
QR Code :
QR Code