สกศ.เคลื่อนแผนเติมความรู้ผู้สูงวัย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
การประชุมเสวนาสภาการศึกษา (OEC Forum) ครั้งที่ 17 เรื่องการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ
จากการประชุมเสวนาสภาการศึกษา (OEC Forum) ครั้งที่ 17 เรื่องการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ดร.กมลรอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวไม่ช้า โดยสถิติระบุว่าปี 2564 จะมีผู้สูงอายุเกิน ร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร หรือ ประมาณ 13 ล้านคน และก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวใน ปี 2574 ขณะที่สัดส่วนอัตราการเกิดของเด็กมี เพียงร้อยละ 0.5 ต่อปีเท่านั้น การจัดการศึกษาผู้สูงอายุในแผนการศึกษาชาติระยะ 20 ปี จึงต้องมีความพิเศษและสอดคล้องกับการจัดการศึกษาตลอด 5 ช่วงวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยสูงอายุ ซึ่งทุกคนต้องได้รับการศึกษาที่เหมาะสมกับช่วงวัย
ด้าน ศ.ศศิพัฒน์ ยอดเพชร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนผู้สูงอายุ กรรมการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ คือ การดำเนินการภายใต้แนวคิดการส่งเสริมการศึกษาเพื่อผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ หรือแอ๊คทีฟ เอจจิ้ง (Active Ageing) ซึ่งเน้นให้มีสุขภาพที่ดี ปรับตัวเข้ากับสังคมได้อย่างเหมาะสม สามารถทำงานได้ มีรายได้เลี้ยงตนเองได้ เป็นต้น แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีระบบการจัดการศึกษาผู้สูงอายุที่ชัดเจน เพราะส่วนใหญ่เป็นการจัดการศึกษาผสมผสานและยืดหยุ่นทั้งรูปแบบตามอัธยาศัยและเรียนในระบบตามที่หน่วยงานเห็นว่าเหมาะสมกับงบประมาณ สถานที่ และเวลา โดยกำหนดหลักสูตรที่เรียนอย่างสนุกสนานและรื่นเริงแก่ผู้สูงอายุเท่านั้น
นายประยุทธ หลักคำ ผอ.ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กลุ่มเป้าหมายพิเศษ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กล่าวว่า กศน.ขับเคลื่อนการศึกษาของผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2557 เป้าหมายสำคัญ คือ ลดสัดส่วนผู้สูงอายุติดบ้านและนอนติดเตียง หันมาติดสังคม โดยการดึงผู้สูงอายุออกจากบ้านมาร่วมกิจกรรมเพื่อเสริมศักยภาพ การเรียนรู้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการทำงานร่วมกันของ 6 กระทรวง และ 2 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งในปี 2559 พบว่า ผู้สูงวัยมีผลตอบรับอย่างมากด้านการส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และรู้สึกมีความสุขในการได้ใช้สื่อระหว่างผู้สูง อายุด้วยกันผ่านสังคมออนไลน์ อย่างไลน์ หรือ เฟซบุ๊ก