สกลนครโมเดลแม่แบบ รณรงค์ไม่สูบบุหรี่

ตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนให้จังหวัดต่างๆ ดำเนิน โครงการจังหวัดปลอดบุหรี่ จากการทำงานที่ผ่านมาทำให้ จ.สกลนคร เป็นโมเดลแม่แบบการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่


สกลนครโมเดลแม่แบบ รณรงค์ไม่สูบบุหรี่ thaihealth


ระยะแรก สสส.สนับสนุนการดำเนินงาน ของจังหวัดที่มีอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรสูง รวม 10 จังหวัด และในระยะที่ 2 สนับสนุนการดำเนินงานของจังหวัดที่มีอัตรการสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชนสูง รวม 17 จังหวัด และมีการกำหนด วัตถุประสงค์และกลยุทธ์ในการดำเนินงานที่ครอบคลุมทุกมาตรการ ตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ โดยกลยุทธ์หรือมาตรการที่เป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงานโครงการจังหวัดปลอดบุหรี่ คือ การสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่และการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้สถานที่ต่างๆ เป็นเขตปลอดบุหรี่ตามที่กฎหมายกำหนด


นับตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพ ผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 กระทรวงสาธารณสุขได้มีการออกกฎหมาย ลูกบทเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 17 เมื่อปี 2549 ฉบับที่ 18 เมื่อปี 2550 เพื่อกำหนดชื่อหรือประเภทของสถานที่สาธารณะที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ และฉบับที่ 19 เมื่อปี 2553 ยกเลิกประกาศฉบับที่ 17 และฉบับที่ 18 พร้อมทั้งกำหนดชื่อประเภทของสถานที่สาธารณะที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยการกำหนดส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่สาธารณะดังกล่าวเป็นเขตสูบบุหรี่หรือเขตปลอดบุหรี่ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535


จากงานเขียนของ นางสาวนิรดา แสนรัตน์ นักวิชาการโครงการพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ พบว่า "สกลนคร" เป็นหนึ่งในหลายจังหวัดที่มีผลการดำเนินงานที่เด่นชัด และเป็นรูปธรรม มีการดำเนินงานครอบคลุมทุกมาตรการตามโครงการจังหวัดปลอดบุหรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย และมีจุดแข็งในเชิงนโยบายระดับจังหวัดที่เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดจากการดื่มสุราและกฎหมาย และมีจุดแข็งในเชิงนโยบายระดับจังหวัดที่เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดจากการดื่มสุราและสูบบุหรี่ โดยตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ได้มีการกำหนดนโยบายและมาตรการในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบระดับจังหวัด โดยมีการบูรณาการงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล โดยใช้มาตรการสำคัญในการดำเนินงาน คือ การบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติ ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 ควบคู่กันไป นอกจากนี้ ยังมีการประกาศเป็นนโยบายของจังหวัด


รูปแบบการบังคับใช้กฎหมายการควบคุมยาสูบของจังหวัดสกลนคร เน้นการบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกฎหมายควบคุมยาสูบไปพร้อมๆ กัน โดยมีลักษณะเด่นทั้งองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ กล่าวคือ คณะกรรมการระดับจังหวัดจะประกอบไปด้วยประชาคมจังหวัดทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง สรรพสามิต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการ และมีอำนาจหน้าที่สำคัญในการกำหนด แนวทางปฏิบัติเพื่อเฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมาย มีการแต่งตั้งคณะทำงานออกตรวจการปฏิบัติตามกฎหมายและจัดทีมออกตรวจ ในบริเวณการจัดงานประเพณีประจำจังหวัดเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพ ในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ในการทำให้บริเวณงานเป็นสถานที่ปลอดสุราและยาสูบตามกฎหมาย โดยใช้มาตรการการตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายควบคุมยาสูบอย่างเข้มข้น และให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักและปลุกกระแสการห้ามสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่ตามที่กฎหมายกำหนด โดยใช้ Application "ทวงสิทธิ์ ห้ามสูบ" ในทุก รพ.สต. จำนวน 167 แห่ง ซึ่งทำให้เกิดกระแสสังคมในการปฏิบัติตามกฎหมายและสูบบุหรี่ตามสถานที่ที่กฎหมายกำหนด


นอกจากนี้ ยังมีการใช้งานบุญและประเพณีประจำจังหวัดในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิด การปฏิบัติตามกฎหมาย ตลอดจนมีการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ และคณะทำงานออกตรวจการห้ามจำหน่าย-ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และห้ามสูบบุหรี่ในงานบุญประเพณีประจำจังหวัดมาอย่างต่อเนื่อง พบการกระทำความผิดในข้อหาไม่จัดให้มีเครื่องหมายเขตสูบบุหรี่ หรือเขตปลอดบุหรี่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนด ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการ ในการแสดงเครื่องหมายของเขตสูบบุหรี่และเขตปลอดบุหรี่ พ.ศ.2551 รวม 35 ร้าน ซึ่งมีการดำเนินคดี 5 คดี และพนักงานสอบสวนได้ เรียกพบเพื่อตักเตือน จำนวน 30 ร้านและพบการกระทำความผิด ฐานมีป้ายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ยาสูบ จำนวน 2 ร้าน ซึ่งคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบจังหวัดสกลนครได้มีมติให้ปรับร้านละ 50,000 บาท


การดำเนินการสร้างกระแสและการบังคับใช้กฎหมายในงานประเพณีประจำจังหวัดมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และยังมีการขยายการดำเนินงานจากระดับจังหวัดลงไปสู่ระดับอำเภอ ซึ่งมีการกำหนดกรอบการดำเนินงานและการประเมินผลอย่างชัดเจน จนเกิดความร่วมมือในการดำเนินงานระดับอำเภอ โดยเฉพาะการทำให้สถานที่ต่างๆ เป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกล่าวได้ว่าการดำเนินงานของจังหวัดสกลนคร สามารถดำเนินงานได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน โครงการจังหวัดปลอดบุหรี่ได้อย่างเป็นรูปธรรม


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code