‘ศูนย์เรียนรวม’ ทางออกสร้างคุณภาพ ร.ร.ขนาดเล็ก

ขณะที่ปัญหาในเรื่องคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนยังเป็นประเด็นถกเถียงของคนเมือง แต่สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กแล้ว เพียงแค่มีสถานที่เรียนรู้มีครูก็เป็นเรื่องที่ดีเกินพอ

'ศูนย์เรียนรวม' ทางออกสร้างคุณภาพ ร.ร.ขนาดเล็ก

ตำบลเล็กอย่างตำบลวังน้ำคู้ มีโรงเรียนขนาดเล็ก 4 โรงเรียน โรงเรียนหนึ่งมีครูผู้สอน 2 คน มีเด็กนักเรียนประมาณ 30-40 คนต่อโรงเรียน ครูสอนไม่ครบทุกชั้นเรียน ยิ่งกว่านั้น เด็กมีผลสัมฤทธิ์ไม่ตรงตามที่คาดหวัง

ทางโรงเรียนจึงร่วมปรึกษาหารือกับทีมงาน อบต.วังน้ำคู้ ผู้บริหารโรงเรียนอีก 3 โรงเรียน ชุมชน ผู้นำท้องถิ่น และมีความเห็นพ้องต้องกันให้เด็กมาเรียนหนังสือด้วยกัน จนเกิดเป็นศูนย์เรียนรวมขนาดเล็กตำบลวังน้ำคู้

จากเหตุผลสำคัญที่เด็กได้รับความรู้จากการศึกษาไม่เพียงพอ ชุมชนหรือท้องถิ่นต้องหาทางแก้ไข เพื่อช่วยเหลืออนาคตของชาติ ผ่านการจัดการเรียนการสอนร่วมกับโรงเรียนอื่นในตำบลวังน้ำคู้ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากลับกลายมาเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวที่มีประสิทธิภาพและได้ผลเกินคาด กระทั่งกลายมาเป็นแหล่งเรียนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของตำบล ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ศูนย์เรียนรวมขนาดเล็กเริ่มขึ้นเมื่อปี 2548 ขณะนั้น รวมเพียง 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนวัดบางยาง และโรงเรียนวัดปากพิง โดยแบ่งชั้น ป. 1-3 โรงเรียนวัดปากพิงไปเรียนรวมกับโรงเรียนบ้านวังยาง และให้ชั้น ป. 4-6 โรงเรียนวัดบางยางไปเรียนรวมกับโรงเรียนวัดปากพิง การเรียนการสอนเช่นนี้พบว่าครูผู้สอนสามารถสอนเด็กได้ครบทุกชั้นเรียน และนักเรียนก็มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น

ต่อมาเมื่อปี 2549 โรงเรียนบ้านหนองหญ้าและโรงเรียนไผ่หลงราษฎร์เจริญ ก็ได้ดำเนินการจัดรูปแบบการเรียนการสอนเดียวกันนี้ ขณะนั้น อบต.ให้การสนับสนุนโดยให้รถรับ-ส่งเด็ก เมื่อต้องเดินทางไปเรียนรวมกัน จากนั้นเมื่อปี 2550 ทำประชาคมร่วมกันอีกครั้ง โดยมีทุกส่วนเข้าร่วมประชาคมด้วยกันทั้งโรงเรียน ชุมชน และ อบต.ผลที่ได้คือเราดำเนินการจัดการเรียนรวมกัน 4 โรงเรียนที่โรงเรียนวังน้ำคู้ศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำตำบล

“ล่าสุดปี 2554 เราคิดว่าน่าจะพัฒนาศูนย์เรียนรวมให้ดีกว่าเดิม จึงดำเนินการทำประชาคมอีกครั้ง โดยมีผู้ปกครอง ชุมชน ท้องถิ่น เข้าร่วมประชุมเช่นเดิม และได้มติว่าจะจัดศูนย์เรียนรวมที่โรงเรียนบ้านวังยาง เพราะเป็นโรงเรียนเดียวที่ติดถนนใหญ่ สะดวกกับเด็กที่เข้ามาเรียน และมีอาคารสถานที่พอในการที่จัดการเรียนการสอน อีกทั้งหากจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนอื่น นักเรียนต้องเดินทางเข้าไปไกลถึง 2-3 กิโลเมตร” ผอ.ชฎารัตน์ โมสกุล ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรวมขนาดเล็ก เล่าถึงการพัฒนาศูนย์เรียนรวม

ส่วนการจัดการเรียนการสอนต่อว่า การเรียนการสอนสำหรับศูนย์เรียนรวม โรงเรียนพิเศษสำหรับเด็กๆ ในตำบลวังน้ำคู้ยังมีการเรียนการสอนตามปกติ เพียงแต่เด็กๆ จะเรียนอยู่ที่ศูนย์เรียนรวม 4 วัน คือ วันจันทร์-พฤหัสบดี เมื่อถึงวันศุกร์เด็กจะกลับไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนของตน ทั้งการเรียนซ่อมเสริม หรือการทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนโรงเรียนเดิม

เพราะสิ่งที่ชาวบ้านหรือชุมชนกลัว คือ การที่โรงเรียนจะถูกยุบเพราะโรงเรียนเป็นศูนย์กลางของส่วนราชการของหมู่บ้าน ดังนั้น การทำประชาคมจึงได้ข้อตกลง 2 ข้อ คือ 1. ให้เด็กเรียนที่ศูนย์เรียนรวม 4 วัน คือ วันจันทร์-พฤหัสบดี แล้ววันศุกร์จึงเดินทางกลับไปทำกิจกรรมที่โรงเรียนของตนเอง 2. เด็กนักเรียนชั้นอนุบาลไม่ต้องเดินทางไปเรียนที่ศูนย์เรียนรวม เด็กๆ ยังอยู่ที่โรงเรียนเดิม

ด้านการจัดการบริหารไม่มีปัญหาอะไร เพราะผู้บริหารทุกโรงเรียนจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาที่ศูนย์เรียนรวม งบแต่ละโรงเรียนก็ยังคงเป็นของแต่ละโรงเรียนเช่นเดิม เพียงแต่ถ้ามีการใช้จ่ายอะไรเพิ่มมากขึ้น เราก็จะนำมาหารกันทั้ง 4 โรงเรียน

ผลจากการดำเนินการพัฒนาโรงเรียนประจำตำบลวังน้ำคู้ทั้ง 4 โรงเรียน ทางชุมชนและผู้ปกครองมองเห็นถึงอนาคตของบุตรหลานชาววังน้ำคู้ได้ประโยชน์จากศูนย์เรียนรวมจริง ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเริ่มดีขึ้น เด็กได้เรียนรู้จากการสอนอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังได้พบปะเพื่อนใหม่ต่างโรงเรียนที่ต้องมานั่งเรียนคู่กันภายในห้องเรียนอีกด้วย

เมื่อเรามีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นครูผู้สอนก็สอนได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องกังวลว่าต้องสอนห้องนี้แล้วต้องวิ่งไปสอนห้องนี้ต่อ และเรายังสามารถจัดการเรียนการสอนหรือทำกิจกรรมกลุ่มได้หลากหลายและง่ายขึ้น อีกทั้งบางโรงเรียนไม่มีคอมพิวเตอร์ไว้สำหรับให้เด็กเรียน เมื่อมาเรียนรวมกันที่นี่เด็กมีโอกาสได้เรียนคอมพิวเตอร์ ผลที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงอีกอย่าง คือ จากที่สามารถพาเด็กไปทัศนศึกษาได้แค่เพียงวัดใหญ่ในเมืองพิษณุโลก

เมื่อจัดการเรียนการสอนแบบศูนย์เรียนรวมแล้ว อบต.เข้ามาสนับสนุนให้งบในการพาเด็กๆ ไปทัศนศึกษาต่างจังหวัด ทำให้เด็กได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างที่ไม่มีในตำราเรียน

โรงเรียนอีก 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนวังน้ำคู้ โรงเรียนวัดปากพิง และโรงเรียนไผ่หลงราษฎร์เจริญ จะดำเนินการเป็นศูนย์การเรียนรู้สู่อาเซียน โดยโรงเรียนวัดปากพิงเราจะจัดเตรียมให้เป็นห้องเรียนอาเซียน นำธงแต่ละประเทศเข้ามา จำลองแต่ละประเทศให้เด็กๆ ได้เห็นและเรียนรู้

ส่วนโรงเรียนไผ่หลงราษฎร์เจริญจะจัดให้เป็นศูนย์วัฒนธรรม 4 ภาค เพราะเด็กไม่สามารถเดินทางไปทัศนศึกษาได้ทุกภาคทุกจังหวัด เราจะจำลองให้เด็กเห็นในแต่ละภาค และโรงเรียนบ้านหนองหญ้าจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ส่วนนี้จะดึงเอาวิทยากรในชุมชนรวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้เพิ่มเติม

สุดท้าย คือ โรงเรียนบ้านวังยางหรือศูนย์เรียนรวมในปัจจุบันจะเป็นศูนย์ ict แหล่งเรียนรู้ศูนย์กลาง นอกจากนี้ เราจะจัดครูภาษาอังกฤษเข้ามาให้ความรู้เด็กๆ ในส่วนของศูนย์การเรียนรู้อาเซียน ศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ เราจะจัดตารางให้เด็กชั้น ป. 1-6 สับเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าไปศึกษาหาความรู้จากที่นี่

การจัดการเรียนการสอนของเด็กศูนย์เรียนรวมขนาดเล็ก ตำบลวังน้ำคู้ยังคงดำเนินการเดินหน้า เพื่อพัฒนาศักยภาพทางการเรียนสำหรับเด็กๆ โดยพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่ออนาคตของเด็กในชุมชนต่อไป

แม้จะเป็นเพียงโรงเรียนเล็กภายในตำบล แต่การจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อการพัฒนาศักยภาพทางการศึกษาสำหรับเด็กยังเป็นเหตุผลสำคัญ ของบรรดาครูผู้สอนและผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหลาย อาจเห็นคำตอบหนึ่งในการพัฒนารูปแบบการศึกษาในชนบทห่างไกล รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของเด็กให้มากยิ่งขึ้น การรวมกันนั้นทำให้ทั้งงานทั้งคนเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล บางโรงเรียนไม่มีคอมพิวเตอร์สำหรับให้เด็กนักเรียน เมื่อมาเรียนรวมกันที่นี่เด็กมีโอกาสได้เรียนคอมพิวเตอร์

 

เรื่อง: ชฎารัตน์ โมสกุล ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรวมขนาดเล็ก
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
 

Shares:
QR Code :
QR Code