‘ศูนย์เตือนภัยสุขภาพ’ เผยคนกรุงเลี่ยงผักผลไม้-ติดน้ำอัดลม

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


'ศูนย์เตือนภัยสุขภาพ' เผยคนกรุงเลี่ยงผักผลไม้-ติดน้ำอัดลม thaihealth


ม.นวมินทราธิราชเปิด 'ศูนย์เตือนภัยสุขภาพคนกรุงเทพฯ' ครั้งแรก เผยผลสำรวจเบื้องต้น พบข้อมูลบริโภค'ผัก-ผลไม้'ต่ำกว่าเกณฑ์ ติดน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบมากกว่าภาคอื่นๆ


เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ร่วมกับ กรุงเทพมหานคนร (กทม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และแผนงานเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ เปิดตัว "ศูนย์เตือนภัยสุขภาพคนกรุงเทพมหานคร"


นายพิจิตต รัตตกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช แถลงว่า ปัจจุบันคนกรุงเทพฯและคนไทยป่วยด้วยโรคต่างๆ จำนวนมากขึ้น แต่การเก็บรวบรวมข้อมูลของการเจ็บป่วยด้วยโรคเหล่านี้ยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ ข้อมูลที่ปรากฏจึงเป็นลักษณะต่างคนต่างเก็บข้อมูล ขาดการนำมาวิเคราะห์ประมวลผลร่วมกัน ทำให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่แท้จริง นอกจากนี้ยังมีประชากรแฝง แรงงานต่างด้าว และนักท่องเที่ยวอีกจำนวนมาก ดังนั้นมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชจึงตั้งศูนย์เตือนภัยสุขภาพขึ้นและดำเนินงานในรูปคณะกรรมการ


"เบื้องต้นได้จัดทำรายงานข้อมูลด้านสุขภาพคนกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ.2558 เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลด้านสุขภาพให้กับแพทย์และประชาชนที่สนใจ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในการรวบรวมสถิติสุขภาพของคนกรุงเทพฯทั้งหมด ผู้สนใจทราบรายละเอียดข้อมูลด้านสุขภาพ หรือมีปัญหาด้านสุขภาพที่ต้องการคำปรึกษา ติดต่อที่ [email protected]" นายพิจิตตกล่าว


ด้าน นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงว่า จากรายงานภาวะโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย พ.ศ.2554 พบว่าคนกรุงเทพฯเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดย 5 อันดับโรคในเพศชาย ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด การติดเชื้อเอชไอวี/ เอดส์ อุบัติเหตุทางถนน และมะเร็งตับ ขณะที่ 5 อันดับโรคในเพศหญิง ได้แก่ โรคซึมเศร้า โรคหลอดเลือดสมอง ต้อกระจก โรคหัวใจขาดเลือด และโรคเบาหวานตามลำดับ นอกจากนี้ สาเหตุการเสียชีวิต 10 อันดับของคนกรุงเทพฯปี 2549-2556 ได้แก่ โรคมะเร็งทุกชนิด โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคนกรุงเทพฯมีอัตราเสียชีวิตสูงกว่าเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ


ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี แถลงว่า สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับคนกรุงเทพฯในขณะนี้ คือ พบว่าบริโภคผักและผลไม้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ในขณะที่กลุ่มเด็กอายุ 2-14 ปี ดื่มน้ำอัดลมและขนมกรุบกรอบสูงกว่าประชากรเด็กภาคอื่น ที่สำคัญยังให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายน้อยมากเมื่อเทียบกับทุกภาค ส่งผลให้เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจ/กล้ามเนื้อหัวใจตาย ไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ

Shares:
QR Code :
QR Code