‘ศูนย์เด็กเล็ก’กำหนดคุณภาพคนในชาติ

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


'ศูนย์เด็กเล็ก'กำหนดคุณภาพคนในชาติ thaihealth


แฟ้มภาพ


          สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัด "อบรมเชิงปฏิบัติการปฐมนิเทศครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก" ระหว่างวันที่ 8-11 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา เพื่อเสริมศักยภาพ เติมความรู้ ให้ครูผู้ดูแลเด็กมีความรู้ความสามารถในการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยใช้สื่อ กิจกรรม และพื้นที่สร้างสรรค์


          ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผอ.สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สน. 5) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า โครงการ "มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก"  จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โครงการนี้ เกิดขึ้นจากการทำงานเชิงรุกของกลุ่มแผนงานสื่อสร้างสรรค์สุขภาวะ ที่ได้บูรณาการการทำงานของแผนงานทั้ง 3 แผนงาน คือ แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.), แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ โดย สสส. สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ให้เป็นนักสื่อสารสุขภาวะที่มีทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะของเด็กปฐมวัย ด้วยแนวคิดของการสร้าง "พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก" โดยเน้นการสร้างสุขภาวะที่ดี 4 ด้าน (กาย จิต ปัญญา สังคม) ด้วยยุทธศาสตร์ 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) โดยได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ครูศพด. ตั้งแต่ปี 2557 จนถึง ปี 2559 มี จำนวนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเข้าร่วมโครงการแล้วทั้งสิ้น 528 ศูนย์ มีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ จำนวน 32,852 คน สำหรับในปีนี้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเข้าร่วม 100 แห่ง และมีครูเข้าร่วมอบรม 120 คน


          ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า จากการประเมินพัฒนาการเด็กที่เข้าร่วมโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ปี 2560 ใน 7 ด้าน ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กจากการประเมินพัฒนาการเด็กหลังทำกิจกรรม พบว่า ด้านที่เด็กมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมากที่สุดหลังจากได้เข้าร่วมกิจกรรม 4 ลำดับแรก คือ 1. ด้านความสัมพันธ์ ความรู้จักผูกพัน การสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น มีทักษะในการสื่อสาร อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ 2. ด้านอารมณ์ ควบคุมอารมณ์ได้ไม่ใช้ความรุนแรงมีความเมตตา  3. ด้านความฉลาดรู้ทางด้านสุขภาพ ด้านกิจกรรมทางกาย พบว่าเด็กส่วนใหญ่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องแคล่ว 4. ความฉลาดรู้ทางด้านสุขภาพ ด้านอาหารและโภชนาการ โดยเด็ก ๆ ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กส่วนใหญ่ไม่กินขนมขบเคี้ยว


          น.ส.พันธ์วิรา จินดาธรรม ครูในศูนย์เด็กเล็ก  ต.หนองแรด อ.เทิง จ.เชียงราย เล่าหลังจากได้งบประมาณสนับสนุนจากสสส.ในการสร้างสรรค์พื้นที่สื่อดีในศูนย์เด็กเล็ก ในปี 2559 ที่ผ่านมาประมาณ 70,000 บาท ทำให้ศูนย์ฯ เกิดการเปลี่ยนแปลง หลังจากที่ครูเข้ามาร่วมอบรมความรู้ในการทำสื่อ ทำแปลงผักให้เป็นพื้นที่เรียนรู้สอนให้เด็กปลูกผักเก็บผักไปปรุงอาหาร และการดึงชุมชนให้มีส่วนร่วมกับชุมชน เช่น การทำสนามเด็กเล่นจากยางรถยนต์ ผู้ปกครองนำรถไถมาช่วยเกลี่ยพื้นที่ให้ นำกล้าไม้ผลมาปลูกในศูนย์เด็กเล็ก ช่วยกันทำแปลงดอกไม้ ทำให้ศูนย์มีดอกไม้สวยงามตลอดทั้งปีกลายเป็นมุมถ่ายภาพที่ทั้งเด็กและผู้ปกครองชอบ นอกจากยังมีกิจกรรมเรื่องโภชนาการ "ครัวของฉัน" ที่ให้เด็กมาร่วมทำอาหาร จนทำให้เด็กรับประทานอาหารที่เขาไม่ชอบได้ เช่น ผักบางชนิด เนื้อสัตว์ เส้นก๋วยเตี๋ยว สืบเนื่องจากบางครอบครัวไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญตรงนี้ ผลประเมินออกมาโภชนาการของเด็กผ่านเกณฑ์ รวมทั้งเรื่องปัญหา ฟันผุลดลง


          น.ส.พันธ์วิรา กล่าวว่า ผลจากการเปลี่ยน แปลงทางกายภาพทำให้ผู้ปกครองเห็นว่าศูนย์เด็กเล็กทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีขึ้น หลายครอบครัว ที่ส่งลูกไปเข้าศูนย์เด็กเล็กในเมือง หันกลับมาส่งลูกเข้าศูนย์เด็กเล็กในชุมชน จากที่มีเด็กเพียง 70 คน เพิ่มเป็น 100 คน ภายใน 1 ปี  จนอบต.ต้องจัดสรรงบประมาณจัดซื้อรถรับส่งให้เพิ่มจากเดิมมีแค่รถตู้ 1 คัน รวมทั้งจัดสรรงบประมาณในปี 2560-2561 ให้ศูนย์เด็กเล็ก 700,000 บาท เพราะเข้าใจว่าแล้วการสนับสนุนเรื่องอาหาร 1 มื้อ กับนม ไม่เพียงพอที่จะสร้างประชากรที่มีคุณภาพในอนาคต ล่าสุดศูนย์แห่งนี้ได้รับรางวัลศูนย์เด็กเล็กระดับเขตในพื้นที่ภาคเหนือ และกลายเป็นพื่นที่ศึกษาดูงานให้กับศูนย์เด็กเล็กในพื้นที่อื่น ที่มีจุดเด่นด้านสภาพแวดล้อมและการมีส่วนร่วม


          "เด็กประถมวัย มีความสำคัญมาก จากงานวิจัยทั่วโลก เห็นว่าถ้าเราลงทุนตรงนี้ พัฒนาเด็กในวัยนี้ คือการวางรากฐานที่จะสร้างประชากร ซึ่งทุ่มเทในวัยนี้จะเกิดผลคุ้มค่ามากที่จะทำให้ลดปัญหาสังคม แต่ทิศทางของประเทศเรากลับไปทุ่มเทในการส่งเสริมการศึกษาในเด็กที่โตแล้ว เช่นการลงทุนในมหา วิทยาลัยเราจะให้การสนับสนุนทรัพยากรเยอะมาก แต่เด็กในกลุ่มวัยนี้ ปรากฏว่าเป็นกลุ่มที่ขาดความสนใจและการพัฒนาต่าง ๆ  ค่อนข้างจะน้อย และยังไปฝากความหวังไว้ ให้องค์กรท้องถิ่นว่าจะพัฒนาได้ แต่ข้อเท็จจริงแล้วขาดความเข้าใจ สสส.จึงให้ความสำคัญ"  น.ส.สายใจ คงทน กลุ่ม We are Happy ผู้รายงานและประเมินภาพรวมการติดตามและพัฒนาศักยภาพโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ย้ำถึงการเข้ามาทำงานของ สสส. กับศูนย์เด็กเล็ก


          เด็กวัย 3-5 ขวบ คือช่วงวัยทองของชีวิต สมองกำลังเรียนรู้และพัฒนา หากทุกภาคส่วนช่วยกันนำสื่อดี พื้นที่สู่การรับรู้ของเด็กในวัยนี้ได้ เท่ากับกำลังสร้างสรรค์ประชากรชาติมีคุณภาพในอนาคต


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code