ศูนย์อาสาประชาชนฟื้นฟูภัยพิบัติ

 เครือข่ายใยแมงมุมช่วยผู้ประสบภัย

ศูนย์อาสาประชาชนฟื้นฟูภัยพิบัติ 

          การรู้จัก สร้างโอกาสในช่วงที่เกิดวิกฤติ เป็น กุศโลบาย ที่เยี่ยมยอดที่สุด ในการรองรับ ความทุกข์ และ ความเดือดร้อนจากวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น

 

          ทั้งนี้เพราะ วิกฤติหลายอย่าง เป็น เรื่องที่ไม่มีใครทราบมาก่อน และ ไม่สามารถจะหาทางแก้ไขได้ทันท่วงที ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นมาแล้ว ก็ไม่น่าจะจมอยู่บนกองทุกข์ ที่ได้รับจากวิกฤติ แต่ควรหาทางสร้างโอกาสจากวิกฤติให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เดือดร้อนจากวิกฤติเพื่อแบ่งเบาความทุกข์ที่มีอยู่ให้ลดน้อยลง

 

          “ศูนย์อาสาประชาชนฟื้นฟูภัยพิบัติ (ศอบ.)” เป็น รูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นมาจาก วิกฤติการณ์ ศูนย์ดังกล่าวนี้ มาจากองค์กรในภาคประชาชนทั้งหมดกว่า 50 องค์กร รวมถึง สสส., ทีวีไทย และ www.thaiflood.com ซึ่งมี Google crisis response เป็นผู้ให้การสนับสนุน โดยมีศูนย์อำนวยการ (วอร์รูม) ที่โรงแรมพินนาเคิล ลุมพินี เพื่อสนับสนุนการทำงานของภาคประชาชนช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมทั่วประเทศ โดยเน้นเสริมการทำงานของภาครัฐ ให้เข้าถึงพื้นที่ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

          การช่วยเหลือของศอบ. อยู่ภายใต้แนวคิดการประสานเครือข่ายภาคประชาชนที่ให้การช่วยเหลือขยายออกไปคล้ายกับใยแมงมุม คือ มีตัวแมงมุม และชุมชนในพื้นที่เป็นศูนย์ประสานงานหรือเป็นขาแมงมุมที่โยงไปสู่จุดเชื่อมต่อในจังหวัดต่างๆ (node) สร้างความช่วยเหลือให้กันและกัน โดยมีเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม www.thaiflood.com เป็นช่องทางประสานข้อมูลการช่วยเหลือทั้งหมด พร้อมทั้งแสดงผลข้อมูลการปฏิบัติงาน

 

          การทำงานของ ศอบ.คือผลลัพธ์ของการร่วมมือ ร่วมใจกันของภาคเอกชน ที่ประกาศ จัดยืนให้สังคมได้รับรู้ว่า ในกระบวนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เกิดขึ้นในสังคม ภาคประชาชนก็มีส่วนร่วม อย่างมาก ที่ไม่ใช่จะผลักภาระให้ภาครัฐรับภาระหนักเพียงฝ่ายเดียว

 

          ความสำเร็จของการสร้างเครือข่ายใยแมงมุม เท่าที่ปรากฏผลสัมฤทธิ์ออกมาอย่างเห็นได้ชัด มีหลายสถานการณ์ อาทิ ตัวอย่างที่ทำสำเร็จไปแล้วดังต่อไปนี้…

 

          คุณปรีดา คงแป้น จากมูลนิธิชุมชนไท และในฐานะที่ปรึกษาเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ เล่าถึงความสำเร็จในการใช้วิกฤตสร้างความเข้มแข็งในชุมชนให้ทราบว่า

 

          “โมเดลสึนามิ ที่เคยให้ประชาชนผู้ประสบภัยสึนามิในครั้งนั้น รวมตัวกันเป็นโครงข่ายช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งการจัดระบบการขอรับความช่วยเหลือที่บ้านน้ำเค็ม จ.พังงา ร่วมกันทำอาหาร หาที่พัก การจัดเวรยาม ฯลฯ ให้เพื่อนผู้ร่วมชะตากรรม และเป็นพื้นที่ส่งต่อไปยังพื้นที่ใกล้เคียงที่ประสบภัยด้วยเช่นกัน และ เมื่อผ่านพ้นเรื่องร้ายๆไปแล้ว พวกชาวบ้านก็ยังได้สานต่อกิจกรรมเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการตั้งธนาคารของหมู่บ้านจากเงินบริจาคในครั้งวิกฤติ รวมถึงล่าสุดได้ยกพลพรรครถ 8 คันพร้อมด้วยเรือ 3 ลำ เตาแก๊สและอุปกรณ์พร้อมทำครัว เครื่องมือสื่อสารในช่วงวิกฤติ และสิ่งของจำเป็นสำหรับผู้ประสบอุทกภัยไปช่วยเหลือที่อ.พิมาย จ.นครราชสีมาและที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

 

          คุณรวิภัคฐ์ ลิ้มโพธิ์แดน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูล สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เล่าว่า เมื่อได้ทราบข่าวอุทกภัยได้ส่งเอสเอ็มเอสไปยังตัวแทนเทศบาลทุกพื้นที่ว่า เทศบาลใดต้องการขอความช่วยเหลือ และเทศบาลใดต้องการช่วยเหลือพื้นที่อื่น เมื่อมีการติดต่อกลับมาก็แจ้งสิ่งที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็น อาหารสด อาหารแห้ง ถุงยังชีพ เครื่องปั๊มน้ำ รถขนสิ่งของช่วยเหลือ ฯลฯ ไปยังเครือข่าย สิ่งใดที่สามารถหยิบยืมหาจากพื้นที่อื่นก็ให้ปฏิบัติการทันที แต่หากเป็นสิ่งของที่จำเป็นต้องซื้อ ก็ติดต่อภาคเอกชน ซึ่งภาคธุรกิจก็ร่วมทำบุญโดยให้ฟรีเลยก็มี สิ่งที่สำคัญคือ ประสานกับนายกเทศมนตรีให้เป็นจุดโครงข่ายใยแมงมุม กระจายความช่วยเหลือที่ส่งจากส่วนกลางไปยังพื้นที่หนึ่ง เพื่อกระจายต่อๆไปอีก

 

          คุณธนพล ทรงวุฒิ จากมูลนิธิกระจกเงา ถ่ายทอดเรื่องราวที่ได้ลงไปช่วยผู้ประสบอุทกภัยที่ อ.หาดใหญ่ จ. สงขลา มาหมาดๆว่า พวกเราเดินทางไปพร้อมความช่วยเหลือและเครือข่ายจากส่วนกลางที่พร้อมให้การช่วยเหลือ โดยลงไปเชื่อมชุมชนกับคอนเนคชั่นที่เรามี ทำให้ได้รู้ว่า การช่วยเหลือนั้นมีรายละเอียดอีกมาก เช่น อาหารที่ช่วยเหลือถ้าเป็นผู้ประสบอุทกภัยที่เป็นอิสลาม ควรเป็นอาหารกระป๋องที่มีเครื่องหมายฮาลาล ผ้าโสร่งก็ต้องเป็นของใหม่ บางพื้นที่ไม่ทานข้าวเจ้า ทานแต่ข้าวเหนียว และในครั้งนี้ได้ใช้เครือข่ายโลกอินเตอร์เนต อย่างเฟซบุคและทวิตเตอร์ให้เป็นประโยชน์ในการระดมความช่วยเหลือและการสอบถามข้อมูลต่างๆ ด้วย ซึ่งได้มีผู้รู้มาช่วยกันหาข้อมูลเช่น หาแหล่งขายอาหารฮาลาล การขนส่งรถขนาดใหญ่ที่ลุยน้ำ ก็ได้คำแนะนำจากชาวไซเบอร์จนนำสู่การช่วยเหลือเข้าไปยังพื้นที่อย่างดีเยี่ยม

 

          ล่าสุด ศอบ.เตรียมลงพื้นที่ในอ.พิมาย จ.นครราชสีมาภายในเดือนพ.ย.นี้ ในการระดมความคิดเห็นของผู้ประสบอุทกภัยให้เกิดโมเดลพิมายที่เหมาะสมกับพื้นที่ ในการหาแนวทางป้องกัน และเตรียมการกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น หากเกิดขึ้นอีกในอนาคตที่ไม่คาดฝัน เพราะอย่างน้อยเราได้มีการเตรียมตัวกันแล้ว ซึ่งผู้ที่ต้องการจะบริจาคสิ่งของผ่าน ศอบ สามารถส่งได้ที่คลังขนส่งสินค้าสายการบินนกแอร์ สนามบินดอนเมือง ทุกวันในเวลา 08.30 – 16.00 น. โดยจะมีเจ้าหน้าที่สายการบินและอาสาสมัครคอยอำนวยความสะดวก หรือบริจาคเงินเพื่อซื้อวัตถุดิบประกอบอาหารให้ผู้ประสบภัย ที่บัญชีเลขที่ 066-256702-4 ธนาคารไทยพานิชย์ สาขาพระราม9 หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ Call Center 02-101-2900 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

          เครือข่ายใยแมงมุม ยังคงขยายฐานออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ตราบเท่าที่ วิกฤติทางสังคมยังมีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหมือนเช่นทุกวันนี้

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

 

Update: 17-11-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

Shares:
QR Code :
QR Code