ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาจังหวัดชุมพรต้นแบบการอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมด้วยพลังชุมชน

รวมพลังช่วยฟื้นฟูธรรมชาติ

 

ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาจังหวัดชุมพรต้นแบบการอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมด้วยพลังชุมชน          ปลายปี 2532 มหาวาตภัยเข้ามาทำลายล้างพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย โดยพื้นที่เคราะห์ร้าย คือ ภาคใต้ตอนบน เวลา 8.30 น. วันที่ 4 พฤศจิกายน 2532 พายุไต้ฝุ่น “เกย์” ที่มีความเร็วลม 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พัดถล่ม อ.เมือง บางสะพานน้อย บางสะพานใหญ่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ นานนับชั่วโมงก่อนเคลื่อนตัวถล่ม อ.ท่าแซะ และ อ.ประทิว จ.ชุมพร เป็นลำดับต่อมา

 

          หลังคลื่นลมพายุที่พัดถล่มอย่างบ้าคลั่งสงบลง ความสูญเสียก็ปรากฏ บ้านเรือนนับร้อยหลังพังเสียหาย ถนนและสะพานหลายแห่งใช้การไม่ได้ เรือกสวนไร่นา ทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางบกและทางทะเลถูกพายุถล่มราบเป็นหน้ากลอง มีผู้เสียชีวิตเกือบ 500 คน และได้รับความเดือดร้อนอีกว่า 150,000 คน

 

          ความสูญเสียดังกล่าวจึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจของคนในพื้นที่อย่าง อ.สุภาพ ศรีทรัพย์ อาจารย์โรงเรียนปะทิววิทยา ที่ต้องการฟื้นฟูคืนสภาพสิ่งแวดล้อมที่ให้กลับมาดังเดิม จึงได้ก่อตั้ง “ชุมนุมสิ่งแวดล้อมอนุรักษ์ทรัพยากรปะการังและสิ่งแวดล้อม” ขึ้นภายในโรงเรียน เมื่อปี 2538 โดยมีสมาชิกเป็นนักเรียนในโรงเรียนที่จะทำกิจกรรมรักษาปะการังและสิ่งแวด ล้อมทุกรูปแบบ จากแรงบันดาลใจและคนทำงานกลุ่มเล็กๆ หลายฝ่ายเริ่มให้ความสนใจและต้องการมีส่วนร่วมจึงได้จัดตั้งเป็น “ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม อ.ปะทิว” กระทั่งปี 2544 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้แต่งตั้งให้เป็น “ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาจังหวัดชุมพร” มาจนถึงปัจจุบัน โดยมี “สมาคมเพื่อนสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพร” ดำเนินงานเป็นต้นแบบให้กับเครือข่ายที่ถูกต่อยอดขึ้นอย่างมากมาย

 

          ชิดสุภางค์ ชำนาญ เลขาธิการสมาคมเพื่อนสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพร เล่าว่า ภายหลังจากได้ก่อตั้งเป็นศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาจังหวัดชุมพรแล้ว ได้มีการขายเครือข่ายในพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกชุมชนทุกหมู่บ้านให้มีส่วนร่วม ในการรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนตัวเอง เพราะเมื่อชุมชนตัวเองเข้มแข็งแล้วภาพรวมก็จะเข้มแข็งตามมา โดยทางศูนย์ฯ จะสนับสนุนให้แต่ละเครือข่ายคิดกิจกรรมเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยตัวเอง เพราะคนในพื้นที่ย่อมเข้าใจและมองเห็นปัญหาได้ดีกว่าคนอื่น หลังจากนั้นทางศูนย์ฯ จะเป็นเพียงผู้ให้การสนับสนุนหรือผู้ให้แนะนำรวมถึงงบประมาณด้วย ศูนย์ฯ จึงเปรียบเป็นต้นแบบด้านวิชาการหรือส่วนสนับสนุน โดยมีแกนหลักคือชุมชนเอง

 

          ก่อนหน้านี้ป่าต้นน้ำหลักที่ใช้หล่อเลี้ยงคนทั้ง อ.ปะทิว มีพื้นที่กว่า 500 ไร่ แต่หลังจากที่รัฐได้ส่งเสริมการปลูกปาล์มทำให้คนกันมาปลูกกันมาขึ้น เพราะช่วงนั้นราคาดีคนจึงสนใจกันมากและต้องการเพิ่มพื้นที่ปลูกให้มากขึ้น เพื่อให้ได้เงินมากขึ้น จึงได้มีการบุกรุกป่าสาธารณะ ยึดครองเป็นของตัวเองโดยไม่สนใจว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรตามมา จากป่า 500 ไร่ เหลืออยู่ไม่ถึง 300 ไร่ ทางศูนย์ฯ ไม่สามารถปล่อยให้มีการบุกรุกอีกได้ เพราะหากเป็นแบบนี้ป่าก็จะไม่เหลือจึงได้ประสานกับทางหน่วยงานราชการเพื่อ หยุดยั้งการบุกรุกป่าให้ได้

 

          “อย่างไรก็ตามหลังจัดการกับปัญหาการบุกรุกผืนป่าได้แล้ว ก็ต้องต่อสู้กับปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้น ปัญหาที่ว่าคือ การใช้สารเคมีทางการเกษตร ทั้งนี้ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักจึงมีการใช้สารเคมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากหากมีการใช้สารเคมีในพื้นที่ต้นน้ำ เพราะเมื่อเกิดฝนตกแล้วน้ำฝนก็จะชะล้างสารเคมีจากพื้นดินไหลลงมาสู่ลำน้ำ ทำให้ระบบนิเวศน์ทางน้ำสูญเสียทั้งระบบตั้งต้นน้ำถึงปลายน้ำ คนที่อยู่กลางน้ำและท้ายน้ำต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ประสานให้กลุ่มเครือข่ายแต่ละพื้นที่ทำการรณรงค์ส่งเสริมการทำเกษตรเชิง นิเวศน์ ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างจริงจัง” ชิดสุภางค์ กล่าว

 

          ความสำเร็จของการร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของชาว อ.ปะทิว ในการหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยงานหนึ่งร่วมที่ให้การสนับสนุน คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยปี 2551 สสส. ได้ให้การสนับสนุนโครงการ “ชุมชน-โรงเรียนร่วมใจรักษาป่าต้นน้ำ อ.ปะทิว จ.ชุมพร” โดยมีเป้าหมายเพื่อให้กลุ่มอนุรักษ์ซึ่งเป็นเครือข่ายของศูนย์สิ่งแวดล้อม ศึกษาจังหวัดชุมพร ตามพื้นที่ต่างๆ เช่น กลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำน้ำตกทุ่งยอ กลุ่มอนุรักษ์ป่าพรุตาอ้าย กลุ่มอนุรักษ์ป่าพรุเขาดินสอ บ้านคอกม้า ได้รณรงค์และดำเนินกิจกรรมเพื่อปกป้องฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกิดการบูรณาการและการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน ภาครัฐและเอกชน อันส่งผลให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

 

update 28-09-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code