‘ศูนย์ซอย7’ จ.ระนอง โอกาสการศึกษาเด็กข้ามชาติ

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


'ศูนย์ซอย7' จ.ระนอง โอกาสการศึกษาเด็กข้ามชาติ thaihealth


ประเทศไทยนั้นได้ให้สัตยาบันใน อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ตามกรอบสิทธิมนุษยชนของ องค์การสหประชาชาติ (UN) เมื่อปี 2535 ซึ่งสาระสำคัญของอนุสัญญาฉบับนี้คือ รัฐชาติต่างๆ จะต้องรับประกันคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กๆ ในประเทศของตน และ "โดยไม่แบ่งแยก" ไม่ว่าเด็กนั้นจะเป็นพลเมืองของประเทศตนหรือไม่ก็ตาม


ขณะเดียวกัน…เศรษฐกิจประเทศไทยนั้นไม่น้อยเลยที่ขับเคลื่อนด้วยแรงงานข้ามชาติดังรายงาน สถิติแรงงานข้ามชาติ จัดทำโดย สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เผยแพร่เมื่อเดือน ก.ย. 2559 ระบุว่า ในปี 2558 มีแรงงานข้ามชาติอยู่ในไทยทั้งหมด 1,445,575 คน ในจำนวนนี้มาจากเพื่อนบ้านทางตะวันตกอย่าง เมียนมา (พม่า) มากที่สุด แน่นอนว่าแรงงานเหล่านี้ไม่ได้มาเพียงลำพัง แต่มากันทั้งครอบครัว และหลายรายมีลูก ซึ่งไทยก็มีหน้าที่ตามอนุสัญญาสิทธิเด็กที่จะต้องดูแลลูกหลานแรงงานเหล่านี้ด้วย


"แนวหน้าวาไรตี้" มีโอกาสติดตามคณะของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) ลงพื้นที่ ระนอง จังหวัดที่มีอาณาเขตติดกับเมียนมา จึงมีแรงงานข้ามมาทำงานอยู่พอสมควร ที่นี่เราพบกับ น.ส.ลัดดาวัลย์ หลักแก้ว ผู้จัดการโครงการมูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท (มยช.)ในฐานะผู้ดูแล ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตชายแดนไทย-พม่า หรือที่เรียกกันติดปากของคนในพื้นที่ว่า "ศูนย์ซอย 7" เป็น 1 ใน 13 ศูนย์แบบเดียวกัน ที่ตั้งขึ้นทั่ว จ.ระนอง


'ศูนย์ซอย7' จ.ระนอง โอกาสการศึกษาเด็กข้ามชาติ thaihealth


น.ส.ลัดดาวัลย์ เล่าว่า ศูนย์แห่งนี้เปิดสอนลูกหลานแรงงานชาวเมียนมาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันมีนักเรียน 145 คน มีครูทั้งชาวไทยและชาวเมียนมา หมุนเวียนเข้าสอนรวม 7 คน โดยมีจุดเด่นการเรียนการสอน คือ นักเรียนได้เรียนรู้ถึง 3 ภาษา "ไทย-เมียนมา-อังกฤษ" โดยใช้หลักสูตรของประเทศเมียนมา เสียค่าใช้จ่ายเพียงเดือนละ 150 บาท ได้รับการสนับสนุนตำราเรียนจากกระทรวงศึกษาธิการของเมียนมา


"การศึกษาไม่เพียงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของลูกหลานแรงงานข้ามชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมีทักษะที่ดีขึ้นและรวมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้สำเร็จ และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือเด็กข้ามชาติเป็นเหยื่อที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดในขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาร้ายแรงในประเทศไทย การศึกษาจะเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยคุ้มครองเด็กเหล่านี้ได้" เธอกล่าว


ผจก.โครงการ มยช. กล่าวต่อไปว่า ถึงกระนั้น ก็ยังมีเด็กอีกหลายคนที่ไม่ได้เรียนจนจบชั้นเรียน เนื่องจากฐานะทางครอบครัวที่ไม่แน่นอน ทำให้ลูกหลานแรงงานข้ามชาติต้องออกจากที่เรียนเพื่อมาช่วยพ่อแม่ทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย รวมถึงอีกสาเหตุสำคัญอย่างแรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งไม่มี "เลขประจำตัว 13 หลัก" ไม่ว่าจะเป็นบัตรประเภทไหนก็ตาม ทำให้เด็กๆ ที่เกิดมาไม่มีเลขประจำตัวไปด้วยถึงแม้ว่าจะเกิดในประเทศไทยก็ตาม ส่งผลให้บุตรหลานแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ไม่ได้เข้ารับการศึกษา และขาดโอกาสในการรับบริการด้านสาธารณสุขอีกด้วย


'ศูนย์ซอย7' จ.ระนอง โอกาสการศึกษาเด็กข้ามชาติ thaihealth


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ มยช. และเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ พยายามทำ คือ ศักยภาพการให้ความรู้ และช่วยเหลือให้ลูกหลานแรงงานข้ามชาติได้รับการดูแลพัฒนาตามวัย โดยประสานความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการประเทศเมียนมา ให้นักเรียนสามารถเข้าสอบวัดผลเพื่อรับวุฒิการศึกษาที่รับรองโดยกระทรวงศึกษาธิการของเมียนมา เพื่อเป็นทางเลือกให้เด็กสามารถกลับเข้าศึกษาต่อ หรือกลับไปประกอบอาชีพยังบ้านเกิดด้วยความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในอนาคต


"ปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้และโรงเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่เปิดรับนักเรียนข้ามชาติได้พยายามจัดหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของแรงงาน โดยสอนทั้งภาษาไทยและภาษาประเทศต้นทางของแรงงานข้ามชาติ เพื่อเพิ่มสัดส่วนนักเรียนข้ามชาติให้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันยังต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลการศึกษาโดยเชื่อว่าการศึกษา จะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย" น.ส.ลัดดาวัลย์ กล่าวย้ำ


เสียงสะท้อนจากเยาวชน เด็กหญิงมัสสา (นามสมมติ) ปัจจุบันอายุ 6 ขวบ เป็น 1 ใน ลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่ได้เรียน เล่าว่า ตนเกิดในประเทศไทยเพราะพ่อแม่ทำงานในไทยมา 8 ปีแล้ว มีความฝันว่าอยากเรียนสูงๆ เพื่อที่โตไปจะได้ทำงานที่ดีมีความมั่นคง จะได้แบ่งเบาภาระพ่อแม่ของตน ไม่ให้ต้องลำบาก ไม่ต้องทำงานหนักอย่างที่เป็นอยู่ อีกทั้ง ตอนนี้ก็ยังมีความสุขกับการเรียนที่ศูนย์แห่งนี้ด้วย


"การเรียนที่นี่ได้เรียนเหมือนคนอื่นทั่วไป ไม่มีแบ่งแยกว่าใครมาจากไหน ครูก็ใจดีเวลาไม่เข้าใจตรงไหนก็อธิบายให้ฟัง บางวันพ่อกับแม่ทำงานจนค่ำครูก็จะพาไปส่งที่บ้าน" หนูน้อยรายนี้ ระบุ


'ศูนย์ซอย7' จ.ระนอง โอกาสการศึกษาเด็กข้ามชาติ thaihealth


ด้าน นางภรณี ภู่ประเสริฐ รักษาการผู้อำนวยการสำนักประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันลูกหลานแรงงานข้ามชาติในจังหวัดระนองได้รับการศึกษาใน 3 รูปแบบหลัก คือ 1.การศึกษาในระบบโรงเรียน อยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวนรวม 2,238 คน 2.การศึกษานอกระบบ (กศน.) ในระดับประถมศึกษาจำนวน 197 คน ซึ่งจัดการศึกษาร่วมกับภาคีเครือข่ายศูนย์การเรียนจำนวน 5 แห่ง และ 3.การศึกษาในรูปแบบศูนย์การเรียน จำนวนทั้งหมด 13 ศูนย์การเรียน จำนวน 2,462 คน


ทั้งนี้ ในปัจจุบันได้มีความพยายามหารือเพื่อสร้างความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างเขตพื้นที่การศึกษาของประเทศไทยและประเทศเมียนมา เพื่อหาแนวทางเชื่อมโยงการศึกษาระหว่างกัน นอกจากนี้ยังมีข้อห่วงใยอีกประการหนึ่ง การจัดการศึกษาในศูนย์การเรียนรู้ยังทำได้อย่างจำกัด เนื่องจากไม่ได้รับการรับรองหลักสูตรในประเทศไทย จึงไม่สามารถออกหลักฐานทางการศึกษาให้กับเด็กได้


"รัฐบาลควรให้การสนับสนุนการศึกษา ลูกหลานแรงงานข้ามชาติอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในระดับการปฏิบัติ" รักษาการผู้อำนวยการสำนักประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ฝากทิ้งท้าย


นับตั้งแต่ วันที่ 5 ก.ค. 2548 ที่รัฐบาลไทยมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเกี่ยวกับการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งในส่วนของการศึกษาภาคบังคับก็มีการส่งเสริมมาตามลำดับ จาก 9 ปี เป็น 12 ปี และเป็น 15 ปี เช่นเดียวกับเด็กไทยทุกประการ หากแต่ข้อจำกัดคือ แรงงานข้ามชาติมีรายได้ไม่มาก ทำให้หลายคนไม่กล้าส่งบุตรหลานไปเรียน


ขณะที่การจัดการศึกษาในศูนย์การเรียนก็ยังไม่ได้รับการรับรองจากทางการไทย จึงไม่สามารถออกเอกสารวุฒิการศึกษาได้แบบเด็กที่เรียนในระบบโรงเรียน นี่จึงเป็นเรื่องที่ทั้งไทยและเมียนมา ในฐานะที่ต่างก็ให้สัตยาบันยอมรับในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ต้อง "ร่วมมือ" แก้ไขเพิ่มเติมจุดที่ยังขาดหาย เพื่อไม่ให้มีเด็กๆ คนใดต้อง "ตกสำรวจ" ขาดโอกาสทางการศึกษาอีก

Shares:
QR Code :
QR Code