ศูนย์คนรุ่นใหม่ ช่วยน้ำท่วม บทเรียนดีๆ ของ ‘คนทำค่าย’
จากเด็กทำค่ายถึงการเป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟืองบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุอุทกภัย เริ่มจากการประสานงานไปยังเครือข่ายเด็กค่ายอาสาฯ และภาคีในแต่ละภูมิภาค จนเกิดการร่วมมือจากเพื่อนในพื้นที่ต่างๆ แล้วจัดตั้งศูนย์รวบรวมสิ่งของและเงินบริจาคขึ้น
“สถานการณ์หนักกว่าทุกครั้ง และเราทำอะไรได้มากกว่าอยู่เฉย” เป็นทั้งที่มาและจุดยืน ซึ่ง “ตั้ม” ธนภัทร แสงหิรัญ และเพื่อนร่วมกิจกรรมค่ายอาสาฯ เลือกวางบนห้วงวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่
น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ทำให้เยาวชนร่วม “โครงการค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพ” อย่างพวกเขา ที่ครั้งหนึ่งเคยขับเคลื่อน เน้นความสำคัญกับประเด็นการสร้างสุขภาวะ สิ่งแวดล้อม และความแข็งแรงของพลังชุมชน ต้องเตรียมตัวพัฒนา จัดระบบ รับมือสถานการณ์เฉพาะหน้าเป็นการด่วน ทั้งนี้เพื่อให้ทันต่อความแปรปรวนของปัญหา ผนวกมองไกลถึงการสร้างกระบวนการร่วมกำหนดแผนฟื้นฟูระยะยาว
จากเด็กทำค่ายถึงการเป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟืองบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุอุทกภัย “ตั้ม” บอกที่มาว่า เมื่อหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จึงมีการพูดคุยกับเยาวชนในเครือข่ายกิจกรรมค่ายอาสาฯ เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในรูปแบบต่างๆ
ซึ่งไอเดียนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิโกมลคีมทอง มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ และภาคีอื่นๆ จนเป็นโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ภายใต้ชื่อ “ศูนย์คนรุ่นใหม่ใจอาสา เพื่อผู้ประสบภัย”
“ส่วนกระบวนการทำงานนั้นเริ่มจากการประสานงานไปยังเครือข่ายเด็กค่ายอาสาฯ และภาคีในแต่ละภูมิภาค เพื่อจัดตั้งศูนย์รวบรวมสิ่งของและเงินบริจาค ผ่านการบอกเล่าจากเครือข่ายโซเชียลมีเดียที่บรรดาเด็กกิจกรรมต่างเชื่อมโยงกันอยู่ก่อนแล้ว และเมื่อไอเดียนี้เผยแพร่ไป ทำให้เกิดการร่วมมือจากเพื่อนในพื้นที่ต่างๆ จนเกิดการก่อตั้งศูนย์รับบริจาคขึ้น ได้แก่ ศูนย์หาดใหญ่ โคราช เชียงใหม่ สมุทรสงคราม ศูนย์นครปฐม”
รวมไปถึงการรับมือความมั่นคงด้านปากท้อง ผ่านการตั้งโรงครัวชุมชน ที่มีการจัดระบบดูแลกันเองใน 2 พื้นที่ใหญ่ๆ คือ ที่จังหวัดปทุมธานีและจังหวัดนนทบุรี ด้วยเงื่อนไขชุมชนต้องจัดระบบการทำงาน แบ่งเวรดูแล โรงครัว และดูแลคนในพื้นที่อย่างทั่วถึง
“เราดูจากความศักยภาพชุมชน ประเมินจากต้นทุนที่ชุมชนนั้นมี อาทิ ในพิกัดที่น้ำท่วมอยู่นั้น มีสถานที่ตรงไหนที่เหมาะสมกับการตั้งโรงครัวบ้าง มีความพร้อมเครือข่ายชาวบ้าน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่อย่างไร มีแนวทางการช่วยเหลืออย่างไรบ้างแล้ว ก่อนจะร่วมกันจัดตั้งโรงครัวชุมชนขึ้น โดยสมาชิกชุมชนทุกคนจะรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งการประสานหาวัตถุดิบ การปรุง การจัดการจนกว่าสถานการณ์จะเป็นปกติ”
“แต้ว” มิญชยา แก้วกันหา นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ที่เคยเข้ากิจกรรมค่ายอาสาฯ และเป็นอีกตัวตั้งตัวตีของศูนย์รับบริจาคที่เชียงใหม่ บอกว่า ติดตามข่าวสารน้ำท่วมครั้งนี้เป็นประจำอยู่แล้ว และเมื่อทราบข่าวว่าทางเครือข่ายค่ายอาสาฯ มีแนวทางช่วยผู้ประสบภัยภาคกลางจึงติดต่อไปทันที
“เราประชาสัมพันธ์กันทางเฟซบุ๊ค ผ่านปากต่อปาก บอกกันไปเรื่อยๆ และมันก็ประจวบกับที่ก่อนหน้านี้ไม่นาน จ.เชียงใหม่เองก็น้ำท่วม ดังนั้นทุกคนที่นี่เข้าใจสถานการณ์หมด รู้ว่าอยู่เฉยไม่ได้แล้วต้องช่วยกัน ก็เกิดการบริจาคกันตามกำลัง มีทั้งอาหาร เงินสนับสนุน น้ำดื่ม จากนั้นเราก็ประสานหายานพาหนะ ดูว่ามีใครกำลังจะเดินทางจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ หรือจังหวัดที่มีเพื่อนเราอยู่บ้าง ก็ลำเลียงของไปทางนั้น”
ขณะที่ “เอ็ม” วีราพัชร์ เพิ่มพูนศุภฤกษ์ มัคคุเทศก์หนุ่ม จังหวัดปทุมธานี นั้นก็เหมือนกับเยาวชนจิตอาสารายอื่นๆ ที่เห็นว่าช่วงเวลาเช่นนี้พฤติกรรมสำคัญกว่าคำวิจารณ์ โดยเขาบอกว่าแม้จะไม่เคยร่วมโครงการค่ายอาสาฯ แต่เมื่อเห็นด้วยกับวิธีการให้ความช่วยเหลือแบบให้ชุมชนร่วมรับผิดชอบเช่นนี้ เขาจึงผลักตัวเองเป็นแนวร่วมอย่างเต็มที่
“การช่วยเหลือมันต้องไม่จบเพียงการให้แล้วจบเท่านั้นครับ แต่ต้องมองไปถึงการให้เขาพึ่งพิงตัวเองได้ อย่างที่บางพูน จ.ปทุมธานี ที่เราไปทำโรงครัวกัน เราร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่นั่น มีเงินบริจาคก้อนแรกมาตั้งระบบ จากนั้นคนในชุมชนก็บริหารเอง มีการประสานเอาวัตถุดิบมาผลิต ติดต่อเรื่องการขนส่ง จัดเวรกันทำครัว นี่คือวิธีการเพื่อใช้ชีวิตอยู่กับสถานการณ์เฉพาะ กระบวนการนี้ค่อนข้างชัดและผมเองก็เห็นด้วย จึงมาร่วมกับศูนย์ฯ ด้วย”
นอกจากนี้ แนวคิดแบบค่ายอาสาฯ ยังมองไปถึงการฟื้นฟู-เยียวยาชุมชนภายหลังน้ำลด โดยเฉพาะการซ่อมแซมปรับปรุงสถานที่ “ร่วม” ระหว่างคนในชุมชน อันสามารถใช้เป็นที่พักพิง กระทั่งพัฒนาไปสู่ที่หลบภัยพิบัติได้ในอนาคต อาทิ โรงเรียน วัด ที่ทำการส่วนราชการซึ่งจากนี้ไปจำเป็นต้องออกแบบเพื่อรองรับสิ่งที่ไม่คาดคิดทางธรรมชาติเช่นนี้ด้วย
“เช่นเดียวกับเรื่องการฟื้นฟูความมั่นคงทางอาหาร ขณะนี้พวกเราได้คุยกันถึงการเตรียมพันธุ์ข้าวไว้ปลูกหาก สถานการณ์ดีขึ้นก่อนเพาะปลูก เมื่ออุทกภัยพัดพาผลผลิตและพันธุ์พืชเสียหาย เราจะเอาโอกาสนี้เผยแพร่พันธุ์ข้าวชุมชน พืชผักสวนครัวที่มีในชุมชน เพื่อให้สมาชิกเครือข่ายหันมาปลูกพืชพื้นถิ่น และเน้นตอบสนองความต้องการตัวเองมากกว่าเชิงพาณิชย์เพียงอย่างเดียว”
ตั้มบอกข้อสรุปคร่าวๆ ที่เขาและเพื่อนร่วมกันคิดตลอดกว่า 2 เดือนที่คลุกกับสถานการณ์น้ำ พร้อมๆ กับออกตัวว่ากับบางเรื่องพวกเขาเป็นเพียงมือใหม่ ซึ่งแม้จะไตร่ตรองครบถ้วนแล้ว แต่ก็ไม่แน่ว่าอาจจะเกิดความผิดพลาด
นั่นเพื่อหวังให้การเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเช่นนี้เป็นบทเรียน พอกพูนเป็นประสบการณ์ชีวิต โดยมีจิตอาสาและมิตรภาพเป็นใบเบิกทาง
เหมือนครั้งหนึ่งที่การทำค่ายฯ เคยบอกกับพวกเขาว่ากับปัญหาตรงหน้านั้น เราทำได้ดีกว่านั่งอยู่เฉยๆ เป็นแน่แท้
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง