ศิลปะปลอดควัน พลังเยาวชนไทยต้านภัยบุหรี่ไฟฟ้า

เรื่องโดย ภินันท์ชญา สมคำ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก งาน Design Hero 2024 : OK (E) CIGARETTES ? Wake Up and Understand the Hazards of Vaping and E-Cigarettes ภายใต้โครงการรู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันสุขภาวะ

ภาพโดย ภินันท์ชญา สมคำ Team Co ntent www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                      บุหรี่ไฟฟ้า กำลังกลายเป็นกระแสที่สังคมคนรุ่นใหม่ ในยุคที่ข้อมูลหลั่งไหลอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะวัยรุ่นกำลังหลงเดินเข้าไปหาเพื่อเสพ  เรากลับพบว่า อันตรายมากมายที่แฝงอยู่กลับถูกมองข้าม ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อสุขภาพหรืออิทธิพลที่มีต่อพฤติกรรมของเยาวชน  

                      แต่ ในยุคที่ข้อมูลหลั่งไหลอย่างรวดเร็ว “การรณรงค์แบบเดิม” อาจไม่เพียงพออีกต่อไป” ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายในห้องเรียนอาจไม่น่าสนใจ  การใช้กฎหมายควบคุมอย่างเดียวอาจไม่เปลี่ยนพฤติกรรม  หรือการเตือนด้วยคำพูดตรง ๆ อาจถูกมองข้าม  ดังนั้นการใช้ศิลปะเป็นสื่อกลาง! อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งก็ได้

                      จึงเป็นที่มาของการเปิดตัวนิทรรศการ ลด ละ เลิก บุหรี่ไฟฟ้า  ภายใต้โครงการ Design Hero 2024: OK (E) CIGARETTES? โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผนึกกำลัง กับ นิตยสาร อาร์ตโฟร์ดี (Art4D) ชวนน้อง ๆ เยาวชน 15 ทีมจากทั่วประเทศ ได้นำเสนอแนวคิดรณรงค์ผ่านศิลปะ กราฟิกดีไซน์ อาร์ตทอย และคลิปวิดีโอ ถ่ายทอดเรื่องราวอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าผ่านสายตาของคนรุ่นใหม่ เปลี่ยนสารให้กลายเป็นศิลป์ ส่งต่อพลังให้เข้าถึงหัวใจคนรุ่นเดียวกันได้อย่างลึกซึ้งและทรงพลัง เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 พิพิธบางลำพู กรุงเทพฯ

                      เท่ากับเป็นการตอกย้ำข้อมูลของ กระทรวงสาธารณสุข ในปีที่ผ่านมา ยังพบว่ามีผู้ป่วยเยาวชนที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรงจากบุหรี่ไฟฟ้ากว่า 100 ราย สะท้อนให้เห็นว่า…เยาวชนไทยจำนวนมากกำลังตกอยู่ในกับดักของบุหรี่ไฟฟ้าโดยไม่รู้ตัว ที่ว่า “บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่ทางเลือกที่ปลอดภัย มัน คือ ระเบิดเวลาทางสุขภาพที่พร้อมทำลายอนาคตของเยาวชน

                       “บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่อันตรายต่อสุขภาพเยาวชน มีสารเคมีที่เป็นพิษ ทำลายสมอง ทำให้เสพติดได้ง่ายและเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กหันไปใช้ยาสูบชนิดอื่น ” สสส. จึงสานพลังภาคีเครือข่ายเพื่อพัฒนา นักสื่อสารสุขภาวะ ให้มีทักษะเท่าทันสื่อ และร่วมสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า”  นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าว

                      โครงการ Design Hero 2024 ไม่ได้เป็นเพียงเวทีสำหรับเยาวชนในการแสดงความสามารถทางศิลปะ แต่ยังเป็นพื้นที่แห่งการบ่มเพาะความคิด โดยได้รับการหล่อหลอมจากนักออกแบบและศิลปินแถวหน้าของไทย เช่น Q DESIGN & PLAY ผู้เชี่ยวชาญด้านกราฟิกดีไซน์  WISHULADA ศิลปินที่เปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ให้กลายเป็นงานศิลปะ TOYLAXY ผู้ผลิตอาร์ตทอยอันดับหนึ่งของไทย และ สมชาติ ศรีมารัตน์ หรือ บิ๊กกี้ แครี่ ฟลูเอนเซอร์ ชื่อดัง

                      พวกเขาไม่ได้เป็นเพียงผู้สนับสนุน แต่ทำหน้าที่เป็นเมนเทอร์  ถ่ายทอดประสบการณ์ เปิดมุมมองใหม่ ๆ และช่วยขัดเกลาความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนให้สามารถเปลี่ยนพลังแห่งศิลปะให้กลายเป็นสื่อรณรงค์ที่เข้าถึงหัวใจผู้คนได้อย่างแท้จริง ทุกคำแนะนำทุกแรงบันดาลใจที่ส่งต่อ ล้วนช่วยเติมเต็มศักยภาพของเยาวชนให้พวกเขากลายเป็นนักสื่อสารสุขภาวะที่แข็งแกร่งพร้อมที่จะเป็นกระบอกเสียงในการเปลี่ยนแปลงสังคม

                      ผลงานของเยาวชนทั้ง 15 ทีม ที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ ไม่ใช่แค่การสร้างสรรค์งานศิลปะ แต่เป็นแบบอย่างของสื่อสร้างสรรค์ที่สามารถขยายผลไปสู่โรงเรียนและชุมชนเพื่อส่งต่อความรู้และสร้างความตระหนักรู้เรื่องภัยของบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญพวกเขากำลังช่วยให้สังคมตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าได้แบบเข้าใจง่ายและเข้าถึงใจคนจริง ๆ

                      ว่าไปแล้ว ในยุคดิจิทัล ดนตรีและวิดีโอเพลง ยังเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในการเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติของเยาวชน เพราะ…ดนตรีเข้าถึงอารมณ์และจิตใจคนได้เร็วกว่าโฆษณาทั่วไป เพลงติดหูสามารถทำให้สารรณรงค์เป็นที่จดจำได้ง่าย วิดีโอเพลงสามารถสื่อสารเรื่องราวผ่านภาพและเนื้อเพลงได้อย่างลึกซึ้ง

                      หนึ่งในผลงานที่โดดเด่นที่สุดในงาน คือ ของทีม JT นำโดย นายพีรกานต์ อุทัยเลิศ นักศึกษามหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่คว้ารางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยการผลิตสื่อรณรงค์ผ่านคลิปวิดีโอเพลงแรป ชื่อศิลปินปลอดควัน เนื้อหาเพลงกระตุ้นให้เยาวชนตระหนักถึงพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าในสไตล์ที่เข้าถึงง่าย สนุกและเป็นที่จดจำ

 

                      นอกยังมีรางวัลพิเศษที่มอบให้กับเยาวชนที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือในการรณรงค์ ได้แก่

                      รางวัล The Best of Art Toy Design สำหรับทีมที่ออกแบบอาร์ตทอยสื่อสารผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้า  รางวัล The Best of T-Shirt Design สำหรับทีมที่ใช้เสื้อยืดเป็นสื่อรณรงค์

                      รางวัล The Best of Video Content  สำหรับทีมที่ถ่ายทอดสารได้ทรงพลังผ่านวิดีโอ และ

                      รางวัล The Best of Art Project สำหรับทีมที่ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสร้างความตระหนักรู้ในสังคม

                      นายชญานิน อ่อนมา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ TOYLAXY กล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจว่า ปัจจุบัน บุหรี่ไฟฟ้าถูกออกแบบให้เป็นเหมือนอาร์ตทอย ดูเท่ น่าใช้ แต่เบื้องหลังคือสารเคมีอันตราย หากเยาวชนไม่รู้เท่าทัน ก็อาจตกเป็นเหยื่อของมันได้        ดังนั้น การนำศิลปะมาผสมผสานกับการรณรงค์จึงเป็นทางเลือกที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ดีที่สุด

                      สังคมไทยต้องช่วยกัน ขยายผลสื่อรณรงค์สู่โรงเรียนทั่วประเทศ ผลงานที่ได้รับรางวัลจาก Design Hero 2024 จะถูกนำไปใช้นำร่องในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศ เพื่อเป็นสื่อรณรงค์เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ที่สนใจรับชมผลงานทั้งหมด สามารถติดตามได้ที่ www.artculture4health.com

                      นิทรรศการครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงพลังของเยาวชนไทยในการลุกขึ้นมาสร้างสรรค์สื่อที่ไม่เพียงแต่สวยงาม แต่ยังช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น หากเราร่วมมือกัน เด็กและเยาวชนไทยจะสามารถเติบโตในสังคมที่ปลอดภัยและปราศจากพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างแน่นอน อย่าปล่อยให้บุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นเรื่องปกติในสังคมของเรา

                      สสส.ไม่ได้ต้องการแค่ให้คน “รู้” เพียงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า แต่ต้องการให้เรา “รู้สึก” ว่าการลด ละ เลิก ไม่เข้าไปข้องแวะบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องสำคัญ  ศิลปะและดนตรีไม่ใช่เป็นแค่เครื่องมือสื่อสาร แต่มันเป็นพลังที่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมและอารมณ์ที่เสทือนใจในการสร้างสังคมที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน!”

Shares:
QR Code :
QR Code