“ศิลปวัฒนธรรม” มิติใหม่ สู่ท้องถิ่นเพาะสุขภาวะเยาวชน
กระบวนการสร้างศิลปวัฒนธรรม มิติใหม่ที่นำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันและการสร้างสุขภาวะของประชาชนในระยะยาว ทั้งในมิติกาย มิติใจ มิติสังคม มิติปัญญา
“ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานคุ้มครองประเทศ เมื่อชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศก็มีความมั่นคง” ความตอนหนึ่งที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี เคยบอกไว้บนเวทีผู้นำชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ครั้งที่ 6 ซึ่งความเชื่อนี้อาจเรียกเป็น “สิทธิชุมชนนิยม” หรือจะเรียกว่า “ชุมชนาธิปไตย” ก็ได้ เพราะเป็นความเชื่อที่เกิดมายาวนานหลายสิบปีแล้ว ไม่ใช่แค่เพียงเกิดปีหรือสองปี และที่ผ่านมาจะเห็นว่าการพัฒนาที่ทำจากข้างบน หรือสร้างพระเจดีย์จากยอด ในทางปฏิบัติแล้วเป็นไปได้
เพราะสุดท้ายพระเจดีย์ก็ไม่สามารถตั้งอยู่ได้ วันหนึ่งก็ล้มคว่ำลงไป เพราะฉะนั้นต้องกลับมาพิจารณาอีกครั้งว่า ทำฐานรากให้มีความมั่นคงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อประเทศชาติสามารถพัฒนาต่อไปได้
“กระบวนการศิลปวัฒนธรรม” ถือว่าเป็นกระบวนการและเครื่องมือหนึ่งสร้างเสริมสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ในการมีส่วนร่วมของประชาชนจากฐานรากอย่างเป็นรูปธรรมและกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างแนบแน่นและแนบเนียน
เนื่องจากคำนึงจากบริบทวิถีชีวิตในมิติวัฒนธรรมของชาวบ้าน กระบวนการเหล่านี้เน้นการพัฒนาจากฐานล่าง โดยมีกลไกที่สร้างการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชน ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้นำท้องถิ่น มุ่งเน้นเป้าหมายในเชิงการพัฒนาจิตปัญญา ไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันและการสร้างสุขภาวะของประชาชนในระยะยาว ทั้งในมิติกาย มิติใจ มิติสังคม มิติปัญญา
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า ที่ผ่านมา สสส.สนับสนุนและส่งเสริมการสร้างสรรค์งานด้านศิลปวัฒนธรรมในมิติของการสร้างเสริมสุขภาพผ่านโครงการต่างๆ ทั่วประเทศมานานหลายปีแล้ว และมี “ต้นแบบ” ที่ดีงามและสร้างการเปลี่ยนแปลงสุขภาวะ ทั้งในระดับบุคคล ชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนเกิดโมเดล องค์ความรู้และนโยบายต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมากมายไม่ทับซ้อนกับภาครัฐ เห็นได้จากหลายๆ โครงการที่ได้มีการสนับสนุนไปได้จุดประกายให้เกิดเครือข่ายเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่หันกลับมาทำงานเพื่อชุมชนอย่างต่อเนื่อง พิสูจน์ได้จากความเห็นของเยาวชนที่ออกมาเปิดใจหลังจากนี้
น้องมิ้ม นางสาวกัญญาวีร์ อ่อนสลุง ตัวแทนเยาวชนชุมชนบ้านโคกสลุง อำภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี บอกว่า เป็นเยาวชนคนหนึ่งในชุมชนที่ได้ใช้วัฒนธรรมไทยเบิ้ง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสิ่งทอ พัฒนางานศิลปะเพื่อเป็นรายได้แก่ชุมชน กระเป๋าลายเฉพาะของไทยเบิ้ง เสื้อผ้าไทยเบิ้ง เสื้อยืดไทยเบิ้ง ของที่ระลึกชุมชนไทยเบิ้ง การจักสาน อาหาร และอื่นๆ มาเป็นตัวขับเคลื่อนสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับคนในชุมชน อันทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากกำลังดำเนินไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
“โมเดลที่ทางชุมชนร่วมกันทำขึ้นมานั้นได้แบ่งหน้าที่คนในชุมชนออกมา ดังนี้ กลุ่มเด็ก เยาวชน เป็นกลุ่มที่ต้องเรียนรู้เรื่องของภูมิปัญญาและนำไปพัฒนาตัวเอง พัฒนาทักษะการเรียนรู้ ผ่านเรื่องราวของวัฒนธรรมที่ไม่มีสอนในโรงเรียน เป็นการเพิ่มพูนเรื่องของภาวะการเป็นผู้นำไปในตัว” ตัวแทนเยาวชนชุมชนบ้านโคกสลุงกล่าวไว้
ด้าน น้องรุ่ง นายรุ่งสุริยา บุญสิงห์ ตัวแทนเยาวชนจากคณะหมอลำหุ่นเด็กเทวดา ต.หนองโนนใต้ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม บอกว่า เป็นเยาวชนที่เติบโตมาในพื้นที่ถึงได้เห็นและเรียนรู้วัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาตั้งแต่เด็ก โดยวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่โดดเด่นของพื้นที่นี้มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งทอหรือเครื่องจักสาน อาทิ กระติ๊บข้าว ผ้าไหมท้องถิ่น หรือแม้แต่การละเล่น โดยเฉพาะหมอลำ ที่มีปราชญ์ชาวบ้านสืบสานเรื่องนี้มาตั้งแต่โบราณ
ผมจึงรวมตัวกับเพื่อนๆ และครูเซียง นายปรีชา การุณ ผู้ฝึกสอนการเล่นหมอลำและดนตรีอีสาน ด้วยการนำทั้งผ้าไหมและกระติ๊บข้าวมาทำเป็นหุ่นรูปแบบต่างๆ ออกแสดงและเผยแพร่ ภายใต้ชื่อว่า “คณะหมอลำหุ่นเด็กเทวดา” ในการแสดงนั้นใช้เนื้อเรื่องและดนตรีแฝงไปด้วยเรื่องราวหลากหลาย เป็นการกระตุ้นเตือนและสื่อสารให้เยาวชนและคนในชุมชนรู้จักรักษ์บ้านเกิด รู้จักนำของดีที่มีอยู่มาสร้างรายได้เข้าชุมชน
“ในอนาคตเราก็จะทำหุ่นจำลองในลักษณะต่างๆ ออกมาขายหรือเป็นของที่ระลึก ที่มีลักษณะเหมือนกับหุ่นที่ใช้แสดงจริง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เห็นถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมที่เรามี เป็นการสร้างรายได้อีกหนึ่งช่องทางที่สามารถทำกันง่ายๆ แต่ผลที่คาดว่าจะได้รับกลับมานั้นจะสามารถใช้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนในชุมชนแบบพึ่งพาตนเองอีกช่องทางหนึ่งได้แน่นอน” ตัวแทนเยาวชนจากคณะหมอลำหุ่นเด็กเทวดาจาก จ.มหาสารคาม กล่าว
ไม่เพียงเท่านี้ ที่บ้านคลองหมาก ตำบลคลองขนาน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ชุมชนที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นคนไทย-มุสลิม มีป่าชายเลนเป็นพื้นที่เศรษฐกิจหลัก คนที่นี่จึงใช้ศิลปวัฒนธรรมชุมชนมาขับเคลื่อนสร้างความสมัครสมานสามัคคี เรียนรู้และอยู่ร่วมกัน จนทำให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อปกป้องเศรษฐกิจหลักเอาไว้
ขณะที่ นายฮาริส มาศชาย เยาวชนผู้เป็นหัวเรือใหญ่ในการรวบรวมเด็กและเยาวชนในพื้นที่มาทำกิจกรรม บอกว่า หัวใจสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นได้นั้นต้องเริ่มที่เด็กและเยาวชน ซึ่งผมและเยาวชนในท้องถิ่นได้ใช้มัสยิดเป็นพื้นที่ศูนย์กลางเพื่อรวมกลุ่มกันสร้างกิจกรรม สร้างคน และสร้างงานให้เกิดขึ้น ด้วยการร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมดำเนินการ นำศิลปวัฒนธรรมที่มีมาสื่อสารผ่านทั้งกระบวนการละครบอกกล่าวเรื่องราว แสดงให้คนในชุมชนได้ดู เพื่อปลุกจิตสำนึกรักบ้านเกิด ใช้งานศิลปะกล่อมเกลา เกิดสมาธิ สติ และความละเอียดอ่อนจากภายใจสู่ภายนอก ทั้งยังแฝงการสื่อสารให้ชุมชนเห็นว่าป่าชายเลนสำคัญอย่างไร
“วิธีการนี้นอกจากจะช่วยทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นยั่งยืน คนในชุมชนรักกันแล้ว ยังสามารถรักษาพื้นที่ป่าชายเลนให้คงอยู่ หลุดพ้นจากมือของผู้บุกรุกป่า ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจกลับคืนมาสู่ชุมชนได้มาจนปัจจุบัน” นายฮาริสกล่าว
ปิดท้ายด้วย น้องยีน นางสาวอริศรา มหาพันธ์ โครงการฮักไทแสก ชุมชนริมโขง ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม หรือเด็กริมโขง เยาวชนผู้หันกลับมาทำกิจกรรมนำศิลปวัฒนธรรมและของดีที่มีอยู่ในชุมชนไปนำเสนอผ่านสื่อสารคดีสั้น เพื่อพื้นฟูเศรษฐกิจของคนในชุมชน แล้วไปเผยแพร่ให้ทั้งคนในชุมชนและคนต่างถิ่นได้เห็นผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ
หลังจากการทำงานดังกล่าว น้องยืนบอกว่า สามารถสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นกับคนในชุมชน และสร้างการยอมรับนำรายได้เข้าสู่ชุมชน เป็นการพื้นฟูเศรษฐกิจที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดเป็นรายได้หลักกลับมายังชุมชนได้ ทั้งยังแสดงพลังให้ผู้ใหญ่หลายๆ คนเห็นว่าเด็กๆ ก็สามารถช่วยให้ชุมชนเข้มแข็งได้
นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้สนับสนุนและขับเคลื่อน ขอบอกสั้นๆ เลยว่า “งานศิลปวัฒนธรรมกับชุมชนท้องถิ่น" ถือได้ว่าเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ภายในกลไกอันสลับซับซ้อนของการปกครองในประเทศไทย แต่ก็เป็นเฟืองตัวเล็กที่มีจำนวนมากที่มีบทบาทมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไม่แพ้เฟืองตัวใหญ่ หากเฟืองตัวเล็กๆ เหล่านี้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ สร้างประสิทธิผลที่ดี ย่อมส่งผลให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้นอย่างแน่นอน.
ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์