ศิริราชผ่าตัดสำเร็จครั้งแรก แขน-ขาบวมน้ำเหลืองอุดตัน

ศิริราชผ่าตัดแขนขาบวมจากทางเดินน้ำเหลืองอุดตันสำเร็จเป็นครั้งแรกของไทย

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่ตึกอำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว “ศิริราชผ่าตัดแขนขาบวมจากทางเดินน้ำเหลืองอุดตันสำเร็จเป็นครั้งแรกของไทย” ว่า ศิริราชมีความภาคภูมิใจที่แพทย์สามารถผ่าตัดรักษาผู้ป่วยภาวะบวมน้ำเหลืองตามร่างกาย เช่น แขน ขา ด้วยวิธีการต่อหลอดน้ำเหลืองเข้าหลอดเลือดดำขนาดเล็กด้วยกล้องจุลทรรศน์สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

นพ.ศิริชัย กำเนิดนักตะ อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาศัลยศาสตร์ แพทย์ผู้ทำการผ่าตัด กล่าวว่า การผ่าตัดต่อหลอดน้ำเหลืองเข้าหลอดเลือดดำด้วยเทคนิคซุปเปอร์ไมโครเซอร์เจอรี (supermicrosurgery) ซึ่งภาควิชาศัลยศาสตร์ได้รับการผ่าตัดสอนแสดงจากแพทย์มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2553ประกอบด้วย กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง 40เท่า ประมาณ 1-2ตัวโดยมีศัลยแพทย์ประจำกล้อง 2คน ต่อ 1ตัวอุปกรณ์เครื่องมือพิเศษขนาดเล็กกว่า 0.8มิลลิเมตร เข็มเย็บขนาดเล็ก 50-80ไมครอนและไหมเย็บขนาดเล็กกว่าเส้นผมเบอร์ 11-0หรือ 12-0โดยการผ่าตัดใช้เวลาประมาณ  4-5ชั่วโมง และนานที่สุด 7-8ชั่วโมง แพทย์จึงให้ผู้ป่วยดมยาสลบแทนการฉีดยาชาเฉพาะที่ ขั้นตอนการผ่าตัดเริ่มด้วยการเปิดแผลกว้างประมาณ 3-4เซนติเมตรจากนั้นต่อทางเดินน้ำเหลืองเข้าหลอดเลือดดำประมาณ 3-4ตำแหน่ง ด้วยอุปกรณ์เครื่องมือพิเศษร่วมกับกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง

น.ส.ยุวนุช รัตตสัมพันธ์ วัย 54ปี ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหลอดน้ำเหลืองเข้าหลอดเลือดดำ กล่าวว่า เมื่อปี 2552แขนขวาเริ่มบวมและบวมขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ผ่าตัดมะเร็งเต้านมเมื่อปี 2551แขนขวาบวมจนไม่สามารถห้อยแขนได้ การจะใช้มือข้างที่ถนัดทำงานอะไรก็ติดขัดไปหมด ซึ่งการรักษาต้องเข้ารับการทำกายภาพบำบัดตลอดเวลาที่มีเวลาว่าง กระทั่งได้รับการแนะนำให้เข้ารับการรักษากับ นพ.ศิริชัยและได้รับการผ่าตัดทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์ ช่วงสุวนิช หัวหน้าสาขาวิชาระบบศัลยศาสตร์ตกแต่ง กล่าวว่า ภาวะบวมน้ำเหลืองเป็นการคั่งค้างสะสมของน้ำเหลืองใต้ผิวหนัง เนื่องจากทางเดินน้ำเหลืองบริเวณที่ใกล้เคียงอุดกั้นหรือถูกทำลายพบได้หลายอวัยวะทั้งแขน ขา อวัยวะเพศเกิดจาก 2สาเหตุใหญ่ คือ พันธุกรรม และการผ่าตัดที่ต้องตัดต่อมน้ำเหลืองออกไป เช่น การผ่าตัดมะเร็ง หรือเนื้องอกบริเวณปากมดลูก เต้านม หรืออัณฑะ ภายหลังได้รับการฉายรังสีรักษาใกล้ขาหนีบรักแร้ ผิวหนังเกิดภาวะติดเชื้อและอักเสบรุนแรงอย่างซ้ำๆการได้รับอุบัติเหตุเป็นแผลลึกๆ และภาวะหลอดเลือดดำขอดหรือตีบตัน การผ่าตัดด้วยวิธีนี้เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 1แสนบาทขึ้นไป แต่ผู้ป่วยในทุกสิทธิการรักษาพยาบาลทั้งประกันสังคม สิทธิสวัสดิการข้าราชการ และสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรักษาได้ฟรี

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

Shares:
QR Code :
QR Code