ศาสนสถานปลอดบุหรี่ทั่วประเทศ

ศาสนสถานปลอดบุหรี่ทั่วประเทศ thaihealth


          โครงการ "ศาสนสถานปลอดบุหรี่ทั่วประเทศ" ดีเดย์วันที่ 13 มกราคม ที่ผ่านมา นำร่องด้วยศาสนสถานชื่อดัง 3 แห่งคือ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เจ้าของรางวัลยูเนสโก ด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ปี 2556 โบสถ์ซางตาครู้ส และมัสยิดบางหลวง (กุฎีขาว) โดยการผลักดันของสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.


          ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ เลขาธิการ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นมีเป้าหมายเพื่อสร้างศาสนสถานปลอดบุหรี่ทั่วประเทศ เพราะบุหรี่ก่อให้เกิดพิษภัยต่อตัวผู้สูบและผู้อื่น ซึ่งกฎหมายเพื่อควบคุมพระพรหมบัณฑิตการบริโภคยาสูบ และมีบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 19 พ.ศ. 2553 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2553 มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2553 โดยประกาศฉบับนี้เป็นการกำหนดให้ศาสนสถานเป็นหนึ่งในสถานที่ห้ามสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด ผู้ฝ่าฝืนจะถูกจับหรือมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาททันที


          ศ.ดร.พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กล่าวว่า ทางวัดพร้อมให้ความร่วมมือกับสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติฯ และมูลนิธิฯ รณรงค์ให้ศาสนสถานทั่วประเทศปลอดบุหรี่ โดยในส่วนของวัดประยุรฯ นอกจากจะให้ความรู้แล้วยังจะร่วมเผยแพร่โครงการนี้แก่วัดอื่นอย่างจริงจังอีกด้วย


          ทั้งนี้เพราะศาสนสถานเป็นสถานที่สาธารณะ ประชาชนจำนวนมากมาประกอบกิจกรรมทางศาสนา ซึ่งเหมาะกับการเป็นสถานที่ส่งเสริมสุขภาพกายใจให้ปลอดจากสิ่งเสพติดทั้งหลาย และพระสงฆ์ก็เป็นผู้นำทางความคิดและเป็นที่นับถือแก่ศาสนิกชน จึงควรปฏิตนเป็นตัวอย่างที่ดี  นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือจากพุทธศาสนิกชนทั้งหลายไม่ควรถวายปัจจัยบุหรี่แก่พระภิกษุสงฆ์อีกด้วย


          บุหรี่เป็นสิ่งเสพติดที่มีผู้เสพติดมากที่สุดของโลก โดยทั่วโลกมีผู้เสพติดบุหรี่ 1,300 ล้านคน  ในแต่ละปีมีชาวโลกเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 5.4 ล้านคน หรือนาทีละ 10 คน  ในแต่ละปีคนไทยเสียชีวิต


          จากการสูบบุหรี่ 50,710 คน วันละ 139 คน โดยอายุเฉลี่ยของคนไทยที่เริ่มเสพติดบุหรี่คือ 18 ปี


          อย่างไรก็ตาม กฎหมายบุหรี่ (พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่) ได้มีการบังคับใช้มากว่ายี่สิบปีแล้ว ในขณะที่บริษัทบุหรี่ได้พัฒนาเทคนิคการตลาดใหม่ ๆ  รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด  ทำให้มีผู้เสพติดบุหรี่รายใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง


          จำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่ในปี พ.ศ. 2556  ลดลงจากปี พ.ศ. 2534  เพียงเล็กน้อย  แต่แนวโน้มอัตราการสูบกลับสูงขึ้นในกลุ่มเยาวชนและสตรี จากสถิติพบว่าเยาวชนไทย 10 คน ที่ติดบุหรี่ 7 คน จะติดไปตลอดชีวิต และใน 3 คนที่เหลือ ต้องสูบบุหรี่เฉลี่ย 20 ปีก่อนที่จะเลิกได้


          สาระสำคัญ กฎ หมายควบคุมยาสูบฉบับ ใหม่เป้าหมายไปอยู่ที่ เยาวชน โดยในกฎหมาย ได้ระบุว่า ห้ามขายผลิต ภัณฑ์ยาสูบแก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี (ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 18 ปี) ซึ่งในประเทศไทยมีเยาวชนที่ต่ำกว่า 20 ปี ประมาณ 18 ล้านคน ข้อสำคัญต่อมา คือ ห้ามแบ่งขายบุหรี่ซิกาแร็ตเป็นมวน ๆ (ปัจจุบันกฎหมายเขียนไว้ไม่ชัดเจน) เพื่อป้องกันเยาวชนและคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,500 บาทต่อเดือน ที่มีอยู่ประมาณ 8.4 ล้านคน


          นอกจากนี้ให้คำจำกัดความ ผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ให้หมายรวมถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบใหม่ ๆ อาทิ  บุหรี่ไฟฟ้า  บารากู่  รวมทั้งให้ครอบคลุมการสื่อสารการตลาดรูปแบบใหม่ ๆ อาทิ การใช้สื่อบุคคล "พริตตี้" ห้ามขายทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์


          ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนผลักดันร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่นี้ สามารถร่วมลงชื่อสนับสนุนได้ที่ change.org/tobacco-bill


 


 


           ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


           ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code