ศาสตร์แห่งการรักษาใจ
บางครั้งมนุษย์คนหนึ่งก็เผชิญกับสิ่งบั่นทอนจิตใจหลากหลายและแตกต่าง เรื่องราวบางเรื่องไม่สามารถเอ่ยบอกใครให้รับรู้ ยิ่งเก็บยิ่งรู้สึกฝืน และสิ่งนั้นก็เข้ามากร่อนหัวใจอยู่ในที หนักเข้าก็สะสมจนหัวจิตหัวใจไม่สู้จะเริงรื่น ต้องหาทางเยียวยารักษาระบายออกไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คงดีหากหาทางระบายปัญหาถูกจุด แต่ก็อีกเช่นกันหากคลี่คลายไปในทางที่ผิด สภาพจิตใจคงย่ำแย่ยิ่งกว่าเดิม
อย่างที่รู้กัน การบำบัดรักษา คือความพยายามอย่างหนึ่งที่เป็นหนทางให้ปัญหาชีวิตดีขึ้น ทุกวันนี้จึงได้เกิดศาสตร์อันมีพื้นฐานเพื่อบำบัดรักษาขึ้นมากมายและแพร่หลาย ซึ่งบางทีก็มากเสียจนไม่รู้จะเลือกอะไร วันนี้จึงมีแนวทางการบำบัดรักษาเพื่อเยียวยาจิตใจจากความเครียดหรือความทุกข์ในชีวิตมาบอกเล่ากัน
ลมหายใจ…ดนตรี…ชีวิต
ครูดุษฎี พนมยงค์ นำเอาหลักคำสอนง่ายๆ ตามแนวธรรมะของท่านพุทธทาสภิกขุที่ว่า “ทำใจให้สงบ จะพบความสุขที่เยือกเย็น” เข้ามาปรับใช้ใน “ดนตรีบำบัด”
ตามหลักวิทยาศาสตร์บันทึกไว้ชัดว่า ความเครียดส่งผลสำคัญต่อระบบการทำงานของร่างกายอย่างมาก ซึ่งสมองจะหลั่งสารอะดรีนาลินออกมา ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายถดถอย และการทำงานของอวัยวะต่างๆ บกพร่อง เกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วยหรือไม่ก็ทำให้จิตใจหดหู่ไม่สู้ดี
ครูดุษฎีได้อธิบายถึงความเชื่อมโยงของดนตรีและการบำบัดความเครียดให้ฟังว่า การที่เราได้สัมผัสดนตรีที่เลือกสรรอย่างมีคุณภาพทั้งเนื้อร้อง ทำนอง จังหวะ และเสียงประสานที่พอเหมาะ จะช่วยกระตุ้นให้สมองของมนุษย์หลั่งสารแห่งความสุขอย่างเอนดอร์ฟินมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการไหลเวียนของโลหิต ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินปัสสาวะ และระบบประสาท นอกจากนั้นดนตรียังช่วยเพิ่มความจำ เพิ่มสติปัญญา และก่อให้เกิดความคิดริเริ่ม เป็นต้น
“คือครูทำงานด้านสอนดนตรีมาหลายสิบปี แล้วก็สอนเกี่ยวกับดนตรีมาตลอดอยู่ในหลายมหาวิทยาลัย จนครูรู้สึกว่า ครูชอบครูรักดนตรี เพราะมันทำให้มีความสุข เมื่อทำงานด้านนี้มาตลอด เราก็ได้มีโอกาสเข้าไปสอนร้องเพลงในมูลนิธิที่ดูแลเด็ก ซึ่งเด็กแต่ละคนก็จะมีความผิด สมัยนี้ก็เหมือนบ้านเมตตา บ้านกรุณา และเมื่อครูเชื่อว่าดนตรีจะบำบัดพวกเด็กๆ ได้ จึงอาสาเข้าไปจัดการเรียนการสอนดนตรีให้เด็กๆ ปรากฏว่า เมื่อนำดนตรีไปสอนเด็กๆ ในมูลนิธิ ครูได้เห็นพวกเขามีความสุขมาก ดนตรีสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดและอารมณ์ได้จริงๆ มันจึงเป็นเหมือนจุดเริ่มให้ครูนำดนตรีไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กที่แย่อยู่แล้ว ให้ดีขึ้นในอีกหลายๆ ที่ ซึ่งดนตรีบำบัดแบบของครู เมื่อมันเริ่มมากับเด็กที่มีปัญหาทางด้านจิตใจและอารมณ์ เราจึงไม่สามารถไปลอกเลียนแบบแผนจากต่างประเทศได้ ครูก็จะเน้นยึดหลักของศาสนามาผสมผสานเข้าไปสอนเด็กๆ ซึ่งเมื่อสอนอย่างต่อเนื่อง ครูยิ่งมั่นใจเพราะได้เห็นพฤติกรรมที่ดีขึ้นของพวกเขา”
จากนั้นครูดุษฎีก็พัฒนาหลักสูตรขึ้นมาเรื่อยๆ ทั้งมีความหลากหลายขึ้นและครอบคลุมไปถึงช่วงวัยต่างๆ จวบจนมาถึงวันนี้ 25 ปีเต็ม ที่เธอพัฒนาหลักสูตรดนตรีบำบัดแบบฉบับของไทยขึ้นมาเอง และเนื่องจากดนตรีบำบัดต้องใช้ความต่อเนื่อง ครูดุษฎีจึงเปิดอบรมหลักสูตรดนตรีบำบัดให้กับผู้คนที่สนใจอยู่เสมอๆ เป็นคลาสๆ จนมาถึงปัจจุบันจึงเกิดเป็นกิจกรรมดนตรีบำบัดที่ชื่อว่า “ลมหายใจ…ดนตรี…ชีวิต”
โดยในหลักสูตรจะมีกิจกรรมดนตรีบำบัดที่สามารถนำกลับไปทำเองได้ที่บ้าน เพื่อพัฒนาตัวเองได้อย่างง่าย โดยกิจกรรมจะเริ่มกันตั้งแต่วิธีการฝึกทำจิตใจให้สงบด้วยการนั่งสมาธิผสานกับจังหวะดนตรี และต่อด้วยการฝึกเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อก่อนทำกิจกรรมต่างๆ โดยใช้ดนตรีที่เลือกสรรซึ่งมีท่วงทำนองที่เข้ากับจังหวะของความคิดและคลื่นสมอง จากนั้นต่อด้วยการฝึกเปล่งเสียงอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยปรับอารมณ์ความรู้สึกให้เกิดความร่าเริง ก่อนจะจบด้วยการฝึกฟังดนตรีคุณภาพที่จะช่วยให้เกิดจินตนาการกว้างไกลทำให้สิ่งที่หนักอกหนักใจบรรเทาลง
หากจะฝึกดนตรีบำบัดในแบบครูดุษฎี นอกจากต้องมีความตั้งใจแล้ว ควรนำกลับไปทำอย่างสม่ำเสมอ จึงจะเห็นผลได้ชัดเจน ซึ่งการบำบัดลักษณะนี้ไม่มีข้อจำกัด ขอเพียงเครียดหรือมีปัญหาอยากหาทางระบายก็สามารถทำเมื่อไหร่ก็ได้และใช้เวลาเพียง 20 นาที อีกทั้งเป็นหลักสูตรที่ถูกออกแบบมาให้เป็นเสมือนหนทางสายกลางที่ทำให้จิตใจดีขึ้น
หากใครสนใจอยากลองบำบัดอาการป่วยไข้ของหัวใจ ที่เกิดมาจากหลากหลายสิ่งที่สุมทรวง ลองเข้าไปสอบถามรายละเอียดกิจกรรมดนตรีบำบัดได้ที่โทร. 02-381-3860
ศิลปะรักษาใจ
ศิลปะบำบัดถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีกับการเยียวยาอารมณ์และจิตใจ ซึ่งทางมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กได้เห็นถึงความสำคัญของศิลปะบำบัด จึงได้นำมาปรับใช้พัฒนาเด็กๆ ทั้งด้านอารมณ์ จิตใจ และสังคม โดยมีกิจกรรมศิลปะบำบัดหลากหลายที่จัดขึ้นให้กับเด็กๆ เช่น กิจกรรมศิลปะรายเดี่ยวและกลุ่ม นิทรรศการศิลปะบริสุทธิ์ และค่ายศิลปะรักษาใจ ซึ่งแต่ละประเภทก็จะมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ช่วยบำบัดฟื้นฟูสภาวะของจิตใจเด็กๆ ที่ถูกทารุณกรรมให้กลับมาเป็นปกติ
“แรกเริ่มเราใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างศักยภาพให้กับเด็กในมูลนิธิก่อน ต่อมาเราจึงใช้ศิลปะเข้ามาในเรื่องของการฟื้นฟูจิตใจ เพราะเด็กในศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กทุกคนล้วนมีปัญหาเรื่องความรักจากครอบครัว เคยถูกกระทำมาจากคนแวดล้อม เด็กพวกนี้จะหวาดระแวงและไม่เข้าสังคม เราจึงอยากใช้ศิลปะเข้ามาสร้างความไว้วางใจ ซึ่งศิลปะเป็นเครื่องมือที่สามารถเยียวยาเด็กได้เป็นอย่างดี เพราะมันสามารถเข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัยและภาษาศิลปะมันก็เข้าใจได้ง่าย อีกทั้งเรายังสามารถแทรกเรื่องของสังคมเข้าไปได้ด้วย”
ครูสายใจ ศรีลิ้ม นักศิลปะบำบัดของมูลนิธิศูนย์ฯ กล่าวถึงที่มาที่ไปของการเริ่มต้นศิลปะบำบัดขึ้นอย่างจริงจังตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว ก่อนเธอจะเล่าต่อว่า
“เมื่อก่อนมีโอกาสได้เรียนจากนักศิลปะบำบัดชาวต่างชาติที่เข้ามาช่วยในมูลนิธิ ก็ฝึกงานอยู่กับเขากว่า 3 ปี แล้วเมื่อเขาไปก็ไม่มีใครทำต่อ เราเลยเข้ามาทำเอง เพราะเห็นว่าสามารถช่วยเยียวยาได้จริง เพราะเด็กบางคนเขาถูกทำร้ายมาหนักมากทั้งสภาพจิตใจและร่างกาย หรือถูกกระทำทางเพศ ซึ่งถ้าเกิดได้รับการบำบัดแบบนี้ จริงอยู่เด็กอาจไม่ได้หายหวาดกลัว แต่จะสามารถคลี่คลายบรรเทาให้เด็กสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ เราก็เลยอยากสานต่อ จนต่อมาก็กลายเป็นกิจกรรมอีกหลายๆ อย่างที่มีศิลปะบำบัดเป็นหลัก
“เพราะในศิลปะมันมีความอิสระอยู่บนกระดาษ เมื่อเขาวาดรูปเขาก็จะได้ระบายได้แสดงออกในสิ่งที่เขาอยากบอก ซึ่งศิลปะสามารถสื่อออกมาได้แม้จะไม่ต้องใช้คำพูด แล้วพอเราจบคลาส เด็กๆ ก็จะมาบอกว่าทำไมเวลามันหมดเร็วจัง คือเขารู้สึกว่ายังอยากวาดรูปต่อ เพราะเขามีความสุข เขาโล่งเขาสบายใจที่ได้ทำงานศิลปะ” ทางมูลนิธิเองนอกจากเปิดใช้ศิลปะบำบัดเยียวยารักษาใจให้กับเด็กๆ ที่โชคร้ายมาอย่างต่อเนื่องหลายปี ดังที่กล่าวแล้ว ทั้งนี้ยังมีการเปิดกิจกรรมแบบโอเพ่นสตูดิโอที่ใครๆ ก็สามารถเข้าร่วมได้ ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องอยู่ในวัยไหน เพราะศิลปะบำบัดนอกจากจะช่วยเยียวยารักษา อีกด้านหนึ่งยังช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ จินตนาการ และฝึกสมาธิได้เป็นอย่างดี ซึ่งในส่วนนี้จะเชื่อมโยงไปถึงการนำวิถีชีวิตของชุมชนเข้ามาเพื่อให้เด็กๆ เรียนรู้สังคมและธรรมชาติ และช่วยในเรื่องการเปิดโลก การเข้าสังคมซึ่งสามารถทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันช่วยเหลือกัน
นอกจากเด็กที่อยู่ในมูลนิธิ หากใครที่สนใจก็สามารถเข้ามาร่วมในกิจกรรมได้ทั้งในแบบผู้ร่วมกิจกรรมและอาสาสมัคร ซึ่งหากใครมีบุตรหลานที่ประสบกับปัญหาในเรื่องของการเข้าสังคมหรืออื่นๆ ก็สามารถเข้ามาทดลองศิลปะบำบัดได้ หากใครอยากช่วยเหลือเด็กๆ ในมูลนิธิให้กลับมามีรอยยิ้มสดใสกว่าเดิม ก็สามารถสอบถามรายละเอียดของกิจกรรมศิลปะบำบัดรักษาใจ ได้ที่ http://www.thaichildrights.org/ โทร. 02-412-0739
ที่มา : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ โดยพงศ์ พริบไหว