ศาลาอโรคยาบ้านทุ่งหลวง นวัตกรรม `ตำบลสุขภาวะ`

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  


ศาลาอโรคยาบ้านทุ่งหลวง นวัตกรรม 'ตำบลสุขภาวะ' thaihealth


แฟ้มภาพ


การแพทย์แผนไทย เป็นศาสตร์ทางเลือกสุขภาพที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ผลักดันและสนับสนุนหน่วยบริการให้มีการรักษาการแพทย์แผนไทยควบคู่ไปกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการส่งเสริมให้การแพทย์แผนไทยให้มีความเจริญก้าวหน้าเท่านั้น แต่ยังเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่นับวันจะเพิ่มสูงขึ้น


อย่างเช่น ที่ศาลาอโรคยาบ้านทุ่งหลวง ต.ทุ่งหลวง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลเวียงพร้าว จ.เชียงใหม่ เป็นชุมชนที่สร้างการเรียนรู้และจัดการตนเองจนเกิดความเข้มแข็งนำไปสู่การเป็น 'ตำบลสุขภาวะ' โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่นี่เปรียบเสมือนเรือนแพทย์แผนไทยประจำหมู่บ้าน ที่บำบัดรักษาผู้ที่มีความเจ็บป่วยทางโรคระบบกระดูกและโครงร่าง รวมไปถึงการนวดผ่อนคลายในผู้ที่มีภาวะความเครียดเรื้อรัง และที่นี่ยังมีส่วนในการสร้างสังคม สร้างสุขภาพ สร้างอาชีพ ให้กับคนในชุมชน


ศาลาอโรคยาบ้านทุ่งหลวง นวัตกรรม 'ตำบลสุขภาวะ' thaihealth


นายสิงห์แก้ว กันธิยะ นักวิชาการสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านทุ่งหลวง ต.ทุ่งหลวง จ.เชียงใหม่ เล่าว่าในปี พ.ศ.2555 พบสถิติผู้ป่วยโรคระบบกระดูกมารับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านทุ่งหลวงเพิ่มขึ้นทุกปี และพบปัญหาข้างเคียงตามมาจากการใช้ยารักษาโรคระบบกระดูก เช่น อาการไตอักเสบ โรคกระเพาะ ทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านทุ่งหลวงจึงมีโครงการจัดสร้างเรือนแพทย์แผนไทย เพื่อเป็นสถานที่บำบัดรักษาผู้ที่มีความเจ็บป่วยทางโรคระบบกระดูกและโครงร่าง รวมถึงนวดผ่อนคลายในผู้ป่วยที่มีภาวะความเครียดเรื้อรัง ซึ่งถือเป็นอีกศาสตร์หนึ่งในการบำบัดผู้ที่มีปัญหาทางภาวะอารมณ์


นายสิงห์แก้ว เล่าต่อว่า ที่นี่ถือเป็นจุดเด่นในการบูรณาการระหว่างการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งจะมีนักภาพบำบัดมาคอยดูแลผู้ป่วย และการแพทย์แผนไทย รวมไปถึงสมุนไพรภูมิปัญญาท้องถิ่นในระดับชุมชนที่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน โดยหมอนวดจะเป็นคนในชุมชนท้องถิ่นที่ผ่านการอบรมจากหลักสูตรกระทรวงสาธารณสุข เพื่อบำบัดรักษาแก่ผู้ป่วยตามมาตรฐานการแพทย์แผนไทย โดยเปิดให้บริการทุกวันจันทร์-วันเสาร์ ซึ่งสิ่งแรกเมื่อมาใช้บริการเจ้าหน้าที่จะซักประวัติก่อน เช่น เคยได้รับการผ่าตัดกระดูกทับเส้นหรือไม่ เป็นต้น จากนั้นจึงวัดความดัน และทำการเริ่มรักษาได้


"ภายหลังการก่อตั้งศาลาอโรคยาบ้านทุ่งหลวง สถิติผู้ป่วยโรคระบบกระดูกลดลงทุกปีอย่างเห็นได้ชัด โดยก่อนหน้านี้ในปี 2557 มีผู้ป่วยทั้งหมด 700 คน และในปี 2558 ผู้ป่วยได้ลดลงเหลือ 500 คน ต่อมาในปี 2559 มีผู้ป่วยลดลงอีกเหลือ 300 คน ซึ่งถือว่าภายในระยะเวลา 3 ปี ลดลงถึงร้อยละ 50 อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าผู้ป่วยบางรายจะต้องใช้ระยะเวลารักษานานหลายเดือน แต่ท้ายที่สุดการนวดจากสมุนไพรโดยแพทย์แผนไทยก็ช่วยให้สุขภาพของคนในชุมชนดีขึ้น" นายสิงห์แก้วกล่าว


ศาลาอโรคยาบ้านทุ่งหลวง นวัตกรรม 'ตำบลสุขภาวะ' thaihealth


นอกจากนี้ ศาลาอโรคยาบ้านทุ่งหลวงยังมีผู้เฒ่าผู้แก่ที่ได้นำภูมิปัญญาพื้นบ้านจากการสืบทอดของบรรพบุรุษ โดยเข้ามาช่วยคิดค้นสมุนไพรเพื่อใช้ในการรักษา อย่างเช่น นางคำปัน คำมาเรือน วัย 62 ปี ผู้เชี่ยวชาญสมุนไพรประจำตำบลบ้านทุ่งหลวง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ บอกว่า ความรู้ในเรื่องสมุนไพรได้มาจากการถ่ายทอดของบรรพบุรุษ และได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากแพทย์แผนไทยที่โรงพยาบาลพร้าว ซึ่งจะต้องรู้ว่าสมุนไพรชนิดนี้รสเป็นอย่างไร ออกฤทธิ์อย่างไร และใช้ในอัตราส่วนเท่าใด โดยมองว่าการใช้สมุนไพรในท้องถิ่นเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการไปซื้อยาจากที่อื่นที่มีราคาสูงกว่ามาก โดยผู้ที่เข้ามาใช้บริการส่วนใหญ่จะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ พระภิกษุสงฆ์ หนุ่มสาวก็เริ่มมีเข้ามาบ้าง


ศาลาอโรคยาบ้านทุ่งหลวง นวัตกรรม 'ตำบลสุขภาวะ' thaihealth


"ภูมิใจที่ได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษให้คนสมัยนี้ได้รับรู้ และยังสามารถนำความรู้เหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้จริง อีกทั้งมีความสุขทุกครั้งที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น อย่างเช่น การมาทำลูกประคบหรือน้ำมัน ก็เต็มใจมาทำให้ฟรี เพราะชาวบ้านที่นี่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน" คุณยายคำปันเล่าความรู้สึก


ขณะที่ ผู้เข้ามารักษาที่ศาลาอโรคยาบ้านทุ่งหลวง อย่าง นายตุแย จาบือ อายุ 62 ปี ต.สันทราย อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ที่มีอาการเข่าบวม และได้มาบำบัดด้วยการนวดแผนไทย เล่าว่า ในปี 2550 ตนมีอาการเข่าบวมทำให้ต้องเดินขากะเผลก และได้ไปรักษาที่สถานพยาบาลอยู่หลายแห่ง อีกทั้งยังได้ไปซื้อยาที่มีคนบอกว่าดี และได้เคยกินยาแก้ปวดคลายเส้น ในช่วงแรกอาการบรรเทาดี แต่พอกินไปเรื่อยๆ ก็ไม่ดีขึ้น คล้ายกับเกิดอาการดื้อยา ทำทุกอย่างก็ไม่หาย จากนั้นในช่วงกลางปี 2559 ตนได้ฟังวิทยุชุมชนว่าที่ศาลาอโรคยาบ้านทุ่งหลวงมีการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคระบบกระดูกด้วยแพทย์แผนไทย ตนจึงตัดสินใจเดินทางจาก ต.สันทราย จ.เชียงใหม่ มาบำบัดรักษา ซึ่งในครั้งแรกหมอได้ประเมินอาการแล้วว่าไม่ได้เป็นผลมาจากการเป็นโรคหัวใจ หรือโรคไต และไม่มีอาการอักเสบ จึงได้เริ่มนวดฟื้นฟูรักษาตั้งแต่นั้นมา


ศาลาอโรคยาบ้านทุ่งหลวง นวัตกรรม 'ตำบลสุขภาวะ' thaihealth


นายตุแยเล่าต่อว่า ล่าสุดนวดไปแล้ว 4 ครั้ง (ครั้งละ 1-2 ชั่วโมง) ซึ่งในการนวดครั้งที่ 3 อาการเข่าบวมลดลง เดินได้คล่องขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หมอได้ให้แนะนำว่าห้ามยกของหนัก และอย่าทำงานหักโหมจนเกินไป ทั้งนี้ตนมองว่าแพทย์แผนไทยเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบำบัดฟื้นฟูโรค และสามารถรักษาร่วมกันกับแพทย์แผนปัจจุบันได้ เพราะการใช้ยาแพทย์แผนปัจจุบันอย่างเดียวเป็นเวลานาน อาจส่งผลข้างเคียงต่อไต และยังเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น


ที่นี่นอกจากจะสร้างให้คนในชุมชนมีสุขภาพดีขึ้นแล้ว ถือว่ายังสร้างอาชีพให้แก่เด็กเยาวชน ผู้เฒ่าผู้แก่ ด้วยการเป็นหมอนวดแผนไทย อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของพืชสมุนไพรในชุมชนอีกด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code