ศวส.เผยผลสำรวจความเห็นวัยโจ๋
90.5%หนุนภาพเตือนบนขวดสุรา
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม นางอารีกุล พวงสุวรรณ นักวิจัยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) เปิดเผยว่า ศวส.ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำโครงการสำรวจความเห็นของประชาชนเรื่อง “การรับรู้และทัศนคติของเยาวชนไทยต่อมาตรการข้อความคำเตือนประกอบภาพสัญลักษณ์บนบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์”
โดยสำรวจนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จาก 5 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม เชียงใหม่ สงขลา ปราจีนบุรี และกรุงเทพฯ 1,512 ราย ระหว่างวันที่ 10-15 มิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 64 ทราบว่ามีข้อความคำเตือนบนบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในจำนวนนี้มีร้อยละ 23 ที่จำข้อความคำเตือนบนบรรจุภัณฑ์ได้ เมื่อถามถึงการรับรู้ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ พบว่าร้อยละ78 รู้ว่ามีภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ซึ่งในจำนวนนี้มีร้อยละ 27 จดจำข้อความและภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อนำผลสำรวจมาเปรียบเทียบ พบว่ากลุ่มตัวอย่างสามารถจดจำภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ได้มากกว่าข้อความคำเตือนบนบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 22
นางอารีกุลกล่าวอีกว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 95.5 คิดว่าภาพคำเตือนบนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีตัวอย่างในร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข มีผลให้เยาวชนไม่ต้องการดื่มได้มากกว่าการมีข้อความคำเตือนเพียงอย่างเดียว และอีกร้อยละ 80.1 คิดว่าหากมีภาพคำเตือนจะสามารถเตือนใจและเพิ่มการรับรู้ถึงผลกระทบจากการดื่มได้มากกว่าข้อความคำเตือนเพียงอย่างเดียว ส่วนร้อยละ 81 เห็นว่าภาพคำเตือนจะลดแรงดึงดูด ความน่าลองของฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ และพบว่ากว่าร้อยละ 90.5 บอกว่าหากได้เป็นนายกรัฐมนตรีจะออกกฎหมายให้มีภาพคำเตือน ขณะที่มีเพียงร้อยละ 5.8 เท่านั้น ที่จะออกกฎหมายให้มีเพียงข้อความคำเตือน และอีกร้อยละ3.6 จะไม่ให้มีการเตือนใดๆ บนฉลากสุรา
ด้าน นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการ ศวส. กล่าวว่า ผลสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางร่างประกาศของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กำหนดให้บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องแสดงข้อความคำเตือนประกอบรูปภาพ 4 สี 6 แบบตามขนาดที่กำหนด โดยมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนภาพคำเตือน
ขณะที่ นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเปิดกิจกรรมรณรงค์ “งดเหล้าเข้าพรรษา”ที่ จ.เพชรบูรณ์ ว่า จากข้อมูลการศึกษาต้นทุนผลกระทบทางสังคมสุขภาพ และเศรษฐกิจของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ล่าสุดในปี 2550 พบว่ามีมูลค่าถึง 156,105 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 1.99 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี(gdp) หรือเฉลี่ยคนละประมาณ 2,391 บาท
นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวถึงเหตุการณ์วัยรุ่นยกพวกตีกันในงานคอนเสิร์ตที่หัวหินในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สธ.มีแนวคิดห้ามขายและห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ หรือบริเวณที่มีการจัดงานคอนเสิร์ต ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการออกอนุบัญญัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
update: 04-08-53
อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ