ศวปถ.แนะโรงเรียนเลือกรถบัสก่อนทัศนศึกษา

 

นักวิชาการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) แนะโรงเรียนเลือกรถบัสก่อนทัศนศึกษา

ป้องกันอุบัติเหตุ หลังพบช่วง 5 ปีที่ผ่านมารถทัศนศึกษานักเรียนเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายครั้ง 

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความความปลอดภัยทางถนน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ แนะผู้บริหารโรงเรียนให้คัดเลือกรถทัศนาจรก่อนพานักเรียนออกทัศนศึกษาป้องกันอุบัติเหตุ หลังพบช่วง 5 ปีที่ผ่านมารถทัศนศึกษานักเรียนเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายครั้ง ล่าสุด จากกรณีอุบัติเหตุรถบัสทัศนศึกษาของคณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนเทศบาล 2 อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร พุ่งชนท้ายรถยนต์กระบะจนเสียหลักพลิกคว่ำบริเวณช่วงทางโค้งบ้านปางแฟน อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้นักเรียนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 2 ราย ขณะที่ครูและนักเรียนที่โดยสารมากับรถบัสได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน แนะให้ผู้บริหารโรงเรียนหันมาใส่ใจกับการคัดเลือกสถานประกอบการรถบัสเช่าและพนักงานขับรถให้มากขึ้น หลังผลการศึกษาชี้ชัดเลือกรถและพนักงานขับรถที่มีมาตรฐาน เพราะสาเหตุส่วนใหญ่มาจากความบกพร่องของรถ วุฒิภาพวะของพนักงานผู้ขับขี่ รวมถึงสาเหตุโดยทางอ้อมจากสภาพแวดล้อมทางถนนหรือสภาพแวดล้อมทางภูมิอาการขณะขับรถ

“การเลือกบริษัทรถ ต้องเลือกบริษัทที่เป็นนิติบุคคล ไม่ควรเลือกบริษัทที่เป็นตัวบุคคลรายเดี่ยว เพราะถ้าเป็นนิติบุคคลจะได้รับการดูแลจากสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารไม่ประจำทาง (สสท.) เรียกง่ายๆว่า มีผู้รับผิดชอบความเสียหาย เมื่อทางโรงเรียนเป็นผู้ว่าจ้างก็ควรต้องตรวจสอบสภาพรถด้วยว่า มีความเหมาะสมและปลอดภัยในการเดินทางหรือไม่ โดยรถที่ใช้งานควรเป็นรถโดยสารชั้นเดียวเพราะรถที่มีขนาด 2 ชั้นจะมีข้อจำกัดในการทรงตัว ถ้าต้องหักเลี้ยวในระยะกระชั้นชิดหรือในเส้นทางที่มีความชันเป็นไหล่ทาง โอกาสเกิดอุบัติเหตุจะสูงขึ้นทันที” นพ.ธนะพงศ์กล่าว

“นอกจากนั้น ยังต้องตรวจสอบระบบเบรก ยางรถ สำรวจว่ามีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งหรือไม่ ตรวจดูเบาะที่นั่งที่ต้องยึดติดกับที่ ไม่เป็นแบบมีรางสไลด์หรือถอดเข้าออกเพื่อเพิ่มปริมาณที่นั่งจนน็อตหลวม เพราะจากอุบัติเหตุหลายครั้งพบว่า ที่นั่งกระเด็นออกจากฐานและตัวรถจนเป็นเหตุให้ผู้โดยสารเสียชีวิต นอกจานั้นต้องดูว่ามีอุปกรณ์นิรภัยอย่างค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง ติดตั้งบนรถหรือไม่ มีถ้าข้อสังเกตุพื้นฐานเหล่านี้ไม่มีโรงเรียนก็ต้องไม่เลือกเอารถคันนั้นมาเสี่ยงรับนักเรียน”

ด้านพนักงานขับรถ ต้องสอบถามให้แน่ใจว่า เป็นคนค้นเคยกับเส้นทางเป็นอย่างดีและมั่นใจได้ว่าเลือกเส้นทางที่ปลอดภัยที่สุดในการเดินทาง โดยเฉพาะเส้นทางที่ผ่านที่สูงชัน เพราะผลการสืบสวนหลายครั้งมักจะได้ผลว่า “พนักงานขับรถไม่ชำนาญเส้นทาง” ดังนั้น เมื่อทำสัญญาจ้างต้องทำให้ชัดเจน ระบุเส้นทางจากต้นทางถึงปลายทาง หมายเลขทะเบียนรถคันที่ให้บริการ ชื่อพนักงานในกรณีที่ระยะทางเกินกว่า 400 กิโลเมตร จะต้องมีพนักงานขับรถสับเปลี่ยนกัน 2 คน หรือถ้ามีพนักงานขับรถเพียงคนเดียวกฎหมายระบุชัดว่า ให้พนักงานขับรถปฏิบัติหน้าที่ขับรถในรอบ 24 ชั่วโมงห้ามขับรถติดต่อกันนานเกินกว่า 4 ชั่วโมง ถ้าต้องขับต่อจะต้องพักให้ได้อย่างน้อย 30 นาที จึงจะขับต่อได้อีก 4 ชั่วโมง

นอกจากนั้น พนักงานขับรถต้องได้ใบอนุญาตขับขี่จากกรมการขนส่งทางบก โดยให้ขับรถประเภทรถสาธารณะเท่านั้น มีใบตรวจสภาพรถยนต์จากกรมการขนส่งทางบกระยะเวลาที่ระบุไม่ควรเกิน 2 เดือนหลังตรวจสภาพ มีเอกสารกรมธรรม์ทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจของรถคันที่ว่าจ้างซึ่งต้องตรวจสอบว่าถูกต้องและตรงกับเลขทะเบียนรถหรือไม่

ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ยังกล่าวต่อไปว่า “โรงเรียนต้องมีการให้คะแนนการว่าจ้างรถบัสเอาไว้ซึ่งจะมีรายละเอียดค่อนข้างมากเป็นการประเมินเพื่อความปลอดภัยให้กับนักเรียนและบุคลากรของโรงเรียน เพราะต้องไม่ลืมว่าผู้ปกครองทุกคนมอบความไว้วางใจให้กับทางโรงเรียนดังนั้นจึงไม่ควรละเลยการตรวจสอบเหล่านี้”

สำหรับโรงเรียนที่ต้องการรายละเอียดการจัดจ้าง การตรวจสภาพรถ หลักเกณฑ์และการประเมินรถบัส สามารถดาวน์โหลดคู่มือการเลือกรถทัศนาจรสำหรับสถานศึกษาได้ที่ https://www.facebook.com/roadsafetygroupthailand

 

 

ที่มา : ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน

Shares:
QR Code :
QR Code