ศวปถ.สสส. มูลนิธิเมาไม่ขับปฏิวัติความคิดสร้างสังคมหัวแข็ง สวมหมวกกันน็อก คาดเข็มขัดนิรภัย เพื่อผู้ขับขี่ทุกคนปลอดภัย

ที่มา : ไทยโพสต์


ศวปถ.สสส. มูลนิธิเมาไม่ขับปฏิวัติความคิดสร้างสังคมหัวแข็ง สวมหมวกกันน็อก คาดเข็มขัดนิรภัย เพื่อผู้ขับขี่ทุกคนปลอดภัย thaihealth


แฟ้มภาพ


          ศวปถ.สสส. มูลนิธิเมาไม่ขับ ปฏิวัติความคิดสร้างสังคมหัวแข็ง เชิญชวนคนไทยสวมหมวกกันน็อก คาดเข็มขัดนิรภัย เพี่อความปลอดภัยบนท้องถนน หยุดสถิติเมืองไทยขยับเป็นแชมป์ติดอันดับอุบัติเหตุสูงสุดเป็นที่ 1 ของโลก เหยื่อเมาไม่ขับ ประสงค์ สุขแสวง เลี้ยงฉลองตำแหน่งพนักงานขับรถหลวง สำนักพระราชวัง ถึงเช้า เมาขี่รถเครื่องกลับบ้านตอนเช้าอุบัติเหตุพลิกคว่ำกลายเป็นคนพิการตลอดชีวิต หมดอนาคต สุกัญญา ธานีคำ ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์เพื่อนรุ่นพี่ไปลอยกระทงที่ภูเขาทอง มอเตอร์ไซค์อีกคันเมาแล้วขับเสยมอเตอร์ไซด์พลิกหลายตลบ คนซ้อนท้ายสลบเหมือด 2 วัน ฟื้นขึ้นมากลายเป็นคนพิการ เป็นอัมพาตต้องพึ่งพาคนอื่น


          กอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ทุกๆ 2 ปีจะมีการสำรวจอันดับว่าเมืองไทยมีอุบัติเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตติดอันดับ 3 อันดับ 2 และล่าสุดกลายเป็นแชมป์อุบัติเหตุของโลกไปแล้ว แต่ผมยังไม่เห็นตัวเลขทางการ เพียงแต่มีการพูดถึงว่าไทยติดอันดับ 1 ในเอเชีย ข้อมูลนี้ทำให้เรารู้สึกเจ็บ เพราะเราระดมทุกหน่วยงานให้สร้างความตระหนักรู้ มีการบังคับการใช้กฎหมายให้เป็นจริง การควบคุมยานพาหนะให้เกิดความปลอดภัย เวลานี้คนขับรถเห็นถนนโล่งก็จะขับห้อเหยียดอย่างเต็มที่ ย่อมทำให้เกิดอุบัติเหตุไม่คาดคิดขึ้นมาได้ พี่น้องทั้งหลายจะต้องช่วยกันให้เกิดความตระหนักรักษาความปลอดภัย ปฏิบัติตาม กม.จราจร เราต้องช่วยกันให้ผู้ขับขี่ปลูกฝังการมีวินัย ทั้งภาครัฐ สถานศึกษา เมื่อสำรวจข้อมูลอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจะพบว่ามีปัญหาสภาพดินฟ้าอากาศ วิสัยทัศน์ไม่ดี ขับรถโดยไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่สวมหมวกกัน น็อก ฯลฯ


          "หน่วยงานภาครัฐไม่ได้ละเลยปัญหา ทำทุกวิถีทาง แต่ขึ้นอยู่กับบางจังหวะ แต่สิ่งที่เราต้องตระหนักคือ การช่วยเหลือเพื่อเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุให้ออกจากสถานที่เกิดเหตุ ควรจะมีการอบรมเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อระบบสุขภาพที่จะส่งไปเยียวยาต่อ มิฉะนั้นจะกลายเป็นการซ้ำเติมผู้ประสบอุบัติเหตุมากขึ้นไปอีก เคยมีการพูดกันว่า ถ้าถนนหนทางไม่ค่อยดี เป็นหลุมเป็นบ่อ จะทำให้ผู้ขับขี่ระมัดระวังด้วยการขับช้าลง การลงทุนทางวิศวกรรมเพื่อความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ทุกคนที่ใช้ยวดยานบนท้องถนน"


          สุรสิทธิ์ ศิลปงาม ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวถึงเหยื่อเมาแล้วขับรายแรก ประสงค์ สุขแสวง เมาเองขับเอง และประสบอุบัติเหตุพิการเพราะไปฉลองกับเพื่อนๆ ด้วยการดื่มเหล้าที่สอบได้เป็นพนักงานขับรถยนต์หลวง สำนักพระราชวัง ที่สุดก็หมดอนาคต ต้องพิการตลอดชีวิต ส่วน สุกัญญา ธานีคำ ประสบอุบัติเหตุเพราะนั่งมอเตอร์ไซค์ซ้อนท้ายเพื่อนแล้วมีคนขับมอเตอร์ไซค์อีกคันเมาแล้วขับเข้ามาชน ทำให้สุกัญญาพิการตลอดชีวิต ต้องนั่งรถเข็น ความสูญเสียของน้องรายนี้เป็นเพราะไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ขณะนี้มีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น 77 จังหวัด เรามีผู้ประสบอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับตัวเอง พร้อมที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ให้รับฟังเป็นข้อคิดที่พึงอย่าประมาทไว้ด้วย


          "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 โปรดเกล้าฯ ให้มีจิตอาสา 3-4 ล้านคนทั่วประเทศ ขณะนี้เสร็จสิ้นภารกิจในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทร  มหาภูมิพลอดุลยเดชแล้ว เรามีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 100,000 คน ตำรวจจราจร 90,000 คนดูแลคนไทยทั้งประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเชิญชวนภาคประชาชนจิตอาสามาช่วยงานจราจร ความปลอดภัยบนท้องถนน เป็นไปได้หรือไม่ขอความร่วมมือจิตอาสามาช่วยงานในช่วงเทศกาลเพื่อให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน" สุรสิทธิ์ ให้ข้อคิดนพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผู้ดำเนินรายการซักถามเหยื่อเมาแล้วขับ ประสงค์ สุขแสวง เล่าเหตุการณ์ที่ฝังใจจนลืมไม่ลงว่า วันนั้นไปเลี้ยงฉลองกับเพื่อนๆ ที่ได้งานขับรถยนต์หลวง สำนักพระราชวัง จนถึงรุ่งเช้า ขณะกำลังเมา วันนั้นฝนตกกำลังจะขับกลับบ้าน ปรากฏว่าดิสเบรกล็อก เมื่อเหยียบเบรกอย่างรวดเร็วทำให้ล้มคะมำบาดเจ็บ เพราะรถเหวี่ยงจนเสียหลักไม่สามารถทรงตัวได้ ล้มเองล้อหมุนสไลด์หัวไปฟาดกับพื้น พยายามจะลุกแต่ก็ลุกไม่ขึ้น หัวไปทางตัวไปทาง จำได้ว่ามีชาวบ้านเข้ามาช่วยถึง 4 คน หามผมไว้แต่ไม่ได้บล็อกคอ สมัยนั้นมีด่านตรวจก็จริงแต่ไม่ใช่ด่านตรวจคนเมาแต่อย่างใด ในฐานะที่เป็นเหยื่อเมาแล้วขับ ขอฝากข้อคิดถึงรัฐบาลด้วยว่า ผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพขับเคลื่อนนโยบายปีละ 200,000 ล้านบาท เกิดความสูญเสียจากอุบัติเหตุ ฝากเรื่องการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวด การสร้างภาคีเครือข่ายทุกระดับชั้น การตั้งจุดบริการประชาชน 7 วันอันตราย ควรจะมีการทำงานอย่างต่อเนื่องด้วย ไม่ใช่ทำเฉพาะช่วงเทศกาล การทำงานด้านความปลอดภัยบนท้องถนนต้องลงมือกระทำทุกวัน "ผมขอตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การที่คุณหมอปฏิเสธการเป่าเพื่อตรวจแอลกอฮอล์แล้วประสาอะไรกับประชาชนคนธรรมดา เวลานี้คนไทยตายเพราะอุบัติเหตุถึงวันละมากกว่า 20 ศพ"


          สุกัญญา ธานีคำ เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ วัย 36 ปี เล่าว่า ประสบอุบัติเหตุเมื่อ 20 ปีที่แล้วขณะมีอายุเพียง 15 ปี เพิ่งจะทำบัตรประจำตัวประชาชนได้เพียง 2 เดือน วันเกิดเหตุเป็นวันลอยกระทง เพื่อนผู้หญิงรุ่นพี่ชวนไปลอยกระทงที่วัดสระเกศ ภูเขาทอง "หนูนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์พี่เขาไป พี่มีใบขับขี่ ระหว่างขับขี่มีรถมอเตอร์ไซค์ที่คนขับแล้วเมาเข้ามาเกี่ยวรถมอเตอร์ไซค์ที่หนูซ้อนท้ายล้ม หัวหนูไปฟาดฟุตบาทหัวแตกสลบเหมือดไป 2 วัน หนูนอนอยู่โรงพยาบาลรามาธิบดีนาน 28 วัน ส่วนพี่ที่ขับรู้ตัวตลอดเวลาไม่เจ็บหนักเท่ากับหนู"


          สุกัญญา เล่าว่า สมัยนั้นไม่มีเครื่องมือตรวจวัดแอลกอฮอล์ในเลือด เมื่อรถมอเตอร์ไซค์ถูกเกี่ยวชน ชาวบ้านที่เข้ามาช่วยเหลือก็ไม่ได้มีความรู้ เข้ามาดึงแขนดึงขากันไปคนละทาง ทั้งๆ ที่จะต้องมีเปลมา Support จากการช่วยเหลือแบบไม่มีความรู้ส่งผลให้มีอาการป่วยมากขึ้น "หนูเป็นอัมพาตครึ่งตัวตั้งแต่เอวลงมา หยิกหรือจับตัวแรงๆ ก็ไม่รู้สึกแต่อย่างใด อุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้ตัดเส้นประสาทความเคลื่อนไหว ตอนแรกหมอยังไม่บอก เวลาผ่านไป 1 สัปดาห์หมอบอกครอบครัวหนู แล้วค่อยๆ บอกหนูภายหลัง ครอบครัวหนูแบกรับค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งหมด พ่อแม่รับไม่ได้ที่หนูพิการ เพราะหนูเป็นลูกสาวคนโตเป็นความหวังของพ่อแม่ ตอนนั้นหนูเรียน รร.สาธิตรามคำแหง เมื่อเกิดอุบัติเหตุก็ต้องหยุดเรียนมาอยู่บ้าน พ่อแม่หนูขายอาหารเหนือที่อาคารธนิยะ พ่อหนูเป็นคนลำพูน แม่เป็นคนเชียงใหม่ พ่อดื่มเหล้ามาก พ่อเพิ่งเสียชีวิตเมื่อไม่นานมานี้ ตอนนี้หนูรับถอดเทปพระเทศน์ที่วัดป่าแถวราชบุรี รับพิมพ์งานที่บ้าน ส่งงานทางอีเมล คิดนาทีละ 7 บาท 09-6317-0007 หนูทำงานได้แต่ที่บ้านเพราะสภาพร่างกายของเรามีปัญหาแผลกดทับจากการนั่งนานๆ ดังนั้นต้องมีวิธีการดูแลตัวเอง การทำกายภาพบำบัดและขยับร่างกายบ่อยๆ ตอนนี้หนูพยายามช่วยตัวเอง ใส่กางเกงและสวมรองเท้าด้วยตัวเอง และพยายามออกกำลังกายเพื่อไม่ให้ขาลีบเนื่องจากไม่ได้ใช้งาน"


          ธารินี ปานเขียว ผอ.ประชา สัมพันธ์และสื่อสารองค์กร บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด กล่าวว่า ระบบประกันภัยมีกฎหมายบังคับเจ้าของรถยนต์ทำ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เมื่อเกิดอุบัติเหตุจะคุ้มครองผู้เสียชีวิตในสถานที่เกิดเหตุ 300,000 บาท หรือทุพพลภาพถาวร ดังนั้นจึงขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อให้ผู้ขับขี่ได้ตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย บริษัทกลางฯ เกิดขึ้นเมื่อปี 2541 ค่าเสียหายเบื้องต้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะจ่ายให้ เยียวยา 10,000 บาททันทีที่เกิดอุบัติเหตุ เกิดทุพพลภาพ 35,000 บาท โดยไม่ต้องมีการจ่ายค่าหัวคิวแต่อย่างใด.

Shares:
QR Code :
QR Code