ศรัทธาบนเส้นทาง “สวดภาวนาคาทอลิกไทย”
บนเส้นทางที่ไม่คุ้นเคยนัก ระหว่างตัวอำเภอห้วยแถลง-บ้านโนนงิ้ว ตำบลงิ้ว จังหวัดนครราชสีมา สองข้างทางมีทุ่งนาเวิ้งว้างสีเขียวๆเทาๆ บางช่วงเห็นมีแอ่งน้ำขังในทุ่งนาบ้าง แต่ดินบนคันนานั้นดูแห้งไม่ชุ่มน้ำเลย เป็นไปมากที่ว่า ทุ่งนาแถบนี้ร้างห่างฝนฟ้ามากว่าครึ่งเดือน
รถที่คณะของเราเดินทางมาร่วมเจ็ดชีวิต ค่อยๆคืบคลานไปบนถนนดิน ตามรอยล้อรถคันหน้าไปอย่างทุลักทุเล หลบซ้ายทีขวาทีอยู่ที่ว่าบนถนนนั้นมีอะไรกีดขวาง กิ่งไม้ มูลโค หรือหลุมย่อมๆ จากการจัดสัญจรจนเป็นหลุมอยู่ตลอดทาง เลยยอดไม้ไผ่ที่อยู่ริมทางและต้นฉำฉาที่กางกิ่งแผ่กว้างเบื้องหน้า ภาพของไม้กางเขนค่อยๆปรากฏชัดแก่สายตาทีละน้อย และเมื่อเข้ามาใกล้ทางเข้า "วัดนักบุญยอแซฟ บ้านโนนงิ้ว" ตัวหนังสือสีขาวทำจากอลูมิเนียมบนพื้นพลาสติกสีเขียว ทำให้ทุกคนอุทานพร้อมกัน "มาถึงแล้ว" วัดนี้อยู่ในการดูแลของสภาคริสตจักร เขตสังฆมณฑลนครราชสีมา
บนโบสถ์ มีเด็กๆอยู่กลุ่มใหญ่ยืนมามองที่เรา แต่ละถือของคนละอย่าง ทั้งไม้ถูพื้น ผ้าขี้ริ้ว ไม้กวาด ถังน้ำ ทุกคนยิ้มแก้มปริ เราจอดรถริมศาลาโถงโล่งด้านหลังโบสถ์ก่อนที่ทุกคนจะทำหน้าที่ตนเองบางคนก็จัดเก้าอี้ ตั้งโต๊ะ ปูเสื่อ ลองเครื่องเสียง ติดป้าย เตรียมน้ำดื่ม เด็กกลุ่มเมื่อก็มาช่วยทำโน่นทำนี่อย่างขะมักเขม้น ระหว่างนั้น ชาวบ้านทั้งผู้สูงอายุ เดินกันมาเป็นกลุ่มๆ บางคนถือตะกร้ามาด้วย เด็กๆผู้ชายปั่นจักรยานมากันสี่ห้าคน ทยอยเขามาในศาลากันเรื่อยๆ
ป้าย "โครงการสวดภาวนาคาทอลิกไทย" ถูกขึงเด่นด้านหน้าเวที โดยมีเสื่อหลายแบบหลากขนาดถูกปูเต็มพื้นที่ คนมาร่วมภาวนา ต่างนั่งตามสะดวก บางคนก็นั่งบนเก้าอี้ที่จัดไว้รอบๆ วันนี้เป็นครั้งที่สองที่ชาวบ้านโนนงิ้ว ได้มาร่วมภาวนาและหารือวิธีการสวดภาวนาคาทอลิกไทย ภายใต้โครงการสวดมนต์สร้างปัญญาพัฒนาสุขภาวะ ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
ช่วงแรกพี่จันทร์และพี่หนู ถือไมค์กล่าวทักทายชาวบ้านและเล่าเรื่องราวการสวดภาวนาที่ผ่านมาของกลุ่มผู้ใหญ่ว่า เป็นการทำให้เด็กๆดูให้เขาเห็นเป็นแบบอย่าง เป็นกิจวัตรที่สำคัญของการเป็นศาสนิกที่ดีหรืออาจทำกิจกรรมพาเด็กๆไปเก็บและแยกขยะในชุมชนหลังมิสซาแล้ว มีแต้มคะแนนให้ เรื่องป่าเรื่องสมุนไพร ก็สามารถพากันปลูกสมุนไพร ติดป้าย ทำข้อมูลให้ความรู้กันได้อีกทางหนึ่ง
คุณเอ นพรัตน์ ผู้ประสานงานโครงการฯ ได้ช่วยทบทวนโครงการฯอีกครั้ง โดยให้ผู้เข้าร่วม ได้นำเสนอและบอกเล่าการสวดภาวนาที่ผ่านมาและความต้องการการสวดภาวนาที่เหมาะสมกับชาวบ้านตลอดระยะเวลาโครงการที่เหลือการสวดแบบนี้สภาภิบาลวัดน่าจะพอเป็นแกนนำชาวบ้านทั้ง38 หลังคาเรือน ซึ่งมีประชากรประมาณ 100 กว่าชีวิตได้ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนดั้งเดิมที่นี่
โครงการฯนี้ ถือว่าเป็นต้นแบบของสังฆมณฑลนครราชสีมา ที่มุ่งมั่นว่าจะทำให้อีกหลายสิบชุมชนวัดในสังฆมณฑล ซึ่งครอบคลุม 3 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ รวมทั้งชุมชนวัดคาทอลิกแห่งอื่นๆ ในประเทศไทย ได้มาเยี่ยมชมดูต้นแบบที่นี่อีกด้วยหากเราทำสำเร็จ อันที่จริงเราทำ 5 มิสซัง คือ นครสวรรค์ อุดรธานี ท่าแร่ อุบลราชธานีและที่บ้านโนนงิ้ว (ซึ่งอยู่ในมิสซังโคราช) หลายๆมิสซังก็เริ่มแล้ว เราก็มาเริ่มกันเลยไหมว่า จะทำอะไรกันบ้าง เช่น จัดอบรมให้ความรู้เรื่องการสวด การมาวัด เน้นกลุ่มเยาวชนหรือเปล่า สวดตามบ้าน สวดBECน่าจะทำให้ต่อเนื่องไหม และหาเวลามาสวดภาวนาร่วมกันที่วัด นั่งคุยสนทนา กินข้าวร่วมกันหรือหารือทำกิจกรรมดีๆที่วัดร่วมกับเยาวชน คนที่เป็นพลมารีก็สามารถทำกิจกรรมสมัยใหม่ เช่น เปิดวีดีโอให้เยาวชนดูและสรุปเล่าเรื่องราวได้ ผมว่าน่าจะเริ่มทำในทุกวันศุกร์ต้นเดือน พอจบโครงการแล้วจะมี 10 เคสน่าสนใจที่เกิดผลอัศจรรย์จากการสวดเพื่อเอาไปแบ่งปันกับที่อื่นๆ
จากนั้น คุณประญัติ เกรัมย์ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนและนำเสนอรูปแบบการสวดภาวนาที่เคยทำมาในแบบของพระพุทธศาสนา โดยเล่าถึง การสวดมนต์ข้ามปีที่แต่วัดจัดกันทั้งประเทศ และมีหลายหน่วยงานมร่วมทำกิจกรรมด้วยมากมาย โดยทางโครงการสวดภาวนาคาทอลิกน่าจะเอาไปใช้ได้ ทั้งนี้ ขอให้เชื่อมแกนนำสภาภิบาล เยาวชน พลมารีและผู้นำมาทำเป็นแบบอย่าง ทำตารางกำหนดวันให้ไว้เลยว่าจะทำอะไรกันบ้าง จะชวนใคร หน่วยราชการไหนมาร่วมทำ ที่สำคัญ คือ เราสร้างวัดมาหมดเงินเป็นล้านๆ เราควรใช้สถานที่วัดให้คุ้ม ให้ได้ประโยชน์กับชาวบ้าน โดยเฉพาะเยาวชน ถ้าเราไม่ทำ วัดก็จะร้าง เด็กก็ไม่สนใจศาสนาและที่สุดพวกเขาอาจไม่สนใจเราด้วย
ด้านพ่อประจักษ์ หัวเรี่ยวหัวแรงงานสวดภาวนาสำคัญของหมู่บ้าน บอกว่า กิจกรรมที่เราทำเน้นผู้สูงอายุไว้ก่อน เป็นไม่ได้ไปไหน แต่ตัวกิจกรรมที่จะมาเชื่อมโยงให้เด็กๆเข้ามามีส่วนร่วมอาจต้องช่วยกันคิด และเรื่องการจัดที่วัดนี้ก็ต้องหารือขออนุญาตจากท่านเจ้าวัดเสียก่อน แต่บางอย่างเราก็ทำเลย เช่น ระหว่างรอคุณพ่อมาประกอบพิธีมิสซา เราก็จะสวดภาวนารอจนกว่าจะถึงเวลา
ชาวบ้านยังคงคุยกันไม่หยุดในเรื่องการสวดภาวนา และต่างก็เล่าประสบการณ์เรื่องราวการสวดภาวนาที่ผ่านมา บางคนแสดงอาการท้อแท้ออกมาเพราะวัดที่นี่เป็นวัดเล็ก ไม่มีคุณพ่อพักอยู่ประจำ เนื่องจากต้องดูแล 3 ชุมชนวัดในละแวกใกล้เคียงซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่กว่า รวมทั้งไม่มีซิสเตอร์ (นักบวชหญิง) แต่บางคนก็บอกว่า เราต้องตั้งมั่นตั้งใจที่ทำดีต่อพระเจ้า รับใช้พระองค์อย่างซื่อสัตย์ พิธีกรรมหรือกิจกรรมทุกอย่าง ไม่ว่าจะทำที่ไหน เมื่อไหร่และทำกับใครหรือไม่ ก็ให้ถือว่าเราทำต่อพระเจ้า รับใช้พระองค์
ลมที่พัดอ่อยๆเริ่มพัดแรงขึ้น กิ่งไม้โยกเอนตามแรงลม เมฆตั้งเค้ามืดมาแต่ไกล ต่างคนต่างร่ำลา ลุกขึ้นเก็บเสื่อ เก้าอี้ ปลดป้าย เก็บของ ยกมือไหว้ ทักทายรอยยิ้มอย่างอบอุ่น
"สำเร็จแล้ว" ผมอุทานเบาๆ อย่างน้อยก็วันนี้ที่จะเห็นกิจกรรมดีๆเกิดขึ้นที่นี่ และอาจถือว่าเป็นการเริ่มต้นบนเส้นทางของการสร้างศรัทธา ปลูกปัญญาเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชน ชาวบ้าน เยาวชนต่อพระศาสนจักรและบ้านเกิดอีกครั้ง
ที่มา: สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า