ศธ. แนะ ท้องถิ่นยึดโมเดลครูสอนดี ช่วยเด็กด้อยโอกาส

“รมว.ศธ.” ย้ำแม้ไม่มีรัฐบาลการปฏิรูปการศึกษาต้องเคลื่อนต่อ แนะท้องถิ่นยึดโมเดลครูสอนดีขยายผลในพื้นที่พัฒนาเด็กยากไร้ให้ได้ เชื่อหากทำสำเร็จครูสอนดีต้นแบบจะเกิดขึ้น 2-3 หมื่นคน สสค.เล็งลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ครอบคลุม 13.8 ล้านคน ดึงระบบซีเอ็มยู หน่วยปฏิบัติการณ์เชิงรุกดูแลเด็กขาดโอกาส ช่วยเด็กไทย 5 ล้าน-พ่อแม่นับ 10 ล้าน

ศธ. แนะ ท้องถิ่นยึดโมเดลครูสอนดี ช่วยเด็กด้อยโอกาส

ในการประชุม “จังหวัดและชุมชนท้องถิ่นจะปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้อย่างไร” จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยูนิเซฟ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด และองค์กรสาธารณประโยชน์ ร่วม 600 คน เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัญหาด้านการศึกษาถือเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน เพราะการศึกษาเป็นการพัฒนาคนให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเป็นเครื่องมือที่สร้างโอกาสให้กับคนได้มีโอกาสเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นหลักคิดในการปฏิรูปการศึกษา จึงได้มีการจัดสมัชชาปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง และได้ร่วมกันขับเคลื่อนให้มีการจัดตั้งสสค. หรือ สสส.ทางการศึกษา

“ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้คำมั่นไว้ 2 เรื่องว่าการปฏิรูปการศึกษาจะต้องเดินหน้าต่อไป และงบประมาณเกี่ยวกับการศึกษานั้นจะต้องถูกวางระบบไว้ชัดเจน โดยเฉพาะ สสค. ที่ขณะนี้อยู่ในกระบวนการขั้นตอนให้มีกฎหมายรองรับ รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณ”

“ผมขอชื่มชม สสค.ที่ตั้งใจจริงในการร่วมกันคัดเลือกครูสอนดี เพราะครูเป็นจุดเริ่มต้นในการฟื้นตัวของทุกอย่างตามคำขวัญของยูเนสโก้ที่ได้ให้ไว้ในปีนี้ เมื่อเรามีความเชื่อว่าครูจะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและต้องเป็นครูเพื่อเด็ก เป็นครูสอนดี จึงมีความจำเป็นที่สังคมจะต้องช่วยกันสร้างฝันให้ครูของเราสอนดี

“ถ้าท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ในนี้ได้กลับไปสร้างกระบวนการและบริบทที่แตกต่างกัน เราก็จะได้ครูสอนดีที่คนยกย่องถึง 20,000 คน ซึ่งจะเป็นการจุดประกายครั้งสำคัญ ของการปฏิรูปการศึกษา และเป็นการสร้างกลไกครูสอนดีเพื่อสร้างโมเดลให้นำไปขยายผลและต่อยอด” นายชินวรณ์กล่าว

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่านศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางและนโยบายการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวถึงสถานการณ์เด็กเยาวชนที่ขาดโอกาสทางสังคม รวมถึงกลุ่มแรงงานขั้นต่ำ จำนวนถึง 13.8 ล้านคน จำแนกได้ 5 กลุ่มหลัก ดังนี้ 

กลุ่มเด็กนอกระบบการศึกษา จำนวน 2-3 ล้านคน เด็กพิการทางกายและทางการเจริญทางสมอง จำนวน 1.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10 ของเด็กในระบบการศึกษาที่มีอยู่ประมาณ 14-15 ล้านคน เด็กชนบทห่างไกล จำนวน 1.6 แสนคน เด็กเยาวชนที่ต้องคดี จำนวน 50,000 คน และอีกจำนวน 10,000 คน ที่พ้นจากสถานพินิจในทุกปี ซึ่งต้องการทักษะอาชีพ และ กลุ่มแรงงานขั้นต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่หลุดจากระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพ จำนวน 8.8 ล้านคน

การลดความเหลื่อมล้ำด้วยการ “คืนโอกาสสู่สังคม” รัฐบาลจึงมอบหมายให้สสค.ดำเนินการทำใน 4 มาตรการสำคัญ คือ ป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟู และ ประกันอนาคต ด้วยการขับเคลื่อนร่วมกันทั้งภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการสสค.กล่าวว่า ในการปฏิรูปการเรียนรู้ของสสค.จะดำเนินการให้ครอบคลุมถึงเด็กที่มีโอกาสหลุดออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการออกจากระบบการศึกษาก่อนกำหนดมี 4 ปัจจัย คือ ความยากจน โดยพบว่ามีเด็กยากจนถึง 50,000 คน ที่ครอบครัวมีรายได้ไม่ถึง 1,600 บาท/เดือน เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงของการลาออกกลางคัน สภาพครอบครัว จากปัญหาพ่อแม่แยกทางกันเฉลี่ยร้อยละ 10-15 คิดเป็นจำนวน 10,000-15,000 คน ที่มีความบอบช้ำทางจิตใจและอาจนำสู่การมีพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆทั้งเรื่องเพศ ความรุนแรง 

ผลสัมฤทธิ์การเรียนต่ำ หรือต่ำกว่า 2.0 คิดเป็นร้อยละ 10 ของในแต่ละโรงเรียน โดยมีความรู้สึกล้มเหลวทางการศึกษา และ สภาพแวดล้อมในชุมชนที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ในแต่ละจังหวัดโดยเฉลี่ยยังมีเด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ ได้แก่ เด็กที่มีที่บกพร่องการเรียนรู้ (ld) สมาธิสั้น (adhd) หรือออทิสติกที่ไม่รุนแรงจำนวนถึง 20,000-25,000 คน รวมถึงภาวะการผลิตซ้ำของแม่วัยรุ่น ที่เริ่มมีคุณยายวัย 30 เกิดขึ้น โดยมีแม่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 19 ปี ทำคลอดเฉลี่ย 3-4 คน/วัน เด็กเหล่านี้ต้องการระบบการช่วยเหลือเป็นพิเศษ

“นับเป็นครั้งแรกที่จังหวัดและท้องถิ่นได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนด้านการศึกษา โดยเฉพาะการเกิดหน่วยจัดการดูแลรายกรณี ทั้งในระดับโรงเรียนและชุนชน หรือที่เรียกว่า “case management unit” (cmu) ซึ่งจะทำหน้าที่รวมทุกเรื่อง ตั้งแต่ระบบสวัสดิการ การประกบตัวในเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษา การสร้างงานสร้างรายได้ รวมถึงการส่งต่อเด็ก ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาระบบในการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร ภายใต้การขับเคลื่อนโดย สสค.ในการประสานและปลดล็อคระบบที่เป็นอุปสรรคในการทำงานร่วมกับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ”

“โดยเป้าหมายในปี 2554 คือ การช่วยเหลือเยาวชนผู้ด้อยโอกาส 30,000-50,000 คน และเมื่อขยายผลเต็มรูปแบบจะส่งผลต่อเด็ก 5 ล้านคน และพ่อแม่กว่า 10 ล้านคน ที่จะได้ประโยชน์จากระบบดูแลนี้” ที่ปรึกษาสสค.กล่าว
 

ที่มา: สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน
 

Shares:
QR Code :
QR Code