‘วิ่ง’ แล้ว ‘ท้อ’ จะไปต่ออย่างไร…?

เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


‘วิ่ง’ แล้ว ‘ท้อ’ จะไปต่ออย่างไร...? thaihealth


"…การกีฬานั้นมีหลักสำคัญอยู่ที่ว่าจะต้องฝึกฝนตนเองให้แข็งแรง ให้มีความสามารถในกีฬาของตน เพื่อจะพร้อมที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ในการแข่งขัน และได้ชัยชนะมา ถึงเวลาเข้าแข่งขันก็จะต้องตั้งสติให้ดี เพื่อให้ปฏิบัติได้เต็มที่ตามที่ได้ฝึกฝนมา…" ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่นักกีฬาที่จะเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๕ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๒


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใส่พระราชหฤทัยกับการออกกำลังพระวรกายอยู่เสมอ พระองค์ทรงสนพระทัยในกีฬาเกือบทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่กีฬาจ๊อกกิ้ง หรือทรงพระดำเนินเร็วเป็นระยะทางหลายร้อยเมตร เพื่อให้พระวรกายของพระองค์แข็งแรง พร้อมที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปในสถานที่ต่างๆ


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่น้อมสานต่อพระราชปณิธานของพระองค์ท่านที่ทรงมุ่งหวังให้ประชาชนคนไทยทุกคนมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงดีกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนกิจกรรมทางกาย โดยชวนประชาชนขยับร่างกายเพื่อป้องกันการเนือยนิ่ง จัดกิจกรรมวิ่งมาอย่างมากมาย รวมถึงกิจกรรม ‘Thai Health Day Run 2016 วิ่งสู่ชีวิตใหม่’ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2559 ที่จะถึงนี้


 ‘การวิ่ง’ สำหรับผู้ที่ไม่เคยลงสนามวิ่งระยะไกลมาก่อน และมีการเตรียมความพร้อมได้ไม่ดีนัก อาจทำให้นักวิ่งต้องพบเจอกับความรู้สึกทางกายและทางใจที่โต้เถียงกัน หรือท้อถอยระหว่างทาง ก่อนที่นักวิ่งจะพาตัวเองไปสู่เป้าหมาย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการน้อมนำพระบรมราโชวาทที่พระองค์ท่านพระราชทานไว้ นักวิ่งจึงไม่ควรละเลยการฝึกฝน และการเตรียมความพร้อมร่างกายให้ดี เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดความรู้สึก วิ่งแล้ว ‘ท้อ’ จะไปต่ออย่างไร


‘วิ่ง’ แล้ว ‘ท้อ’ จะไปต่ออย่างไร...? thaihealthอาจารย์ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิแผนกิจกรรมทางกาย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ได้อธิบายว่า การวิ่งระยะไกลไม่ใช่การแข่งขันเพื่อเอาชนะคนอื่น แต่เป็นการเอาชนะตัวเอง ทั้งทางกาย ใจ สภาพแวดล้อม และความกดดัน ดังนั้นการฝึกฝนก่อนลงสนามจริงจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะร่างกายต้องมีความแข็งแรง มีความอดทน จิตใจต้องมีความมุ่งมั่น ที่สามารถวิ่งสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ให้ได้ ในทุกๆ ฝีก้าวควรเต็มไปด้วยสติ และสมาธิที่เป็นตัวควบคุม โดยสามารถนำหลักการปฏิบัติจากการวิ่งเหล่านี้ ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อยามที่พบเจอกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้อีกด้วย


อ.ณรงค์ ยังบอกอีกว่า หลังจากที่ทราบข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทางสมาพันธ์ชมรมฯ ร่วมกับ สสส. และสวนลุมพินี ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมThai Health Day Run 2016 ทำดีตามรอยพ่อ #จิตอาสาพลังแผ่นดินขึ้น โดยมีกิจกรรมต่างๆ เช่น การเก็บขยะ เปิดให้คำปรึกษาด้านโภชนาการและการออกกำลังกาย ให้คำปรึกษาเลิกบุหรี่ บริการตัดผมฟรี เป็นต้น อีกทั้งภาคีเครือข่ายทางชมรมวิ่งทั่วประเทศ ยังได้ขานรับพร้อมสานต่อการทำจิตสาธารณะ เนื่องจากการทำความดีสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องรอ


“การเสียเหงื่อแต่ละครั้งจากการวิ่ง ชีวิตจะเปลี่ยนไป สุขภาพกาย สุขภาพใจดีขึ้น อีกทั้งได้มีเครือข่ายสังคมกลุ่มวิ่งที่น่ารัก และเป็นกันเอง ทั้งยังได้เพิ่มจิตวิญญาณความเป็นจิตสาธารณะ เพราะการวิ่งนอกจากจะได้ประโยชน์ต่อตัวเองแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือสังคมได้อีกด้วย” อาจารย์ณรงค์ กล่าว


‘วิ่ง’ แล้ว ‘ท้อ’ จะไปต่ออย่างไร...? thaihealthขณะที่ นักวิ่งสาวมาราธอน อุบลทิพย์ โชติกกำธร หรือนุ๊กกี้ นักวิ่งระยะทางไกลที่เคยวิ่งในระยะ 100 miles thailand (167k) เชียงราย – เชียงใหม่ ได้เล่าถึงเทคนิคการเตรียมความพร้อมร่างกาย และการจัดการความรู้สึกท้อ เมื่ออยู่บนสนามวิ่งว่า ก่อนลงสนามจริงอย่างน้อย 4-5 เดือน ตนจะต้องวางแผนโปรแกรมการฝึกซ้อมโดยเทรนเนอร์ เมื่อต้องก้าวเท้าลงสนามจริงแล้ว หากเกิดความรู้สึกที่ขัดแย้งกันเองระหว่างสภาพร่างกายและจิตใจ ก็มักจะเตือนตัวเองด้วยการนึกถึงคนที่รออยู่ที่เส้นชัย รวมถึงกำลังใจจากคนรอบข้างที่มีให้กันในยามที่ฝึกซ้อม แม้ในบางครั้งจะเหนื่อยและท้อจนแทบอยากจะหยุดในทุกย่างก้าวก็ตาม แต่สุดท้ายก็ต้องพาตัวเองไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่นเดียวกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ สุดท้ายแล้วเราก็ต้องก้าวผ่านสิ่งเหล่านั้นไปให้ได้เช่นกัน


‘วิ่ง’ แล้ว ‘ท้อ’ จะไปต่ออย่างไร...? thaihealthมาที่นักวิ่งหนุ่มที่มีประสบการณ์ในสนามวิ่งทั้งเส้นทางถนนและเส้นทางเทรล ซึ่งคว้ารางวัลมาแล้วมากมาย อย่าง สุภัทร บุญเจือ หรือแอล ได้เล่าถึงการเอาชนะจิตใจตนเองก่อนที่จะพิชิตเส้นชัยว่า การลงสนามวิ่งนั้นร่างกายและจิตใจจะต้องมีความพร้อมต่อทุกสถานการณ์ และหาทางออกต่อสิ่งต่างๆ ให้ดีที่สุด เพราะเราต่อสู้กับตัวเองตลอดการแข่งขัน ไม่ใช่เพียงแค่ต่อสู้กับร่างกายตัวเองอย่างเดียว แต่การต่อสู้กับจิตใจก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน ตนมักจะนึกถึงคำพูดของรุ่นพี่ที่สอนไว้ว่า “จงอย่าตัดสินความรู้สึกทั้งหมดขณะเราเหนื่อยหรือท้อ ให้หยุดพัก หยุดคิดให้หายเหนื่อยแล้วจึงสู้ต่อ…”


นอกจากนี้ สุภัทร ยังฝากให้กำลังใจต่อนักวิ่งทุกคนด้วยว่า การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดี ไม่ว่าจะออกกำลังกายด้วยวิธีไหนก็ตามย่อมได้ประโยชน์กับตัวเอง อาจเริ่มจากการตั้งเป้าหมายเล็กๆ ไว้ก่อน เมื่อเราลองทำไปเรื่อยๆ จะเกิดความสนุกและมีความสุขในสิ่งนั้น แล้วค่อยเพิ่มเป้าหมายให้ค่อยๆ ใหญ่ขึ้น เพียงเท่านี้ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน  


ทราบอย่างนี้แล้ว เหล่านักวิ่งอย่าลืมฝึกฝนร่างกายให้อดทนแข็งแรง เตรียมพร้อมมาอย่างดี ก่อนออกวิ่งสู้เป้าหมายไปพร้อมๆ กันในงาน Thaihealth Day Run 2016 วันที่ 13 พฤศจิกายน 2559 ณ สนามเทพหัสดิน ภายในสนามกีฬาแห่งชาตินะคะ


 


 


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code