วิ่งแล้วรอด (ตาย) สู่หลักคิดสร้างดีกว่าซ่อม
ที่มา : มติชน
ภาพประกอบจาก สสส.
วิ่งแล้วรอด (ตาย) สู่หลักคิดสร้างดีกว่าซ่อม ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม
"คิดว่าตัวเองเป็นซูเปอร์แมน ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย กินอาหารไม่เป็นเวลา ดื่มหนัก" คือชีวิตติดประมาทที่เกือบทำให้ไม่มี "ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม" ในวันนี้
ถ้าไม่วิ่งวันนั้นผมคงตายไปแล้ว
เวลานั้นในวัย 40 กว่า ๆ จากที่ผมเคยเชื่อว่าตัวเอง แข็งแรง ก็ต้องคิดใหม่ เมื่อร่างกายเริ่มส่งสัญญาณ อันตราย หลายครั้งที่เกิดวูบ หน้ามืด แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ถึงขั้นหมดสติไปแบบไม่รู้ตัว เมื่อตรวจจึงได้รู้ว่า นี่คืออาการของหัวใจเต้นผิดปกติ จากเส้นเลือดหัวใจตีบ
จะเรียกเป็นความบังเอิญก็ได้ ในขณะที่ พยายามหาตัวช่วยกู้วิกฤตสุขภาพให้กับตัวเอง จนได้มาพบกับหนังสือ "เอเชีย รันเนอร์" ก็ได้รู้ว่า การวิ่งนี่แหละจะทำให้ผมมีชีวิตรอด
"ร่างกาย สร้างมาเพื่อเคลื่อนไหว แต่ ทุกวันนี้คนเราใช้ชีวิตติดอยู่กับที่ มีชีวิตที่ เฉื่อยชา เนือยนิ่ง สุขภาพก็จะแย่ลง วิ่งจึงเป็น พื้นฐานการออกกำลังกาย ที่ทำได้ง่าย ทำที่ไหนก็ได้"
"วิ่งสู่ชีวิตใหม่" ดึงคนหน้าใหม่ใส่ใจสุขภาพ ผลของการเอาจริงเอาจังกับการวิ่ง คือ ร่างกาย ไม่แสดงอาการเหมือนที่เคยเป็นมาอีกเลย ผมเลยตั้งใจที่จะทำให้คนไทยใส่ใจกับการออกกำลังกายด้วยการวิ่งให้มากขึ้น เลยถือโอกาสเดินสายบรรยายเรื่องวิ่ง ทั่วประเทศ และสามารถรวมตัวกันเป็น "สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย" จนเกิดประวัติศาสตร์งานวิ่ง ครั้งสำคัญของไทยอย่าง "วิ่งลอยฟ้าเฉลิมพระเกียรติ" ในปี 2530 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมนับแสนคนเลยทีเดียว
ต่อมา สสส. ก็จัดงานวิ่งที่ใช้ชื่อ "วิ่งสู่ชีวิตใหม่" หรือ ThaiHealth Day Run เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ยิ่งช่วยปลุกกระแส ดึงนักวิ่งหน้าใหม่เพิ่มขึ้น เท่ากับเป็น การตอกย้ำในเป้าหมายที่ทำให้คนไทยใส่ใจสุขภาพ
"สร้างดีกว่าซ่อม" กับจุดเปลี่ยนเพื่อสุขภาพคนไทย เป็นเวลา 18 ปี ที่ผมได้ทำหน้าที่ผลักดันประเด็นสุขภาพร่วมกับ สสส. จนมีส่วนทำให้หลายเรื่องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเฉพาะการรณรงค์ลดอบายมุขทั้ง เหล้า บุหรี่ การพนัน ยาเสพติด การลดอุบัติเหตุ การกินอาหารถูกสุขลักษณะ อีกด้านที่เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน คือความพยายามกระตุ้นให้สังคมหันมาใส่ใจกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง สิ่งนี้ยังเป็นรูปแบบที่ทั่วโลกตื่นตัวอย่างมาก เพราะ เป็นวิธีการง่าย ๆ ที่ช่วยจัดการกับภัยคุกคาม ต่อสุขภาพประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกบทบาทที่ภาคภูมิใจ คือ การได้ทำหน้าที่ประธานกรรมการกำกับทิศสำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม หรือ Social Marketing เพื่อทำการตลาดส่งข้อมูลความจริงเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพแก่ประชาชน จนทำให้สังคมไทยรู้จักโฆษณา "จนเครียด กินเหล้า" "ให้เหล้าเท่ากับแช่ง" และสื่อรณรงค์ กลับบ้านปลอดภัยช่วงเทศกาลสิ่งเหล่านี้คือความพยายามของ สสส. ที่สามารถเปลี่ยนสังคมได้ในชั่วข้ามคืน
ขยับร่างกาย ก่อนสายเกินแก้"ชวนคน ไปกินเหล้า ง่ายกว่าชวนให้เลิกกิน ดังนั้น สสส. ต้องทำงานสวนกระแสสังคม โดยเฉพาะต้องมารับมือกับกลุ่มทุนต่าง ๆ ที่ทุ่มโฆษณา ดึงดูดใจให้ประชาชนเข้าถึงอบายมุขด้วยวิธีใหม่ ที่เห็นชัด ๆ ก็บุหรี่ไฟฟ้า นี่จึงเป็นความยากที่ สสส. ต้องพยายามทำให้สังคมตระหนักในการลด ละ เลิก สิ่งเหล่านี้และทำให้ทุกคนเชื่อในแนวทางสร้างดีกว่าซ่อม คือ ทำให้สุขภาพแข็งแรงโดยไม่ต้องรอให้ป่วย"
ถึงตรงนี้ผมจึงอยากชวนให้ทุกคนคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของร่างกาย ทุกคนมีหน้าที่ต้องดูแลสุขภาพ กายใจ ให้เข้มแข็ง ไม่ใช่ไปทำร้ายร่างกายด้วยอบายมุข และการใช้ชีวิตอยู่อย่าง เนือยนิ่ง ไม่เคลื่อนไหวออกกำลังกายเพราะหากจะรอให้ป่วยแล้วไปรักษาก็คงสายเกินแก้แล้ว