“วิ่งสมาธิ” ฝึกจิตด้วยการขยับกาย
ที่มา : มติชน
ภาพโดย สสส.
"จิตที่แข็งแกร่งต้องอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง ร่างกายจะแข็งแรงได้ต้องเคลื่อนไหว แต่ถ้าอยาก จิตแข็งแรงก็ต้องฝึกให้สงบนิ่งได้ในทุกสภาวะ"
แนวคิดของกิจกรรมการวิ่งที่บูรณาการหลักการพัฒนากายและพัฒนาใจ นำเรื่องสมาธิเข้ามาผนวกกับการวิ่ง กลายเป็น "วิ่งสมาธิ" (Jogging Meditation) ที่มีการกำหนดลมหายใจไปพร้อมๆ กับการวิ่ง นำไปสู่การจัดงาน "เดิน-วิ่ง สมาธิ วิสาขะ พุทธบูชา" โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสมาพันธ์ชมรมเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพไทย และภาคีเครือข่าย จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 18
อาจารย์ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ สสส. อธิบายความพิเศษของการวิ่งในวันวิสาขบูชาว่า ในแต่ละปีการจัดงานวิ่งในเมืองไทยมีมากกว่า 1,400 รายการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการแข่งขัน มุ่งหวังที่ตัวรางวัล แต่การวิ่งสมาธิไม่มีการแข่งขัน
"จุดประสงค์ของการวิ่งสมาธิในทุกปีคือไม่มีการแข่งขัน เพราะการมาวิ่งเหมือนกับเรามาทำบุญ มารับศีล มาฟังธรรม แล้วก็อาจจะเวียนเทียน เท่ากับว่าวันนี้เป็นการทำบุญใหญ่ประจำปี เหมือนเป็นการชำระล้างใจ กาย ของเราให้สว่าง สะอาด สงบ ความพิเศษของปีนี้คือ การจัดงานที่สวนพุทธมณฑล ซึ่งมีบรรยากาศที่เอื้อต่อการวิ่งสมาธิคือใกล้สถานที่จำลองสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" อาจารย์ณรงค์ กล่าว
ในสัปดาห์แห่งวันวิสาขบูชา มีกิจกรรมเดิน-วิ่งสมาธิพร้อมกันทั่วประเทศใน 58 จังหวัด 85 สนาม นักวิ่งเข้าร่วมจำนวน 75,000 คน และเป็นที่น่ายินดีที่ปัจจุบันงานเดินวิ่งสมาธิเติบใหญ่จนถึงมีการไปจัดกันในหมู่ชาวพุทธที่อยู่ในต่างแดน ในปี 2562 มีการจัดงานวิ่งสมาธิใน 2 ประเทศ คือ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และสาธารณรัฐเซาท์ ซูดาน ในทวีปแอฟริกา
กิจกรรมที่ช่วยกระตุกความคิดให้เรารู้ตัว รู้สติ อยู่กับปัจจุบันอย่าง "วิ่งสมาธิ" แตกต่างจากสนามวิ่ง อื่นๆ อย่างไร? ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. อธิบายให้เข้าใจคอนเซ็ปต์ของการวิ่งสมาธิอย่างง่ายว่า เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายในขณะที่จิตนิ่งสงบ ควบคุมการหายใจเข้าออกอย่างสม่ำเสมอไปพร้อมกับการเดินหรือวิ่ง หากฝึกทำบ่อยๆ ทุกอิริยาบถเต็มไปด้วยสติและสมาธิ ก็จะทำให้กายแข็งแรงจิตแข็งแกร่ง ที่ผ่านมา สสส.ได้จัดให้มีการฝึกอบรมให้ความรู้เรื่องการวิ่งสมาธิจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการวิ่ง เช่น ครูดิน-สถาวร จันทร์ผ่องศรี ที่นำแนวคิดนี้สอนในสวนสาธารณะและหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง มีกิจกรรม วิ่งสมาธิ ซิตี้รัน ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการฝึกสมาธิและฝึกจิตให้จดจ่อกับปัจจุบันผ่านการวิ่งลัดเลาะไปตามเมือง
ขณะที่ รศ.ดร.โกศล มีคุณ ประธานกรรมการกำกับทิศทาง โครงการส่งเสริมกิจกรรมการวิ่งเพื่อสุขภาพไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า โครงการนี้ ส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น สนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนลด ละ เลิก อบายมุข โดยการเชื่อมโยงการมีกิจกรรมทางกายด้วยการเดิน-วิ่งเข้ากับการปฏิบัติบูชาทางศาสนา หรือการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างมีสติ คือ การรู้สึกตัวตลอดเวลา กำหนดสติทุกอิริยาบถโดยใช้หลักการเดียวกับการเดินจงกรม เมื่อเท้าก้าวลงพื้น ให้มีการกำหนดลมหายใจไปบริเวณดังกล่าว นักวิ่งจะได้เรียนรู้ที่จะ ผสานกายกับจิตเป็นหนึ่งเดียวกันผ่านการวิ่ง ตลอดจน การเคลื่อนไหวร่างกายในขณะที่จิตนิ่งสงบ มีการควบคุมการหายใจเข้าออกอย่างสม่ำเสมอ
"ความรู้สึกของงานเดินวิ่งสมาธิ พอเราได้ฟังเทศน์สั้นๆ ก่อนวิ่ง เราก็ตั้งจิตว่าจะตั้งใจ ข้อแตกต่างก็คือเรากำหนดจิตอยู่กับตัวเรา ตั้งใจมาปฏิบัติในวันสำคัญ เราซ้อมก็มาฝึกที่สวนพุทธมณฑลอยู่แล้ว แข่งกับตัวเองไม่นำตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร ผลก็คือชนะตัวเอง ไม่ต้องแข่งกับใคร โดยส่วนตัว เชื่อว่าการวิ่งช่วยเรื่องสมาธิ ขณะที่วิ่งก็จดจ่อกับร่างกายให้มากที่สุด ไม่คิดฟุ้งซ่าน พยายามจดจ่อกับร่างกายของตัวเอง เริ่มวิ่งได้ 1 ปี 5 เดือนแล้ว พอมาเริ่มวิ่ง สิ่งที่เปลี่ยนไปด้านร่างกายคือประจำเดือนมาเป็นปกติ สุขภาพดีขึ้น อารมณ์ดีขึ้น มีสมาธิทำงานมากขึ้น และใจเย็นขึ้นด้วย" รำไพร วันวานย์ วัย 41 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัว ที่วิ่งเสร็จแล้วมาร่วมตักบาตรเป็นพุทธบูชาเผยความรู้สึก
รำไพร บอกว่า ร่วมวิ่งเนื่องในวันวิสาขบูชาครั้งแรก ในระยะทาง 4.6 กม. ที่บรรยากาศงานเดิน-วิ่งสมาธิจะแตกต่าง จากบรรยากาศงานวิ่งอื่นๆ ที่เคยร่วม นอกจากไม่มีการแข่งขันแล้ว ยังเตรียมกายเตรียมใจให้กับนักวิ่งด้วยการสวดมนต์ ฟังธรรมะบทสั้นๆ ก่อนวิ่งซึ่งทำให้จิตใจสงบและมีสมาธิจดจ่อมากขึ้น คิดว่าจะนำหลักการนี้ไปปรับใช้ในการวิ่งของตนเองต่อไป
เพราะการพัฒนาในตนเองมีอยู่ 2 ส่วน ร่างกายที่แข็งแรงต้องบำรุงอาหารและออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ ไม่นำสิ่งที่เป็นพิษที่บั่นทอนความแข็งแรงเข้าไปในร่างกาย ต่อมาคือจิตใจ เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องฝึกฝน จิตที่มั่นคงดีย่อมมีผลดีต่อเราและคนอื่น เมื่อ ประคองจิตให้ตรงแล้ว ก็พร้อมพัฒนากาย และพัฒนาใจให้เจริญรุ่งเรืองไปพร้อมๆ กัน