‘วิ่งสมาธิ’ ประโยชน์คูณสอง

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์


'วิ่งสมาธิ' ประโยชน์คูณสอง thaihealth


แฟ้มภาพ


คำกล่าวที่ว่า "จิตที่แข็งแกร่งอยู่ในกายที่แข็งแรง จิตจะแข็งแรงได้ต้องสงบนิ่ง ส่วนกายจะแข็งแรงได้ต้องเคลื่อนไหว" เนื่องในวันวิสาขบูชา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายชมรมเดิน-วิ่ง เพื่อสุขภาพไทย จัดงาน เดิน-วิ่งสมาธิ วิสาขะ พุทธบูชา ถือศีลห้า ลด ละ อบายมุข ครั้งที่ 16 ประจำปี 2560 ซึ่งจัดขึ้นทั่วประเทศเป็นประจำทุกปี


ในปีนี้จัดในพื้นที่ ทั้งหมด 58 จังหวัด จำนวน 80 สนาม มีนักวิ่งเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 50,000 คนวัตถุประสงค์ของการจัดงานเดิน-วิ่งสมาธิ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพกายและจิตที่ดีผ่านการมีกิจกรรมทางกายด้วยการเดินหรือวิ่ง สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ จัดขึ้นที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เส้นทางวิ่งผ่าน 2 สวนสาธารณะ ได้แก่ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ)


'วิ่งสมาธิ' ประโยชน์คูณสอง thaihealth


"ความพิเศษของการวิ่งในวันวิสาขบูชา ว่า เป็นการนำเรื่องสมาธิเข้าผนวกกับการวิ่ง กลายเป็น "วิ่งสมาธิ" (Jogging Meditation) ที่มีการกำหนดลมหายใจไปพร้อม ๆ กับการวิ่งด้วย ซึ่งบางคนอาจจะรู้สึกว่าเป็นของแปลกใหม่ และมองว่าไม่น่าจะไปด้วยกันได้ แต่ความจริงแล้วการวิ่งสมาธิเป็นที่รู้จักในหมู่นักวิ่งมานานนับสิบปีแล้ว" อ.ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สสส.บอกเล่าและว่า คอนเซปต์ของการวิ่งสมาธิคือเรื่องกายและจิตจะต้องอยู่ด้วยกัน กายจะแข็งแรงต้องออกกำลังกาย เช่น การวิ่งเป็นต้น ส่วนจิตจะแข็งแกร่งก็ต้องฝึก การฝึกจิตก็คือการฝึกทำสมาธิ ถ้าฝึกทำบ่อย ๆ ทุกอิริยาบถเต็มไปด้วยสติและสมาธิ ก็จะทำให้กายแข็งแรง จิตแข็งแกร่ง จึงเป็นที่มาของการเน้นว่าในการที่เราจะมาวิ่งในวันสำคัญอย่างนี้เราจะต้องมีสมาธิเป็นแก่น


"ที่ผ่านมา สสส.มีการฝึกอบรมให้ความรู้เรื่องการวิ่งสมาธิในหลากหลายวิธี แต่สำหรับปีนี้มีการจัดการอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด โดยการฝึกอบรมจะใช้หลักการฝึกสมาธิในพระพุทธศาสนา โดยนิมนต์พระอาจารย์เอกชัย เป็นพระอาจารย์สิริญาโณ จ.เชียงราย มาเริ่มต้นการฝึกให้ จากนั้นเรามองว่าสมาธิจะนำมาใช้ให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร และได้เชิญ ดร.พิชิต เมืองนาโพธิ์ อาจารย์ภาควิทยาศาสตร์การกีฬา คณะพลศึกษา ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งถือเป็นนักจิตวิทยาระดับต้นของเมืองไทย มาบรรยายเรื่องการเชื่อมสมาธิในพระพุทธศาสนากับการออกกำลังกาย จากนั้นก็ให้วิทยากรของเราเช่น ครูดิน-สถาวร จันทร์ผ่องศรี ไปสอนในสวนสาธารณะต่าง ๆ ถ้าเราวิ่งอย่างมีสมาธิ เราก็จะวิ่งอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และถ้าไปถึงนักวิ่งเพื่อการแข่งขัน เขาก็สามารถวิ่งไปจน ถึงรู้สึกความพลิ้ว อ่อนไหวของร่างกาย นำไปสู่สมรรถภาพของร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้นเป็นลำดับ"


'วิ่งสมาธิ' ประโยชน์คูณสอง thaihealth


ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในแต่ละปีการจัดงานวิ่งในเมืองไทยมีมากกว่า 700 รายการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการแข่งขันมุ่งหวังที่ตัวรางวัล แต่การวิ่งสมาธิไม่มีการแข่งขัน จุดประสงค์ของการวิ่งสมาธิในทุกปีคือไม่มีการแข่งขัน เพราะการมาวิ่งเหมือนกับเรามาทำบุญ มารับศีล มาฟังธรรม แล้วก็อาจจะเวียนเทียน เท่ากับว่าวันนี้เป็นการทำบุญใหญ่ประจำปี เหมือนเป็นการชำระล้างใจ กาย ของเราให้สว่าง สะอาด สงบ


อาศิรา พนาราม พนักงานบริษัท อายุ 39 ปี นักวิ่งที่เข้าร่วมกิจกรรมวิ่งสมาธิเป็นครั้งแรก กล่าวว่า เธอเริ่มวิ่งอย่างจริงจังตั้งแต่เดือนส.ค. ปี 2559 ที่ผ่านมา และร่วมรายการวิ่งที่สนับสนุนโดย สสส.เป็นประจำ สำหรับบรรยากาศงานเดิน-วิ่งสมาธิจะแตกต่างจากบรรยากาศงานวิ่งอื่น ๆ ที่เคยร่วม นอกจากไม่มีการแข่งขันแล้ว ยังมีแต่ความน่ารัก และเตรียมกายเตรียมใจให้กับนักวิ่งด้วยการสวดมนต์ก่อนวิ่ง ซึ่งทำให้จิตใจสงบ


'วิ่งสมาธิ' ประโยชน์คูณสอง thaihealth


"ส่วนตัวยังไม่แน่ใจว่าการวิ่งช่วยเรื่องสมาธิหรือเปล่า เพราะเป็นคนสมาธิดีอยู่แล้ว แต่ที่แน่ ๆ การวิ่งช่วยเรื่องความมุ่งมั่น ให้ทำบางสิ่งบางอย่างอย่างต่อเนื่องให้ได้ พอคิดว่าจะวิ่งแล้วก็มีอะไรบางอย่างที่เราจะต้องทำให้ได้ เหมือนทำให้เรามีแรงฮึดขึ้นในเรื่องอื่น ๆ ด้วย ขณะที่วิ่งก็จดจ่อกับร่างกายให้มากที่สุด ไม่ฟุ้งซ่าน พยายามจดจ่อกับร่างกายของเราว่าเราวิ่งถูกต้องไหม เกร็งหรือเปล่า หายใจยังไง มันไม่ได้ทำให้เหนื่อยน้อยลง แต่มันทำให้เราอยู่กับมันได้นานขึ้น" อาศิรา กล่าวทิ้งท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code