วิธีตามใจลูกหลานแบบพอดี

ที่มา : SOOK Magazine No.67


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


วิธีตามใจลูกหลานแบบพอดี thaihealth


เมื่อพูดถึงเรื่องการตามใจ ปัญหาพ่อแม่ตามใจลูก ปู่ย่าตายายตามใจหลานนั้นพบเห็นกันในทุกยุคสมัย เพราะทั้งรักทั้งหลงจนบางครั้งลืมคิดไปว่า หากตามใจในบางเรื่องมากเกินไปอาจเกิดผลเสียต่อพฤติกรรม ความคิด และการใช้ชีวิตเมื่อเด็กเติบโตขึ้นได้


วิธีเลี้ยงลูกไม่ให้กลายเป็นเด็กที่ต้องถูกตามใจไปตลอด


1. ใกล้ชิด อบอุ่น เลี้ยงลูกเอง มีปฏิสัมพันธ์ให้มากที่สุด ได้แก่ พูดคุย หยอกเล่น กอด ชี้ชวน ชวนมอง ชวนเล่น อ่านนิทานภาพ ใช้เวลาคุณภาพกับลูกในช่วงแรกเกิดถึง 5 ขวบ โดยปู่ย่าตายาย พี่เลี้ยงเป็นเพียงผู้ช่วยเท่านั้น


2. ความละเอียดอ่อน แบ่งออกเป็น


– ละเอียดอ่อนทางคำพูด คือ ไม่ใช้คำพูดแรง คำพูดที่ลดคุณค่าในตัวเด็ก บ้านที่มีการใช้คำพูดแรงบ่อย เด็กจะก้าวร้าวมาก มีพฤติกรรมซึมซับความรุนแรงทางคำพูด ต่อต้านสูง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรสำรวจตนเองว่าเป็นคนติดพูดแรงหรือไม่ ควรจะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยน และพยายามไม่พูดเวลามีอารมณ์โกรธ


– ละเอียดอ่อนทางอารมณ์ ไม่ตอบสนองเมื่อลูกก้าวร้าวด้วยอารมณ์ที่ กาวร้าว เดือดดาล ไม่ระเบิดอารมณ์ให้ลูกเห็น เพราะจะส่งผลต่อพัฒนาการทางจิตใจอย่างมาก เด็กจะก้าวร้าวเป็นคนอารมณ์แปรปรวน จัดการอารมณ์ได้ไม่ดี คุณพ่อคุณแม่ควรตระหนักถึงความสำคัญและค่อย ๆ ปรับตนเอง


– ละเอียดอ่อนทางการปรับพฤติกรรม คือ ลงโทษด้วยวิธีที่เหมาะสม ให้รู้จักรอคอยได้โดยงดสิ่งที่ลูกต้องการ เช่น หากก้าวร้าว ร้องตะโกน หรือตี แม่จะลงโทษโดยงดสิ่งที่ชอบ อาจจะงดขนมหรืองดการดูทีวี เป็นต้น โดยมีการตกลงไว้ว่า ถ้าทำผิดจะต้องงดสิ่งนี้ ทำอย่างจริงจังและมั่นคง ไม่ใช้การด่าว่า ตี ตะคอก


– ละเอียดอ่อนทางการกระตุ้นพัฒนาการ เริ่มได้ตั้งแต่แรกเกิด ชวนหยอกเล่น พูดคุยกับลูก ร้องเพลงกล่อม อ่านนิทานให้ฟัง เมื่อลูกเริ่มหยิบจับของได้ นั่งได้ ชวนเล่นบทบาทสมมุติ ปั้นดินน้ำมัน เล่นวาดเขียนระบายสี เมื่อลูกเข้าสู่วัยอนุบาล พาลูกทำกิจกรรมที่ทำได้ อาจเป็นทานอาหารด้วยกัน ทำขนมทานเอง ปลูกต้นไม้เล่นปีนป่าย ชวนอ่านนิทานภาพสวย ๆ และช่วงก่อน 2 ขวบ ควรหลีกเลี่ยงการใช้เทคโนโลยี มือถือ แท็บเล็ต เพราะอาจทำให้สมาธิสั้น เรียนรู้ช้า อารมณ์หงุดหงิดง่าย


วิธีตามใจลูกหลานแบบพอดี


การตามใจลูกหลานแบบพอดีในช่วงแบเบาะอาจยังไม่ส่งผลต่อเด็กมากนัก แต่เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัย 3-5 ขวบ การจะตามใจมากน้อยแค่ไหนให้พิจารณาตามความเหมาะสมและโอกาส เช่น ให้ตามที่ขอบ้างสลับกับให้รอ หรือสลับกับไม่ให้ตามต้องการถ้าของสิ่งนั้นมีแล้วก็ไม่ให้ถ้ายังไม่มีก็อาจให้รอก่อน ถ้าเป็นอาหารก็ดูว่า เด็กหิวหรือไม่ สำคัญ คือ ควรให้มีการรอคอยบ้างตามความเหมาะสม ทั้งเรื่องของเล่น ขนม อย่าให้ทันทีทุกครั้ง เช่น ถ้าไปเดินห้างเห็นขนมหรือของเล่น อาจให้รอตอนกลับ อาจจะให้รอครั้งหน้าที่มา หรืออาจจะเป็นวันพรุ่งนี้


ที่สำคัญคือ ต้องรับมือให้เป็นหากลูกหลานมีอาการร้องไห้งอแง โวยวาย (Tantrum) โดยตั้งสติ ก่อนปรับพฤติกรรมเด็ก อย่าใช้อารมณ์ และเน้นใช้ความสม่ำเสมอ นั่น คือ ไม่ให้ความสนใจกับพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก หากอยู่ในที่สาธารณะให้พาเด็กไปในที่เงียบสงบ ใช้การอธิบายที่นิ่งและมั่นคง ไม่แสดงอารมณ์กับเด็ก จากนั้นรอให้เด็กเหนื่อยและหยุดจากพฤติกรรมดังกล่าวเอง เมื่อไม่ตามใจเด็กติดต่อกันเป็นประจำ พฤติกรรมนี้จะหายไป และความรู้สึกดี ๆ จะยังคงอยู่ด้วย แต่ถ้าเด็กมีอาการรุนแรงขึ้น โวยวายอาละวาดแบบไม่ฟังใคร ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

Shares:
QR Code :
QR Code