วิธีดูแล’ฟัน’ ผู้สูงอายุติดเตียง
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
แฟ้มภาพ
การดูแลสุขภาพปากผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่ง นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุเพราะจะช่วยให้ กินอาหารได้ปกติ ลดความเสี่ยงติดเชื้อ โดยเฉพาะปอดติดเชื้อจากการสำลัก ซึ่งอาจเสียชีวิตได้
ผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อาจกลืนลำบาก-สำลักง่าย ต้องให้อาหารสายยาง-ใส่ท่อช่วยหายใจ ปากแห้ง มีแผลในปาก จึงควรทำความสะอาดปากและฟันอย่างน้อยวันละครั้ง
ทั้งช่วยบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า ลิ้น ต่อมน้ำลาย เพื่อช่วยฟื้นฟูประสิทธิภาพการกลืน การพูด การแสดงความรู้สึกทางใบหน้ากระตุ้นผลิตน้ำลาย
ทันตแพทย์บุญชู สุรีย์พงษ์ ผอ.สถาบันทันตกรรม ระบุผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้แต่ยังรับรู้ได้ การช่วยแปรงฟันต้องยกศีรษะขึ้นเพื่อกันสำลัก
อยู่ในท่าครึ่งนั่ง-นอน อาจใช้หมอนหนุนบนเตียง ถ้าศีรษะไม่นิ่งให้นั่ง ให้ศีรษะพิงผู้ดูแลซึ่งยืนอยู่ด้านหลัง
ให้จิบน้ำเล็กน้อย ใช้แปรงขนอ่อน ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์เล็กน้อย แปรงฟัน-เหงือกเบาๆ ครบทุกซี่
อย่าใช้แปรงขนาดใหญ่ หรือสอดเข้าไปลึกเกินไปเพราะอาจทำให้อาเจียน ควรหยุดพักให้ผู้สูงอายุบ้วนน้ำลาย หรืออมน้ำเล็กน้อย ก่อนแปรงต่อ สลับหยุดพัก 2-3 ครั้ง
อาจใช้น้ำยาบ้วนปากชนิดผสมฟลูออไรด์ อมบ้วนปากกรณีที่มีฟันเหลืออยู่ในปาก ป้องกันฟันผุ ทาวาสลินที่มุมปากไม่ให้แห้ง-แตก หลังแปรงฟัน และหลังอาหาร
หากใส่ฟันปลอม ควรถอดทำความสะอาดฟันปลอมช่องปากทุกครั้งหลังอาหาร
กรณีช่วยเหลือตนเองไม่ได้-ไม่รับรู้ ให้ใช้ไม้กดลิ้นเปิดช่องปาก ใช้ปากคีบคีบผ้าก๊อซ สำลี ที่ชุบน้ำหมาดๆ เช็ดฟัน ลิ้นเหงือก กระพุ้งแก้มให้ทั่ว หรือใช้นิ้วพันผ้านุ่มชุบน้ำหมาดเช็ดในปากให้ทั่ว