“วิทยุสโมสรเพื่อนงาน” สื่อกลางแรงงานเด็กไทย
แรงงานเด็ก เป็นปัญหาสำคัญที่สืบเนื่องมาจาก “ความยากจน” ที่บีบบังคับให้เด็กในชนบทต้องออกจากรั้วโรงเรียนและพลัดพรากจากครอบครัวมาเป็นแรงงานในเมืองก่อนวัยอันควร เด็กกลุ่มนี้นอกจากจะขาดโอกาสในการพัฒนาตนเอง ไม่ได้ใช้ชีวิตในวัยเด็กที่สนุกสนานแล้ว เด็กบางคนอาจต้องพบกับสภาพการทำงานที่เลวร้าย ถูกกดขี่หรือโกงค่าแรง ถูกกักขัง ทำร้ายร่างกาย และถูกล่วงละเมิดทางเพศ จนบางรายอาจถึงขั้นพิการได้
นายเชษฐา มั่นคง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันแรงงานเด็กไทยมีแนวโน้มลดลง และถูกแทนที่ด้วยแรงงานเด็กต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่หลั่งไหลอพยพเข้ามาเป็นจำนวนมาก และเป็นกลุ่มที่ประสบปัญหารุนแรงกว่า ทั้งนี้เพราะมักตกเป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์ด้วย ในฐานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทำให้ไม่มีอำนาจต่อรองกับนายจ้าง และต้องยอมถูกกดขี่และทำร้ายร่างกาย สถานการณ์ปัญหาแรงงานเด็กในสังคมไทยจึงยังอยู่ในภาวะวิกฤติที่ต้องได้รับการเยียวยาและแก้ไขอย่างเร่งด่วน
โครงการแรงงานเด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด.) ซึ่งทำงานเกาะติดสถานการณ์ปัญหาแรงงานเด็กมาตลอด ตั้งแต่ปี 2524 โดยมีศูนย์ช่วยเหลือแรงงานเด็กเกิดขึ้น เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กที่มีความซับซ้อนด้วยการทำงานหลากหลายวิธี เพื่อให้ครอบคลุมปัญหารอบด้าน แต่ยังมีข้อจำกัดคือแรงงานเด็กเหล่านี้มักถูกปิดบังซ่อนเร้น ทำให้เข้าถึงตัวเด็กกลุ่มเป้าหมายได้ยาก แรงงานเด็กที่เข้ารับบริการจากโครงการจึงมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น งานของโครงการจึงมุ่งไปที่การรณรงค์เผยแพร่ปัญหาและการผลักดันเชิงนโยบายต่อภาครัฐ ให้มีการออกมาตรการที่มีผลต่อแรงงานเด็กทั้งระบบ รวมทั้งผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานในประเด็นสำคัญๆ เช่น การแก้ไขอายุขั้นต่ำของการจ้างแรงงานเด็กจากเดิม 11 ปีเป็น 13 ปี
อย่างไรก็ตามจากการดำเนินงานตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมาพบว่าทางโครงการได้รับแจ้งเหตุและเข้าช่วยเหลือเด็กเป็นจำนวนถึง 2,700 คน ซึ่งแม้จะเป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานเด็กทั้งหมดทั่วประเทศ แต่โครงการก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้มีการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อแสวงหากระบวนการและกลไกช่วยเหลือเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ และได้จัดตั้ง “สโมสรแรงงานเด็ก” ขึ้นเมื่อปี 2528 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “สโมสรเพื่อนงาน” ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของกิจกรรม “พื้นที่สร้างสรรค์”สำหรับกลุ่มแรงงานเด็กและเป็นศูนย์รวมที่แรงงานเด็กสามารถเข้ามารอรับบริการและช่วยเหลือต่างๆ
น้องเล็ก จันที นามวิชา หนึ่งในสมาชิกสโมสรเพื่อนงาน เล่าให้ฟังว่า จากเดิมตนเองได้ทำงานในโรงงานและมีโอกาสเข้ามาเป็นสมาชิกในสโมสรเพื่อนงานของมูลนิธิฯ ทำให้ได้รับโอกาสมากมาย เช่น ร่วมกิจกรรมค่ายอบรมอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งในค่ายดังกล่าวจะมีการอบรมให้ความรู้เรื่องของการดูแลสุขภาพ การป้องกันตนเองจากกลุ่มเพื่อนที่ไม่ประสงค์ดีในเรื่องเพศ การใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งล้วนเป็นความรู้ที่ทำให้ตนเองและเพื่อนๆ สามารถป้องกันตนเองได้
จากการทำงานเป็นสมาชิกของสโมสรเพื่อนงานมาหลายปี ยังทำให้น้องเล็กผันตัวเองมาเป็นอาสาสมัครประจำมูลนิธิฯโดยทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างเพื่อนๆ ผู้ใช้แรงงานและพี่ๆในมูลนิธิฯ นอกจากนี้น้องเล็กยังได้เป็นตัวแทนร่วมเวทีในงานเสวนาเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิพื้นฐานของแรงงานเด็ก เช่น อัตราค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานเด็กในขณะนี้ควรได้รับเท่าไร หรือ เวลาในการทำงานที่ไม่ควรเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน
นอกจากนี้กิจกรรมของสโมสรเพื่อนงานยังมี “วิทยุสโมสรเพื่อนงาน” ซึ่งออกอากาศครั้งแรกวันที่ 10 มีนาคม 2544 ทางคลื่น fm.92.5 mhz.และ am. 819 mhz. ทุกวันอาทิตย์ช่วงเวลา 9.00-10.00 น.เพื่อเผยแพร่สาระความรู้ให้กับแรงงานเด็ก ซึ่งรายการนี้ยังได้รับรางวัลวิทยุดีเด่นเพื่อเยาวชนทำงานจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ(สยช.)ในปี 2545 อีกด้วย
น้องเล็ก เล่าว่า ตนมีโอกาสไปช่วยงานในรายการวิทยุสโมสรเพื่อนงาน โดยทำหน้าที่รับโทรศัพท์จากเพื่อนๆผู้ใช้แรงงานเด็กที่จะโทร.เข้ามาถามปัญหาเรื่องสวัสดิการของแรงงาน หรือ เล่าสู่กันฟังถึงปัญหาจิปาถะจากการทำงาน นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการในช่วงเกร็ดความรู้ต่างๆ แก่เพื่อนสมาชิกและผู้ฟังทั่วไป
“เพื่อนๆ ส่วนใหญ่ที่โทร.เข้ามาในรายการจะเป็นกลุ่มจากสโมสรเพื่อนงาน ซึ่งมีประมาณ 30 คนที่จะโทร.มาเป็นประจำ และคอยมาเล่าปัญหาเกี่ยวกับนายจ้าง หรือ ปัญหาที่เกิดจากการทำงานเกี่ยวกับสวัสดิการต่างๆ เราก็จะเป็นที่ปรึกษา รับฟังปัญหา ซึ่งหากปัญหาบางเรื่องยังแก้ไขไม่ได้ก็จะส่งต่อให้กับพี่ๆเจ้าหน้าที่ประจำมูลนิธิฯ ซึ่งจะคอยประสานงานต่อว่าปัญหานั้นควรไปปรึกษาที่ไหนหรือหน่วยงานใด ทำให้กลุ่มเพื่อนๆเหล่านี้ได้ทราบถึงสิทธิพื้นฐานซึ่งแรงงานเด็กควรได้รับ รวมทั้งรับทราบถึงความเคลื่อนไหวการทำงาน และกิจกรรมในสโมสรเพื่อนงาน”
ที่มา: มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก