‘วิทยาศาสตร์’ มร.ชร. ชู ‘เก๊กฮวย’ ทดแทนข้าวโพด
เรื่องโดย : อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ Team content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากทีมงานศูนย์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและศูนย์บริการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพอาหาร น้ำและผลิตภัณฑ์ มร.ชร.
‘ศาสตร์พระราชา’ ด้านการขับเคลื่อนและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นสู่การเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องใช้หลักการเข้าใจตัวเอง เข้าถึงปัญหา และนำมาสู่การพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ชุมชนท้องถิ่นจะเข้มแข็งได้ก็ต่อเมื่อเกิดกระบวนการจัดการตนเอง กว่า 8 ปีที่ผ่านมา ที่สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินแผนงานสุขภาวะชุมชน ในการปฏิรูปการปฏิบัติการให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยใช้หลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั่นหมายถึง อะไรที่ขาดก็ทำให้เกิดขึ้น อะไรที่ไม่ดีก็ทำให้หมดไปจากชุมชน โดยมุ่งเน้นให้ชุมชนและท้องถิ่นจัดการตนเอง โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏเข้ามาให้ความร่วมมือในด้านวิชาการ ควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชน เพื่อให้ชุมชนกล้าที่จะลุกขึ้นมาพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง และการขยายขอบเขตเครือข่ายของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น เพื่อสร้างกำลังที่เข้มแข็งพร้อมทั้งมีการถอดบทเรียน เพื่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้พื้นฐานในการสร้างชุมชนที่ยั่งยืน
“คนของพระราชา…ข้าของแผ่นดิน” คือความหมายของ “ราชภัฏ” ที่เหล่านักศึกษา รวมไปถึงครู อาจารย์ ในมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ได้เป็นผู้ทำงานถวายเพื่อสนองพระราชกรณียกิจ ในเรื่องการพัฒนาประชาชนได้มีโอกาสทางการศึกษา และพัฒนาตนเองในทุกๆ ด้าน เพื่อช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นในทุกสถานที่ รวมถึงชุมชนสังคมที่ส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่นๆ ยังเข้าไม่ถึง หรือละเลยในการพัฒนา
เช่นเดียวกันกับ “มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย” (มร.ชร.) ที่ศูนย์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและศูนย์บริการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพอาหาร น้ำและผลิตภัณฑ์ ผศ.ดร.สุทธิพร ธเนศสกุลวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาเศรษฐฺกิจ พลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย บอกกับเราด้วยสายตาที่มุ่งมั่นเกี่ยวกับงานที่กำลังขับเคลื่อน ว่า “วิทยาศาสตร์ เป็นเพียงหน่วยเล็กๆ ในการพัฒนาชุมชน แต่ทั้งหมดที่เราทำก็เพื่อมหาวิทยาลัย สังคม ชุมชน และยกระดับงานวิจัย”
สิ่งที่ศูนย์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อฯ ได้ดำเนินการ นั่นคือ โครงการวิจัยการขับเคลื่อนพัฒนาเกษตรยั่งยืน เพื่อทดแทนการปลูกข้าวโพด ในพื้นที่ จ.เชียงราย ผศ.ดร.สุทธิพร เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นการรับทุนอุดหนุนงานวิจัยจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยแห่งชาติประจำปีงบประมาณ 2556 โดยมีเป้าหมาย เพื่อการพัฒนาประเทศในกลุ่มเรื่องเกษตรพื้นที่สูง โดยคัดเลือกพันธุ์และการขยายพันธุ์พืชเก๊กฮวยสะโง๊ะ ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรตามหลักเกษตรอินทรีย์ และสร้างความเข้มแข็งบนพื้นที่สูง ให้เพียงพอต่อความต้องการโครงการหลวงสะโง๊ะ พร้อมทั้งการสร้างองค์ความรู้ในการปลูกดอกเก๊กฮวย
“วิทยาศาสตร์ต้องไม่คอแข็ง หรือเก่งเฉพาะทาง และทำงานวิจัยอยู่ในห้องแลปเท่านั้น เราสนับสนุนให้เกิดนักวิจัยรุ่นใหม่ๆ ที่สามารถทำงานได้หลากหลาย ขับเคลื่อนงานวิทยาศาสตร์ลงสู่ชุมชน และนำเอาบริบทชุมชนเป็นตัวตั้ง ลงพื้นที่และรับใช้ชุมชน เพราะนักวิจัยต้องมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน ผลักดันเกิดนวัตกรรมขึ้นในท้องถิ่น” ผศ.ดร.สุทธิพร เผย
ในปี 2558 ได้รับอุดหนุนทุนการทำวิจัย ‘โครงการจัดการความรู้การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ในมิติเชิงชุมชน-สังคม’ โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกเก๊กฮวยตามแนวทางเกษตรอินทรีย์สู่ชุมชนตำบลแม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โดยมีศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนสามัคคีพัฒนา เป็นศูนย์การการเรียนรู้ของชุมชน และเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างคน สร้างงาน สร้างรายได้
ในที่สุด “รั้วกันภัยที่มีชีวิต” จึงเกิดขึ้นในแนวชายแดนประเทศไทย-พม่า ที่ดอยสะโง๊ะ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ทุ่งดอกเก๊กฮวย ถูกปลูกเป็นแนวยาว ออกดอกเหลืองอร่ามงดงามไปทั่วผืนดิน โดยพลิกฟื้นจากการปลูกไร่ข้าวโพด มาเป็นการปลูกเก๊กฮวยตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ ที่สามารถส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ในชุมชน ลดปัญหายาเสพติดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ สร้างแนวทางการทำเกษตรยั่งยืน เพื่ออนุรักษ์ดิน และทำให้น้ำในผืนป่าต้นน้ำใสสะอาด ปลอดภัยจากสารเคมี
– โมเดล School – University Partnership –
โครงการวิจัยฯ ได้นำ โมเดล School – University Partnership ซึ่งนำต้นแบบจากประเทศอังกฤษมาประยุกต์กับบริบทของพื้นที่ ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โดยมี ‘โรงเรียนสามัคคีพัฒนา’ เป็นฐานการเรียนรู้สู่ชุมชน โดยปลูก ‘เก๊กฮวย’ เป็นพืชทดแทนข้าวโพด โดยสร้างฐานเรียนรู้ที่มีส่วนร่วม และสร้างรายได้ให้แก่โรงเรียนอีกด้วย
“เราเริ่มจับมือกับโรงเรียนก่อนเป็นอันดับแรก และเมื่อโรงเรียนดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและเห็นผลสำเร็จในการมีรายได้อย่างจริงจัง จึงนำพาผู้ปกครองที่เป็นเกษตรกรมาเข้าร่วม โดยเริ่มต้นจากบ้านหัวแม่คำ บ้านม้งเก้าหลัง บ้านม้งแปดหลัง บ้านห้วยกระ และบ้านสันมะเค็ด จากจำนวนเริ่มแรกเพียง 20 ราย นำแนวทางการปลูกเก๊กฮวยตามหลักอินทรีย์ไปทำในพื้นที่จริง จนปัจจุบันมีจำนวนเกษตรกรเพิ่มขึ้นถึง 76 ราย” ผศ.ดร.สุทธิพร เล่าให้ฟัง
– ปลูก “เก๊กฮวย” ทดแทนข้าวโพด –
เมื่อกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถูกปรับใช้ร่วมกับกระบวนการทางสังคมอย่างลงตัวในบริบทพื้นที่ ต.เทอดไทย ทำให้ ‘เก๊กฮวย’ กลายเป็นพระเอกในพื้นที่ไปโดยปริยาย ‘พันธุ์สีเหลือง’ ถูกคัดเลือกให้ปลูกในพื้นที่ทำการวิจัยเนื่องจากมีสีสวย กลิ่นหอม รสชาติหวานเหมือนน้ำผึ้ง นอกจากนี้ทางศูนย์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อฯ ยังดำเนินการวิจัยพืชเศรษฐกิจ รวมไปถึงพืชอื่นๆ เพื่อปลูกทดแทนไร่ข้าวโพดที่ค่อยๆ ทำลายป่าไม้ทางภาคเหนือลงไปทุกวันๆ
จากการวิจัยพบว่า การปลูกเก๊กฮวยตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีต้นทุนด้าน 'แรงงาน' เพียงอย่างเดียว เนื่องจากในต้นเก๊กฮวยมีกลิ่นเฉพาะตัว ที่แมลงไม่อาจเข้าใกล้และทำลายได้ รวมถึงไม่ชอบปุ๋ยและยา เกษตรกรจึงไม่ต้องหันไปพึ่งพายาฆ่าแมลงหรือปุ๋ยเคมีใดๆ และเมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกข้าวโพด พบว่า เก๊กฮวยให้ผลตอบแทน 28,000 – 30,000 บาท/ไร่ ขณะที่ ข้าวโพดให้ผลตอบแทน 5,000 – 7,000 บาท/ไร่
ความหวังและทางเลือกใหม่ของเกษตรกรจึงเกิดขึ้นในพื้นที่ เพราะพลิกฟื้นผืนดินบ้านเกิดของพวกเขาให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่เดินตามศาสตร์ของพระราชา แม้ว่าข้อมูลเหล่านี้ยังไม่ได้สื่อสารเป็นทางการถึงหน่วยงานเกษตรในระดับพื้นที่ แต่เชื่อได้ว่าองค์ความรู้จากนักวิจัยของ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ที่ตั้งใจพัฒนาชุมชนของตน จะทำให้ท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา”