จากการที่กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (unfpa) ได้เสนอข้อมูลทางสถิติพบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนของประชากรวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์อายุน้อยสูงสุดในเอเชีย จึงเป็นเหตุให้เกิดความสนใจต่อประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง รัฐบาลโดยการนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานบอร์ดกองทุนสร้างเสริมสุขภาวะ จึงได้เสนอให้มีการจัดทำแผนเร่งรัด เพื่อลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนในสถานศึกษา
ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกระทรวงศึกษาธิการ จึงร่วมกันจัดทำโครงการนำร่องเพื่อรณรงค์สร้างความตระหนัก ต่อการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น โดยให้องค์การ path (แพท) ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานส่งเสริมเพศศึกษาในสถานศึกษา เป็นผู้ดำเนินการพัฒนากิจกรรมรณรงค์ สำหรับ จ.ตรัง ได้ร่วมมือกับวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีตรัง เป็นผู้ให้ความรู้กับเยาวชนในสถานศึกษาต่างๆ ของ จ.ตรัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งให้สถานศึกษานำร่อง และจะขยายผลในปีการศึกษาต่อไป
นางกนกวรรณ ศิลปกรรมพิเศษ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีตรัง กล่าวว่า จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า สถิติการคลอดของวัยรุ่นในปี 2552 มีจำนวนมากกว่า 120,000 คน คิดเป็นร้อยละ 16 ของการคลอดทั้งหมด หรือประมาณ 336 คน/วัน และยังพบว่ามีอัตราการเจริญพันธ์ของวัยรุ่นหญิงเพิ่มมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจำนวนมากเป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่ตั้งใจ ซึ่งเป็นผลมาจากการไม่ได้ป้องกัน โดยพบว่าเยาวชนจำนวน 1 ใน 3 ไม่ได้ป้องกันการตั้งครรภ์เมื่อมีเพศสัมพันธ์ และครึ่งหนึ่งที่ใช้ถุงยางอนามัย และมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ใช้ยาคุมกำเนิด (อนามัยโพลล์ 2551) ซึ่งเมื่อตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยจึงตัดใจไปทำแท้ง และจากการสำรวจในปี 2542 พบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ที่ทำแท้ง มีอายุระหว่าง 17-20 ปี โดยมีร้อยละ 23.8 ที่เคยทำแท้งมาก่อน และร้อยละ 29 ที่ไม่ได้คุมกำเนิด อีกทั้งยังพบว่ามีการทำแท้งยังมีอัตราการตายสูงถึง 300 คน ใน 100,000 คน
สำหรับกิจกรรมนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องเพศ และป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ในเยาวชนสถานศึกษา จนทำให้เกิดความตื่นตัวและจัดให้มีการเรียนการสอนเพศศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งไปยังเยาวชนในระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา รวมทั้งครูและคณะผู้บริหาร ในสถานศึกษาใน 200 แห่ง 19 จังหวัด รวมทั้ง จ.ตรัง ในรูปแบบของการจัดกิจกรรม 3 ชั่วโมง/รอบ ประกอบไปด้วย การใช้ภาพยนตร์สลับกับการโต้ตอบ อภิปรายถกเถียง และกิจกรรมแสดงความเห็นเกี่ยวกับตัวละคร ที่สะท้อนวิถีชีวิตวัยรุ่น ซึ่งจะถ่ายทอดออกไปในรูปแบบที่แตกต่างกัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการ