วิถีใหม่ อาหารไทยริมบาทวิถี
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
แฟ้มภาพ
อาหารริมบาทวิถี เป็นวัฒนธรรมด้านอาหารของสังคมไทย แต่ต้องปรับตัวเข้าสู่วิถีใหม่ เพื่อควบคุมและป้องกันโควิด-19 พร้อมพัฒนายกระดับร้านอาหารริมบาทวิถี ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยและโภชนาการ
อ.สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย และผู้ทรงคุณวุฒิด้านโภชนาการ สสส. เล่าว่า อาหารริมบาทวิถี หรือสตรีทฟู้ด (street food) ของประเทศไทย นับวันแต่จะเข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตของคนไทย และเป็นส่วนสำคัญต่อการท่องเที่ยว สร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับประเทศ
ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ได้เกิดบทเรียนมากมาย ที่จะนำมาสร้างโอกาสการพัฒนาร้านอาหารริมบาทวิถีไทยให้ได้มาตรฐานของกรมอนามัยและสากล อาหารริมบาทวิถีเป็นวัฒนธรรมด้านอาหารของสังคมไทยมานาน ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาสู่คนยุคปัจจุบัน คนไทยกว่าร้อยละ 50 อาศัยร้านอาหารริมบาทวิถีเป็นครัวของบ้าน โดยเฉพาะยุคชีวิตที่เร่งรีบและไม่สามารถทำอาหารกินเองได้
ปฏิเสธไม่ได้ที่จะบอกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย ส่วนหนึ่งมาเพราะติดใจในเสน่ห์ของอาหารริมบาทวิถี จนสถานนีข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) ยกย่องไทย เป็นประเทศที่มีสตรีทฟู้ดที่ดีที่สุดในโลกติดกัน 2 ปีซ้อน แต่ตัวชี้วัดของซีเอ็นเอ็นอาจไม่ครอบคลุมด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และโภชนาการ มองเพียงความอร่อย รสชาติดี ราคาถูก รวดเร็ว หลากหลาย เข้าถึงง่าย และมีให้กินตลอดเวลา กระจายอยู่ทั่วไป ด้วยเหตุนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงพยายามที่จะฉวยโอกาสนี้พัฒนาเพื่อยกระดับอาหารริมบาทวิถีให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้นต่อไป
โควิด-19 พ่นพิษใส่ทุกวงการ ร้านอาหารริมบาทวิถีก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้ธุรกิจอื่น ต้องปิดการจำหน่ายกันถ้วนหน้า แต่ท่ามกลางวิกฤตย่อมเกิดโอกาสที่ทำให้ได้เรียนรู้ เพื่อความอยู่รอดและเดินหน้าต่อ ซึ่งได้รับบทเรียนหลายประการ โดยเฉพาะช่วงคลายล็อกเฟส 5 ร้านอาหารริมบาทวิถีได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง แต่ต้องปรับตัวเข้าสู่วิถีใหม่ เพื่อควบคุมและป้องกันโรคระบาด เกิดรูปแบบใหม่ของการดำเนินธุรกิจที่สมควรนำมาเป็นบทเรียนเพื่อพัฒนายกระดับร้านอาหารริมบาทวิถีให้ได้มาตรฐาน
กรมอนามัยร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ดำเนินโครงการนำร่องใน 24 จังหวัดแรกของประเทศ เพื่อยกระดับร้านอาหารริมบาทวิถีให้ได้มาตรฐานสากล ทำมาแล้วร่วม 2 ปี เมื่อโควิด-19 ระบาดจึงได้จัดเวทีระดมสมองเพื่อสังเคราะห์การนำบทเรียนวิถีใหม่มาขับเคลื่อนงาน ซึ่งจัดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ แล้วจะนำมาพัฒนาอาหารริมบาทวิถี สรุปแนวทางการพัฒนา 3 ด้าน
1. จะต้องพัฒนาตัวร้านอาหารริมบาทวิถีให้เข้าสู่วิถีใหม่ ให้มีความเป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น ต้องมีซิงก์และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือก่อนเข้าตลาดหรือร้านอาหาร ต้องมีที่ปกปิดอาหาร มีที่กั้นและเว้นระยะห่างที่โต๊ะ/เก้าอี้นั่งกินข้าวและระหว่างคนซื้อและคนขาย มีการล้างตลาดหรือบริเวณจุดขายบ่อยมากขึ้น
2. ผู้สัมผัสอาหาร ทั้งผู้ปรุงประกอบอาหาร ผู้จำหน่ายอาหาร และพนักงานเสิร์ฟ จะต้องได้รับการพัฒนาให้เข้าสู่วิถีใหม่ในการให้บริการ เพื่อเพิ่มความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ปรุงอาหารต้องสวมหน้ากากอนามัย หมวกคลุมผม ใส่ผ้ากันเปื้อนและสวมถุงมือจับต้องอาหารที่จะเสิร์ฟสดๆ ส่วนผู้เสิร์ฟอาหารต้องสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือบ่อยๆ และที่สำคัญคือ ผู้สัมผัสอาหารต้องเพิ่มการดูแลสุขวิทยาส่วนบุคคลของตัวเองให้มากขึ้น
3. ต้องพัฒนาผู้บริโภคให้มีความฉลาดรอบรู้ด้านสุขภาพ (health literacy) ให้มากขึ้น วิถีใหม่ต้องใส่ใจทำจนกลับกลายเป็นสุขวิทยาส่วนบุคคลติดตัวตลอดไป คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ จะช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อได้มาก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเชื้อโควิด-19 แต่รวมถึงเชื้อโรคหลายชนิด ตัวผู้บริโภคต้องสวมหน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่าง เมื่อไปยืนสั่งอาหารและนั่งกินตามร้าน ที่สำคัญผู้บริโภคต้องเลือกซื้อและบริโภคเฉพาะร้านอาหารริมบาทวิถีที่ตัวร้านและผู้สัมผัสอาหารปฏิบติตามด้านที่ 1 และ 2 เท่านั้น
นอกจากนี้ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถี เพื่อสร้างความมั่นใจและสนับสนุนการท่องเที่ยวและสุขภาพของคนไทย ซึ่งได้จากการทดลองหารูปแบบและกลไกใน 24 จังหวัดนำร่อง และจะดันให้เป็นนโยบายชาติ ขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2564 มียุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ การสร้างกลไกให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นแกนนำจับมือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการร้านอาหารริมบาทวิถี ให้มีทักษะในการจัดการร้านอาหารริมบาทวิถี
และให้มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสังคมมากขึ้น ส่งเสริมให้เกิดการสร้างเครือข่ายเพื่อเป็นพลังการขับเคลื่อนงาน พัฒนาศักยภาพผู้บริโภคให้มีความฉลาดรอบรู้ด้านอาหารและโภชนาการให้มากขึ้น ที่สำคัญคือจะต้องบูรณาการโภชนาการในอาหารริมบาทวิถี อาทิ ลดหวาน มัน เค็ม เติมเต็มด้วยผักผลไม้ที่ปลอดภัย
รัฐบาลต้องรีบฉวยโอกาสและกล้าหาญที่จะยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถีของประเทศ ด้วยการบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชาติหลังโควิด-19 ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ายิ่ง …ประเทศไทยพร้อมลุยเรื่องนี้แล้วหรือยัง ?