วิถีประมงริมน้ำน่าน พลิกวิกฤติชาวนาสู่โอกาสเพิ่มรายได้

“วิถีประมงริมน้ำน่าน คือการช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างผู้ที่เลี้ยงปลาบริเวณริมน้ำน่าน ทั้งการจับปลา ให้อาหารปลา ปลาป่วยก็ช่วยกันดูแล แม้เป็นการรวมตัวรวมกลุ่มกัน แต่ไม่มีการเอาเงินมารวมกัน ไม่มีการปันผล ไม่มีการจ้าง เป็นระบบพึ่งพากันและกัน” นรัตน์ ใจมั่น ประธานกลุ่มวิถีประมงริมน้ำน่าน เล่า

วิถีประมงริมน้ำน่าน พลิกวิกฤติชาวนาสู่โอกาสเพิ่มรายได้

การเปลี่ยนแปลงไปของสภาพทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ชาวนาชาวไร่หลายครัวเรือนต้องผิดหวัง หลังจากขายข้าวไม่ได้ราคาตามเป้าหมาย ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ซ้ำบางรายยังต้องกู้หนี้ทั้งในและนอกระบบ เมื่อ การเงินภายในครัวเรือนหมุนเวียนไม่ทันตามต้องการ

ตำบลวังน้ำคู้เป็นตัวอย่างที่ดี ที่แสดงให้เห็นถึงสติปัญญาในการอยู่รอด โดยเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ “วิถีประมงริมน้ำน่าน” ให้เป็นตัวอย่างแก่คนในชุมชน และตำบลใกล้เคียง ตามวัตุประสงค์ของการเป็นเป็นตำบลสุขภาวะ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับหนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นรัตน์ ใจมั่นนรัตน์ อธิบายว่า เดิมมีเพื่อนบ้านเขาเลี้ยงไว้ก่อน จึงเข้าไปขอข้อมูลและคำปรึกษา เมื่อทดลองเลี้ยงปลากระชังแม่น้ำจึงชักชวนเพื่อนบ้านอีกหลายครัวเรือนเข้ารวมกลุ่มเลี้ยงปลากระชัง แต่การรวมกลุ่มไม่มีการปันผลใดๆ เน้นไปที่การช่วยเหลือดูแลปลากระชังของสมาชิก โดยตนทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับสมาชิกพร้อมทั้งช่วยเหลือด้านการดูแล การให้อาหารหรือแม้กระทั่งยกกระชังปลาส่งออกขาย

แหล่งเรียนรู้กลุ่มวิถีประมงริมน้ำน่านเป็นแหล่งเรียนรู้ตัวอย่างให้กับชาวบ้านหรือชุมชนใกล้เคียง รวมถึงตำบลที่สนใจเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับตำบลวังน้ำคู้ เพราะถือเป็นอีกกลุ่มสำคัญที่ช่วยผลักดันและส่งเสริมกลุ่มเศรษฐกิจของชุมชนให้มีความเข้มแข็ง และสามารถยืนหยัดเป็นอาชีพที่มั่นคง

จุดเริ่มต้นของการทำวิถีประมงริมน้ำน่านหรือเลี้ยงปลาในแม่น้ำน่าน เนื่องจากผลผลิตหรือรายได้จากการทำนาเริ่มลดลง “เมื่อเริ่มทำครั้งแรกลงทุนไปประมาณ 40,000 บาท จัดทำกระชังปลาได้ถึง 12 กระชัง เฉลี่ยแล้วประมาณ 1,000 ตัว โดยเลี้ยงเฉพาะปลาทับทิม เพราะเป็นปลาที่แข็งแรง มีภูมิต้านทานสูง เลี้ยงเพียงประมาณ 4 เดือนก็สามารถจับปลาขึ้นมาขายได้แล้ว โดยแบ่งจำแนกตัวปลาเล็กใหญ่ ขายราคาต่างกันหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วได้กำไรเกือบ 40,000 บาท หรือเกือบเท่ากับการลงทุน โดยการส่งขายจะมีพ่อค้าแม่ค้าปลามารับถึงที่ ไม่จำเป็นต้องเสียค่าน้ำมันรถเลย” นรัตน์เล่า

วิถีประมงริมน้ำน่าน พลิกวิกฤติชาวนาสู่โอกาสเพิ่มรายได้ผู้เลี้ยงปลากระชังหรือแหล่งเรียนรู้วิถีประมงริมน้ำน่านมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นอาชีพเสริมจากการทำนา ด้วยการเพาะเลี้ยงปลากระชังใช้เวลาไม่มาก แต่ละวันผู้เลี้ยงต้องหมุนเวียนเข้าให้อาหารปลาวันละ 3-4 ครั้ง

นรัตน์ เสริมอีกว่า แม้การเลี้ยงปลากระชังเป็นอาชีพเสริมที่ง่ายต่อการดูแล แต่ก็มีปัญหาในช่วงน้ำท่วมหรือช่วงที่มีสารเคมีรั่วไหลลงแม่น้ำ ซึ่งก่อปัญหาหนัก แต่ไม่ถึงกับขาดทุน เพราะเมื่อเลี้ยงปลาในกระชัง จะสังเกตเห็นปัญหา ซึ่งต้องหาวิธีการแก้ไข ที่เป็นปัญหามากที่สุดคือหน้าแล้ง น้ำในแม่น้ำไม่เพียงพอ ทำให้กระชังลงไปกระทบกับพื้นดินใต้แม่น้ำ เมื่อกระชังลงไปติดใต้ดิน ทำให้ปลาเบียดกันจนขาดออกซิเจน และตายไปบางส่วน ส่วนที่พอนำมาขายได้ ต้องรีบยกขึ้นมาขายในราคาถูก

นรัตน์ กล่าวอีกว่า เมื่อการเลี้ยงในแม่น้ำมีปัญหาตามมามาก จึงเกิดความคิดที่จะขุดบ่อเลี้ยงไว้ในบริเวณบ้าน ซึ่งจะช่วยให้ดูแลปลาอย่างใกล้ชิดแล้ว ยังช่วยให้บ่อมีออกซิเจน โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปั่นไฟฟ้าเข้ามา

“การทำการเกษตรเราต้องลองผิดลองถูกให้มากๆ อย่าท้อแท้หรือสิ้นหวัง เพราะการประกอบอาชีพอะไรก็ตามแต่ทุกอย่างต้องมีอุปสรรคเพื่อให้เราก้าวข้ามสู่บันไดแห่งความสำเร็จ วันนี้เราอาจจะทำนาขาดทุน วันพรุ่งนี้อาจขายปลากระชังได้กำไร สิ่งเหล่านี้ถือเป็นวงจรของเกษตรกรโดยตรง เราต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ของเกษตรกรให้ได้” นรัตน์ กล่าวสรุป

ที่มา: เว็บไซต์ปันสุข สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน

Shares:
QR Code :
QR Code