`วิชาชีวิต` ภูมิคุ้มกัน` เด็ก-เยาวชน `ต้นน้ำ
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบจากเว็บไซต์มติชน
แม้ว่า "การศึกษา" จะเป็นกลไกหลักในการพัฒนาส่งเสริม และปลูกฝังแนวความคิด ความรู้ให้กับพลเมือง ทั้งในมิติการเรียนรู้เพื่อ "การมีงานทำ" และเรียนรู้เพื่อ "สร้างทักษะการดำรงชีวิต" ที่สอดคล้องกับบริบทของยุคสมัย
แต่กระนั้น จากข้อมูลการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการปี 2556-2557 ระบุว่า มีเด็กเพียง 6 ใน 10 คนเท่านั้นที่เรียนจบ ม.6 หรือ ปวช. โดยมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ ตามลำดับขั้นการศึกษา ด้วยหลากหลายปัจจัย เช่น ครอบครัวยากจน เป็นแม่วัยใส ตลอดจนถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจฯ และมีปัญหาเชิงพฤติกรรมในรูปแบบอื่นๆ
ไลฟ์ เอ็ดดูเคชั่น (ประเทศไทย) จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าวเปิดตัว "แนวคิดและแพลตฟอร์มการขับเคลื่อนแนะแนวเชิงรุก ด้วยนวัตกรรมวิชาชีวิต" ณ ห้องประชุมชนกนันท์ ชั้น 2 โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์ กรุงเทพฯ
นายอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ นักวิจัยและผู้จัดการโครงการชนะใจ กล่าวว่า ทางโครงการชนะใจได้ถอดบทเรียน "วิชาชีวิต" ของบ้านกาญจนาภิเษกฯ ที่ประสบความสำเร็จในการจัดการพฤติกรรมวัยรุ่นผู้เคยกระทำความผิดเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้มากถึง ร้อยละ 84 มาพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นหลักสูตรนำร่องไปใช้ในพื้นที่จริงกับนักเรียนชั้น ม.2/1 โรงเรียนวัดคู้บอนฯ จำนวน 40 คน
โดยวิชาชีวิตมีหลักคิด 6 ประการคือ การเพิ่มคลังคำ คลังภาษาในการสื่อสารความรู้สึก, มีทักษะการคิดวิเคราะห์ที่เชื่อมโยงจากเรื่องจริง, เปิดโลกทัศน์ กระตุ้นความกล้าที่จะฝันและทำในเรื่องดีๆ, เพิ่มพื้นที่เชิงบวก, พัฒนาระบบความคิด ให้มีความเป็นมนุษย์ที่รู้ร้อนหนาว และเพิ่มพื้นที่ในการขอโทษ-ให้อภัย พร้อมหยิบยื่นพื้นที่ปลอดภัย
"กิจกรรมนี้มีความแตกต่างจากวิชาปกติ เป็นวิชาในสังคม สามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง" เสียงสะท้อนจากนักเรียนชั้น ม.2/1
ขณะที่ ป้ามล-ทิชา ณ นคร ในฐานะผู้ออกแบบ "วิชาชีวิต" กล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่ดีสำหรับคนปลายน้ำที่โรงเรียนวัดคู้บอนฯ เปิดพื้นที่ให้วิชาชีวิตได้ทำหน้าที่ เป็นคนต้นน้ำ เป็นวัคซีนของเด็กๆ โดยกระบวนการเรียนรู้วิชาชีวิต สร้างขึ้นภายใต้การให้ความสำคัญในการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง เรียนเพื่อพัฒนาระบบความคิดให้มี ความรู้ร้อนรู้หนาว มองเห็นจุดเชื่อมโยงระหว่างชีวิตและสามารถรักษาด้านดีของตนเองเอาไว้ได้แม้ในช่วงเวลาที่แย่ที่สุด หากผิดพลาดไปแล้วก็เรียนเพื่อซ่อมความคิดที่ผิดพลาดได้
เพราะฉะนั้นผู้ที่จบการศึกษา "วิชาชีวิต" จะได้ลิ้มรสชาติของการ "ชนะใจตนเอง" เพื่อเดินสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นด้วยการตัดสินใจของตัวเอง