วิชากู้ชีพฉุกเฉิน ทักษะชีวิตเพื่อเด็กไทย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์เดลินิวส์
วิชากู้ชีพฉุกเฉิน ทักษะชีวิตเพื่อเด็กไทย
มีประเด็นที่ต้องพิจารณาและติดตามผลักดันกันอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนาการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำให้คนเรามีสุขภาพที่ดีและเกิดความปลอดภัยหากเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้น ผ่านการเรียนหลักสูตรกู้ชีพฉุกเฉิน ซึ่งที่ผ่านมามีการกิจกรรมฝึกทักษะ ค่ายรู้รอดปลอดภัย โดยหัวเรือใหญ่อย่างสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ภายใต้โครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักการลูกเสือ ยุวกาชาด และกิจการนักเรียน กระทรวงศึกษาธิการ รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี สำนักอุทยานการเรียนรู้ สำนักนายกรัฐมนตรี มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิร่วมกตัญญู กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และสำนักการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ตลอดจนสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย จับมือกันเป็นภาคีเครือข่ายผลักดันจัดกิจกรรม ค่ายรู้รอดปลอดภัย ให้กับเด็กเยาวชนในชั้นประถมจนถึงชั้นมัธยมต้น
โดยกิจกรรมดังกล่าวดำเนินผ่านในรูปแบบค่ายอบรม 2 วัน ในช่วงตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มีเด็กอายุต่ำสุดที่มาร่วมกิจกรรมในค่ายคือ 6 ขวบ กิจกรรมของค่ายรู้รอดปลอดภัย จะเป็นการเน้นฝึกให้เกิดทักษะที่ประกอบด้วยหลายด้าน ตั้งแต่การสร้างเสริมความปลอดภัยในการดูแลตนเอง การประเมินความเสี่ยงก่อนเกิดเหตุต่างๆ การฝึกทักษะการกู้ชีพ การเผชิญเหตุจากกรณีเจ็บป่วยทั้งจากอุบัติเหตุและไม่ใช่อุบัติเหตุ รวมทั้งการเอาชีวิตรอดในสถานการณ์ต่างๆ ที่รวมถึงภัยพิบัติ
มีการจัดกิจกรรมมาแล้ว 4 ครั้ง โดยการสอนของแต่ละฐานฝึกโดยกลุ่มวิทยากรจากภาคีเครือข่าย ที่เน้นความความถูกต้องตามหลักวิชาการและหลักการปฏิบัติจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละแขนง และเมื่อวันที่ 10-11 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการปิดท้ายด้วยกิจกรรมล่าสุดคือ การประเมินผลการเรียนรู้ ของกลุ่มเด็กๆ ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 4 ครั้ง ซึ่งจากผลการประเมินเป็นที่น่าสนใจและเป็นที่ประจักษ์ว่า เด็กๆ และผู้ปกครองที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมค่ายรู้รอดปลอดภัย มีผลสัมฤทธิ์ในทางคุณภาพ ทำให้เห็นถึงความสำคัญในการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อการป้องกัน และ การกู้ชีพฉุกเฉินอีกทั้งสร้างความตระหนักรู้ กระตุกความคิด จนอยากให้มีการดำเนินการหรือจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องยั่งยืน พร้อมทั้งขยายออกไปในสังคมวงกว้าง ต่อยอดให้เด็กๆ หรือเยาวชนไทยได้เรียนรู้ ฝึกฝน ทักษะ มีความรู้ และมีความกล้าในการกู้ชีพฉุกเฉิน เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ล่อแหลม หรือเกิดเหตุการณ์อันตรายโดยตรงทั้งชีวิตตัวเขาเอง คนรอบข้างหรือคนในครอบครัว
พญ.ณธิดา สุเมธโชติเมธา กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ราชวิถี หนึ่งในทีมวิทยากรกู้ชีพฉุกเฉิน CPR ในค่ายรู้รอดปลอดภัย ระบุว่า เป็นกิจกรรมที่เด็กๆ สนใจและมีความตั้งใจมาก แม้ในความเป็นจริงว่าพวกเขาส่วนใหญ่ที่อยู่ในวัยแค่ 7-12 ขวบ ซึ่งปัญหาคือ เรื่องของสรีระร่างกาย ตัวเล็ก ขณะที่กิจกรรม เช่น การปั๊มหัวใจ หรือ CPR ต้องใช้แรงกำลัง กลับพบว่า แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาที่สำคัญ เพราะเป็นเรื่องทางสรีระร่างกายทางกายภาพที่ยังไม่มีกำลังทำได้เต็มที่ แต่เมื่อพวกเขาโตขึ้นปัญหานี้ก็จะหมดไป
แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ เด็กๆ ได้ทักษะตอบสนองเหตุการณ์เมื่อเจอภาวะฉุกเฉิน ตั้งแต่การประเมินสถานการณ์ การป้องกันตัวเอง ขอความช่วยเหลือ หรือสามารถใช้ทักษะที่ได้เรียนรู้ช่วยเหลือผู้อื่นตามศักยภาพ และสำคัญที่สุด คือ การปลูกฝังความกล้า เพราะสิ่งนี้จะส่งผลต่อเขาไปในอนาคตเมื่อเติบโตขึ้น กล้าที่จะช่วยเหลือคนอื่นๆ และมีทัศนคติ ไม่อยู่เฉยๆ
"เมื่อเผชิญเหตุการณ์ กล้าที่จะเข้าไปช่วย ไม่กลัวว่าจะทำให้ตาย แต่เปลี่ยนทัศนคติเป็นดีกว่าอยู่เฉยๆ ปล่อยให้ตาย หรือจะเข้าไปช่วยได้อย่างปลอดภัย ซึ่งทัศนคติตรงนี้คือสิ่งสำคัญที่จะติดตัวเขาไป"
พญ.ณธิดา ระบุด้วยว่า ในต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น มีการฝึกทักษะเพื่อรับมือการเผชิญเหตุไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหวหรือสึนามิ เด็กๆ จะเรียนรู้และได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในประเทศอเมริกาเอง ก็มีการฝึกทักษะประเทศสหรัฐ ที่เขาต้องเผชิญกับอันตรายจากการใช้ปืนยิงกันในโรงเรียน เด็กๆ จะได้รับการปลูกฝังว่าจะหลบอย่างไร อพยพอย่างไร เมื่อเกิดเหตุ แต่บ้านเรายังไม่มีการสอนทักษะเด็กให้เขาเอาตัวรอดที่เหมาะสม
ด้าน ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า องค์การอนามัยโลกประเมินว่า ในปี พ.ศ.2573 ประชากรโลกจำนวน 23 ล้านคน จะเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โดยร้อยละ 85 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และประชากรกลุ่มวัยแรงงาน สำหรับประเทศไทยมีคนป่วยด้วยกลุ่มโรค NCDs ในสัดส่วนที่สูงกว่านานาชาติ สาเหตุของการเสียชีวิตถึง 3 แสนกว่าราย โดยเฉพาะโรค NCDs ที่มีอัตราผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสูงสุด 6 โรค ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วนลงพุง
การกิจกรรมค่ายรู้รอดปลอดภัยของสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินนั้นฯ เป็นการให้ความรู้กับนักเรียนในระดับต่างๆ จากชั้นประถม เพื่อให้มีความรู้ทักษะในการดูแลตนเองให้มีสุขภาพดี ไม่ให้เจ็บป่วย และโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ต้องเจ็บป่วยในกลุ่ม NCDs ตลอดจนสามารถดูแลตนเองได้ รวมทั้งมีจิตอาสาที่จะช่วยเหลือผู้อื่น
ดร.นพ.บัณฑิต ระบุด้วยว่า ทั้งนี้ที่ผ่านมาทักษะการช่วยเหลือชีวิตของคนไทยจะถูกบรรจุใน หลักสูตรวิชาลูกเสือเนตรนารี ที่มีมาตั้งแต่ปี 2521 ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทักษะการช่วยเหลือผู้ป่วยตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียน ก็ควรมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ซึ่งคาดหวังว่าในอนาคตทักษะการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินจะถูกบรรจุเข้าไปในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ในวัยเด็กต่อเนื่องไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย และคาดว่าการดำเนินการนี้ จะส่งผลให้เด็กไทยเติบโตแข็งแรง และหากประสบเหตุก็สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ อันจะเป็นผลช่วยลดอัตราการตายและความพิการของผู้ป่วยได้อีกทางหนึ่ง
ขณะที่ นายอำนาจ สายฉลาด นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ สำนักการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจการนักเรียน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การจะมีหลักสูตรลูกเสือกู้ชีพได้นั้น บุคคลที่จะต้องให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย เช่น ครูหรือลูกเสือ จะต้องมีทักษะการกู้ชีพที่ถูกต้องและชัดเจน จำเป็นต้องได้รับการฝึกทักษะจากบุคลากรทางด้านการแพทย์เหมือนในต่างประเทศ ซึ่งเด็กที่เข้าร่วมได้รับการอบรมจากทางโครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน โดยมีภาคีต่างๆ มาร่วมมือกัน เป็นเรื่องที่ดีและถูกต้องตามหลักสากล
"ขณะเดียวกันการสร้างแรงจูงใจให้กับลูกเสือหรือผู้ที่มาฝึกทักษะการกู้ชีพ ด้วยการให้สัญลักษณ์ที่สามารถบ่งบอกได้ว่าบุคคลนี้ผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว จะยิ่งส่งผลให้เด็กๆ เกิดความภาคภูมิใจ ส่วนการดำเนินงานต่อไป อาจจะต้องมีการทำโครงการนำร่องหลักสูตรลูกเสือกู้ชีพใน 4 ภูมิภาค เพื่อที่จะเป็นแนวทางการขยายผลไปสู่โรงเรียนต่างๆ และพัฒนาหลักสูตรในอนาคต"
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดหน่วยงานหลักอย่าง สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย เตรียมประมวลผลเพื่อนำเสนอเป็นหนังสือสรุปผลการดำเนินการจัดค่ายรู้รอดปลอดภัย ส่งไปยังกระทรวงศึกษาธิการ โดย ศ.เกียรติคุณ นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ระบุว่า ทางสมาคมมองเห็นว่าเรื่องนี้น่าจะมีความเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาของระบบการศึกษาหลายด้าน รวมถึงในเนื้อหางานของลูกเสือที่น่าจะเป็นอีกส่วนที่สำคัญ ดังนั้น หากผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถพัฒนาให้เป็นหลักสูตรลูกเสือกู้ชีพขึ้นมา และทางกระทรวงศึกษาธิการร่วมเห็นชอบ ก็จะทำให้เป็นอีกส่วนหนึ่งในการพัฒนาเด็กไทยในอนาคตให้มีสุขภาพดีแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยฉุกเฉิน
หลังจากนี้ต้องช่วยกันจับตาว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรงจะคลอดหลักสูตรกู้ชีพฉุกเฉินออกมาได้หรือไม่ หรือเห็นความสำคัญของวิชากู้ชีพฉุกเฉิน เพื่อฝึกทักษะเรียนรู้ปลูกฝังให้กับเด็กไทย ได้รู้รอดปลอดภัยเพื่อช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่น เป็นวิชาชีวิตที่ติดตัวเด็กไทยไปตลอดชีพได้มากน้อยแค่ไหน