วิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 6 “รวมพลัง สร้างสังคมนมแม่ ให้ยั่งยืน”

ที่มา : มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย


วิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 6 “รวมพลัง สร้างสังคมนมแม่ ให้ยั่งยืน” thaihealth


แฟ้มภาพ


วิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 6รวมพลัง สร้างสังคมนมแม่ ให้ยั่งยืน”


มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ร่วมกับ กรมอนามัย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ สภาการพยาบาล ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติ ครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อ “รวมพลัง สร้างสังคมนมแม่ ให้ยั่งยืน” (Sustaining Breastfeeding Together) ซึ่งเป็นคำขวัญในงานสัปดาห์นมแม่โลกปี พ.ศ. 2560 โดยมี นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรม มณเฑียร ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร  โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการครั้งนี้กว่า 500 คนประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล นักวิชาการ บุคลากรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้บริหารและพนักงานจากสถานประกอบกิจการ รวมทั้งแม่และประชาชนทั่วไปที่สนใจงานนมแม่  งานประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติ จัดขึ้นทุก 2 ปีครั้ง เพื่อให้เครือข่ายได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสริมพลังด้านวิชาการในการปกป้อง ส่งเสริม สนับสนุนในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ภายในงานมีงานเสวนาด้านวิชาการ ในรูปแบบต่างๆ การแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การจัดแสดงนิทรรศการ การทำ workshop ในหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น การทำงานวิจัยเกี่ยวกับนมแม่ การขับเคลื่อนนมแม่สู่ชุมชน และเวิร์คช้อป Kangaroo Mother care to Baby Wearing.


นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ประธานการเปิดการประชุม เน้นย้ำการมุ่งสู่เป้าหมายปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างยั่งยืนในเรื่อง 1- 6 -2 คือ การให้ทารกได้กินนมแม่ทันทีหลังคลอดภายในหนึ่งชั่วโมง การกินนมแม่อย่างเดียวในหกเดือนแรกของชีวิตและการกินนมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยต่อไปจนถึงอายุสองปี ซึ่งท่านรัฐมนตรีได้ประกาศรณรงค์ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในโอกาสสัปดาห์นมแม่โลก


นายแพย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงนมแม่ในแง่การลงทุนด้านสุขภาพที่คุ้มค่าว่า “การลงทุนด้านสุขภาพเพื่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ซึ่งเป็นช่วงแรกของชีวิต เป็นการวางรากฐานสำคัญของสุขภาพในระยะยาว จนถึงเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นต้นทุนชีวิตที่ดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจที่สำคัญ เป็นการป้องกันโรคไม่ติดต่อที่สามารถป้องกันได้ (NCD) เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต โรคไตและโรคอ้วน อันเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศในปัจจุบัน กรมอนามัยมีนโยบายและกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการดูแลสุขภาพ มหัศจรรย์ 1,000 วัน (270 วัน ในครรภ์ 180 วัน 0-6 เดือน 255 วันต่อจาก 6 เดือนถึง 2 ปี) เพื่อให้ความรู้และแนวทางดูแลสุขภาพตั้งแต่ในครรภ์ โดยมีการบูรณาการ ตั้งแต่การสร้างพ่อแม่คุณภาพ  การตั้งครรภ์คุณภาพของแม่ โภชนาการในแม่ สร้างเด็กฉลาด ด้วยน้ำนมแม่”


วิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 6 “รวมพลัง สร้างสังคมนมแม่ ให้ยั่งยืน” thaihealth


แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า“การประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติ ครั้งที่ 6 เป็นการจัดงานเพื่อเชิญภาคีเครือข่ายการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มารวมพลังเพื่อเสริมความเข้มแข็งในด้านวิชการเพื่อให้มีความทันสมัย มีนวัตกรรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิทยาการ ความก้าวหน้าที่ภาคีเครือข่ายจากหลายภาคส่วนได้ร่วมกันทำ เพื่อให้เกิดการพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป”


ในปีนี้ เป็นโอกาสพิเศษที่จะประกาศเกียรติคุณโดยการมอบโล่เกียรติยศ แก่บูรพคณาจารย์ผู้ทุ่มเทและเป็นผู้วางรากฐานการทำงานด้านนมแม่ ทั้งระดับชาติและระดับโลกผู้เป็นแบบอย่างในการทำงานด้านนมแม่แก่ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์วีระพงษ์ ฉัตรานนท์ ผู้บุกเบิกนำพาสังคมไทยให้เดินเข้าสู่เป้าหมายการส่งเสริมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างจริงจัง เป็นการช่วยเด็กไทยให้รอดพ้นจากการเจ็บป่วยและเสียชีวิตอันเกิดการไม่ได้กินนมแม่ได้อย่างมหาศาล ท่านเป็นแกนนำสำคัญการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ผ่านโครงการโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่-ลูก หรือ Baby Friendly Hospital Initiative (BFHI) โดยดำเนินงานตาม "บันได 10 ขั้นสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่" โดยเป็นผู้นำและที่ปรึกษา UNICEF และกระทรวงสาธารณสุข จนทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบ 1 ใน 11 ประเทศแรกของโลกในการนำ BFHI มาทดลองใช้ จนแพร่หลายไปทั่วโลกในระยะต่อมา


นอกจากนี้ ยังมีการมอบ โล่ประกาศเกียรติคุณ ผู้เชี่ยวชาญการบริหารจัดการ “ศูนย์เรียนรู้สร้างงานดี ชีวีมีสุข ด้วยนมแม่” ซึ่งประกอบด้วย บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย)  บริษัทไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด บริษัทแมรีกอท จิวเวลรี่ (ประเทศไทย) จำกัด  บริษัทเวสเทิร์นดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทสยามเด็นโซ่  แมนูแฟคเจอริ่ง  จำกัด  ผู้เป็นต้นแบบในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบการ และเป็นศูนย์เรียนรู้แหล่งศึกษาดูงาน องค์กรพี่เลี้ยงขยายผลสู่สถานประกอบการกิจการอื่นๆ ต่อไป


ปัจจุบัน อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมอย่างเดียวนาน 6 เดือน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในประเทศไทย แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของทั่วโลก จากรายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กในประเทศไทย ด้วยวิธี Multiple Indicator Cluster Survey (MICS)โดยองค์การยูนิเซฟประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2548- 2549 มีเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนที่กินนมแม่อย่างเดียว(Exclusive Breastfeeding) ในระยะ แรกหลังเกิด คิดเป็น ร้อยละ  5.4 และเพิ่มขึ้น ในระหว่าง พ.ศ. 2558-  2559 เป็นร้อยละ 23.1 ก็ยังนับว่าต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออก  ประเทศไทย จึงต้องเดินหน้าต่อไป ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประชากรคุณภาพให้กับประเทศไทย และเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมาย การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระดับโลกที่จัดทำขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยต้องใช้  SDGs เป็นทิศทางในการพัฒนาในช่วง 15 ปี (ค.ศ. 2015-2030) รัฐบาลทั่วโลกได้มีการตกลงกัน ในการตั้งเป้าหมายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวใน 6 เดือนแรกให้เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 50 ในปี ค.ศ. 2025 หรือ พ.ศ. 2568” พญ. ศิริพร กล่าว


นอกจากนี้ยังมีหัวข้อที่น่าสนใจจากวิทยากรที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น เรื่องนมแม่ กับ Executive Function สู่การปฏิบัติในชุมชน โดยอาจารย์พรพิไล เลิศวิชา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมอง(BBL) รางวัลเมธีวิจัยอาวุโส สกว. หัวข้อ พลังของสื่อสังคมกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างยั่งยืน” โดย คุณช่อผกา วิริยานนท์  นักสื่อสารมวลชน ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์การสื่อสารสาธารณะ และพญ. จิราภรณ์ อรุณากูรคุณหมอโอ๋ เจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” ผู้เขียนหนังสือ “เลี้ยงบวก ลูกบวก” การอภิปรายถึงเรื่องข้อเท็จจริงในเรื่องนมแม่ กับ Stem cell, Micronutrients ในนมแม่ เป็นต้น 

Shares:
QR Code :
QR Code