วิจัยพบภาคกลางแชมป์ตายอุบัติเหตุ

ขับเร็วเกิน120กม

 

 วิจัยพบภาคกลางแชมป์ตายอุบัติเหตุ

          นักวิจัย เผย ภาคกลาง-ตะวันออก แชมป์ตายจากอุบัติเหตุสูงสุด ชี้อุบัติเหตุลด ความรุนแรงเพิ่ม กว่า 80% ไม่รู้ความเร็วที่กฎหมายกำหนด  73% เคยใช้ความเร็วเกิน 120 กม./ชม.  ระยอง นำโด่ง เมาแล้วขับ

 

          ในงานเสวนา พลังเครือข่าย สู่ทศวรรษความปลอดภัยทางถนน ภาคกลางและภาคตะวันออกจัดโดย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) คณะทำงานสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนในจังหวัดนำร่อง (สอจร.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

          ผศ.ดร.กันวีร์ กนิษพงศ์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือ เอไอที  พร้อมด้วย ดร.ไพโรจน์ เร้าธนชลกุล มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยงานวิจัย ปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ใช้รถใช้ถนน ในภาคกลางและภาคตะวันออก เพื่อสะท้อนปัญหาสถานการณ์อุบัติเหตุในปัจจุบันโดยทำการสัมภาษณ์ประชาชนทั่วประเทศ จังหวัดละ 1,600 คน ตั้งแต่เดือนมี.ค.-ก.ค. 2553

 

          ผลการวิจัยในภาคกลางและภาคตะวันออกภาพรวมพบว่า ตั้งแต่ปี 2548-2552 แนวโน้มการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกับกลับพบว่า ความรุนแรงของอุบัติเหตุแต่ละครั้งกลับเพิ่มขึ้น และมีอัตราการตายต่อจำนวนประชากรแสนคนสูงที่สุด แต่มีอัตราการเสียชีวิตต่อจีดีพีต่ำที่สุด ความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงนับหมื่นล้านบาทต่อปี  ที่สำคัญพบว่า ผู้ขับขี่รถยนต์และจักรยานยนต์มากกว่า 80% ไม่รู้ความเร็วที่กฎหมายกำหนด ผู้ขับขี่เคยดื่มเหล้าแล้วขับขี่สูงถึง 35-40% โดยจังหวัดที่ดื่มแล้วขับมากที่สุด ได้แก่ ระยอง สระแก้ว ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ

 

          นอกจากนี้ ประชาชนในภาคกลางและภาคตะวันออก ส่วนใหญ่ยังใช้ความเร็วสูงกว่ากฎหมายกำหนด โดยในเขตเมืองพบว่า ประชาชนเคยใช้ความเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด 80 กม./ชม. ถึง 64% นอกเขตเมืองประชาชนเคยใช้ความเร็วมากกว่า 120 กม./ชม.ถึง 73% ทั้งที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 90 กม./ชม.

 

          สาเหตุหลักของการเกิดปัญหาอุบัติเหตุ คือปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงและทัศนคติที่ไม่ถูกต้องของประชาชนในหลายจังหวัด  เช่น จังหวัดระยอง มีคนที่มีทัศนคติว่า แม้ดื่มสุรา ถ้าพอมีสติก็ขับขี่รถได้มากที่สุด   ส่วนจังหวัดสระแก้ว  มีคนที่มีทัศนคติที่ว่า  ขับเร็วไม่อันตราย” มากที่สุด ส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา มีคนขับและคนซ้อนไม่สวมหมวกนิรภัยมากที่สุด

 

          นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า ผลการศึกษาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ  ในการนำไปใช้กำหนดการตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูล ความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชนท้องถิ่นที่ทำงานด้านอุบัติเหตุ ภายหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศให้ความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ และรับรองแผนทศวรรษความปลอดภัยทางถนนของไทย เพื่อให้สอดคล้องกับมติของสหประชาชาติ

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

 

update: 03-08-53

อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ

 

Shares:
QR Code :
QR Code