วิจัยพบข้าวไทยช่วยลดไขมันในเลือด

ชี้ถูกกว่ายานอก และแก้โรคหัวใจ

 

วิจัยพบข้าวไทยช่วยลดไขมันในเลือด

          “คณะเภสัชฯ มช.” วิจัยพัฒนาข้าวไทยเป็นยาลดคอเลสเตอรอลในเลือด ได้สำเร็จเป็นแห่งแรกของไทย ราคาถูกกว่ายานำเข้าจากต่างประเทศ แถมนำมาใช้เป็นอาหารเสริม หรือผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ ช่วยให้คนคอเลสเตอรอลสูง มีทางเลือกในการรักษาเพิ่มขึ้น ลดการเสี่ยงเกิดโรคหัวใจ พร้อมคว้ารางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ในการประชุมเสนอผลงานวิจัยทางเภสัชศาสตร์ ประจำปี 2551

 

          เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. รศ.ดร.สุรพล นธการกิจกุล อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย เรื่อง การผลิตสารลดไขมันในเลือดโดยวิธีชีวสังเคราะห์ จากเชื้อโมเนสคัส เปอร์เปอร์เรียส (monascus spp.) ในข้าวไทย เปิดเผยว่า ทีมวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ ร่วมกับคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประสบความสำเร็จในการนำข้าวไทยมาแปรรูปเป็นยาลดไขมันสำเร็จเป็นแห่งแรกของประเทศไทย

 

          โดยนำแนวคิดพัฒนา ข้าวไทยมาต่อยอดด้านเภสัชกรรม เพื่อแก้ปัญหาโรคไขมันในเลือด หรือสารคอเลสเตอรอลสูงในเลือด ที่คุกคามสุขภาพคนไทย เป็นสาเหตุสำคัญก่อให้เกิดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุการตายระดับต้น ๆ ของคนไทย

 

          ผลการวิจัยข้าวด้วยการแปรรูปโดยวิธีชีวสังเคราะห์ ด้วยเชื้อนี้ในข้าว พบสารโมนาโคลิน เค (monacolin k) ที่มีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลในเลือดเทียบเท่ายาลดไขมัน ในเลือดที่มีขายในท้องตลาด และนำมาใช้เป็นอาหารเสริม หรือผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ ช่วยให้ผู้มีสารคอเลสเตอรอลสูง มีทางเลือกในการรักษาเพิ่มขึ้น

 

          หัวหน้าทีมวิจัยผู้นี้ กล่าวว่า ผลงานวิจัยครั้งนี้ ใช้เวลาพัฒนาแนวความคิดต่อยอดจากภูมิปัญญาพื้นบ้านของชาวเอเชีย ในการหมักอาหารเพื่อถนอมอาหารให้สามารถเก็บอาหารได้นานยิ่งขึ้น และได้สารอาหารที่มีคุณค่าสูงหรือเพิ่มสีสันในอาหาร

 

          เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย รศ.ดร.เรณู ปิ่นทอง และ รศ.ดร.นิสิต กิตติพงศ์ พัฒนาร่วมกับนักวิจัยของมหาวิทยาลัย ชิบะ ประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยอินน์บรูก ประเทศออสเตรีย มี น.ส.จันทนา คีรีทวีป นักศึกษาระดับปริญญาโท น.ส.พัชรีย์ พัฒนากูล และ น.ส.ศศิธร ใบผ่อง นักศึกษาระดับปริญญาเอก เป็นผู้ช่วยวิจัย

 

          ดำเนินการต่อเนื่องมา 3-4 ปี จนค้นพบปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อกระบวนการผลิตด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อให้ได้สารโมนาโคลิน เค ที่ลดคอเลสเตอรอลในเลือด ได้ปริมาณสูงสุด และลดการเกิดสารสังเคราะห์ตัวอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตราย ต่อสุขภาพได้ คือการเลือกสายพันธุ์ของเชื้อราในกลุ่มโมเนสคัส การเลือกประเภทของธัญพืช และสภาวะสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม

 

          รศ.ดร.สุรพล ยังกล่าวว่า การศึกษาเชิงคุณค่าทางยาด้านเภสัชกรรม พบว่า การควบคุมปริมาณการผลิตสารโมนาโคลิน เค เพื่อลดปริมาณคอเลส เตอรอลในเลือด สามารถมีทางเลือกในรูปแบบของอาหาร โดยผู้วิจัยทดลองใช้ข้าวไทยพันธุ์ชัยนาท ทั้งในรูปแบบข้าวขาวเม็ดยาว ข้าวหัก และข้าวกล้อง เมื่อเปรียบเทียบแล้วจะพบว่า การหมักเชื้อราในข้าวที่ขัดสีที่ผ่านชีวสังเคราะห์ มีปริมาณสารโมนาโคลิน เค มากกว่าข้าวที่ไม่ขัดสี อย่างไรก็ดี ต้องศึกษาคุณค่าอาหารด้านอื่นๆ เพิ่มเติม

 

          ขณะนี้ จากการศึกษาเปรียบเทียบปริมาณสารโมนาโคลิน เค ในข้าว ที่ผ่านการแปรรูป ซึ่งวิเคราะห์หาปริมาณด้วยเทคนิควิธีที่เราใช้ ได้ปริมาณสารสำคัญสูงถึง 338.86 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือพีพีเอม เทียบกับขนาดของยาลดไขมันในเลือดกลุ่มซิมแวสเตติน แคปซูลชนิดรับประทานที่จำหน่ายในท้องตลาด ขนาด 10 และ 20 มิลลิกรัม ราคา 20 กว่าบาทของต่างประเทศแล้ว พบว่าเทียบเท่าข้าวที่ผ่านการแปรรูปเพียง 10-20 กรัม และของเราราคาแค่ 10 บาทเท่านั้น

 

          หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวต่อว่า วิธีชีวสังเคราะห์ทำได้ง่ายและขั้นตอนไม่ยุ่งยาก จึงคาดหวังว่าในอนาคต จะหาแนวทางในการถ่ายทอดไปสู่ชุมชน ให้สามารถทำขึ้นมาเองได้ หรือหากกลุ่มชาวบ้านอยากทำขึ้นมาเพื่อใช้รับประทานเอง สามารถทำได้ทันที เพียงแต่ต้องผ่านการอบรมก่อน และสามารถพัฒนากระบวนการผลิตในระบบโรงงานด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ด้วย

 

          ที่สำคัญจะนำไปสู่การป้องกันรักษาภาวะคอเลสเตอรอลสูงในคนไทยในรูปแบบอาหารประจำวันหรืออาหารเสริมสุขภาพ หรือเป็นรูปอาหารผงเพื่อผสมในอาหารและเครื่องดื่ม โดยต้นทุนค่าใช้จ่าย ใกล้เคียงกับยาลดไขมันในเลือดที่ผลิตขายในประเทศ และไม่ต้องพึ่งยานำเข้าจากต่างประเทศที่ราคาสูงกว่า

 

          ผลงานการวิจัยชิ้นนี้ ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น poster presentation award 2008 สาขา biopharm aceutical science จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการประชุมเสนอผลงานวิจัยทางเภสัชศาสตร์ประจำปี 2551 ครั้งที่ 25 เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมาด้วย

 

          อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ ยังกล่าวถึงวิธีการทำซึ่งประชาชนสามารถทำได้เองง่าย ๆ ว่าขั้นตอนแรกให้นำข้าวที่นึ่งสุกแล้วมาเตรียมไว้ในถุงพลาสติกใส่อาหาร จากนั้นนำยีสต์หรือเชื้อรา ที่จะทำให้เกิดการหมักวางไว้ด้านบน ในอัตราและสัดส่วน 1 กรัม ต่อการใช้ยีสต์ 2 ซม. หากขึ้นไปถึงระดับ 1 กก. ต้องใช้ยีสต์ ประมาณ 5-10 ซม.

 

          จากการทดลอง จะใช้ระยะเวลาตั้งแต่ 18-30 วัน ขึ้นอยู่กับจำนวนข้าวและยีสต์ที่ใส่ลงไป จากนั้นปิดฝา โดยให้ปากถุงพลาสติกอยู่ในลักษณะรูปคอขวดแล้วนำสำลีปิดไว้จนกว่าจะครบตามกำหนด เมื่อถึงเวลาแล้วสามารถนำข้าวที่ได้มาบดเป็นผง หรือนำไปตากแห้งเหมือนข้าวแดง ใช้รับประทานได้ทันที

 

          โดยตัวเม็ดข้าวที่ได้ นอกจากจะมีสารที่ช่วยลด  คอเลสเตอรอลในเลือดแล้ว ยังมีสารอาหารอื่น ๆ อีก จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคตับหรือไต และผู้ที่ไม่เจ็บป่วยจะทานเป็นอาหารเสริมดูแลสุขภาพก็ได้ โดยปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรในการบริโภคในรูปอาหารหรือเสริมอาหาร ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

update 15-12-51

Shares:
QR Code :
QR Code