วิจัยชุดตรวจเบาหวานรูปแบบใหม่
ที่มา : เดลินิวส์
นักวิจัยพัฒนาชุดตรวจคัดกรอง และติดตามภาวะเบาหวานแบบใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร ก่อนการตรวจวัด และสามารถตรวจติดตามภาวะเบาหวานได้ทุก 1-2 อาทิตย์
ทีมวิจัยจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ(นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) นำโดย ดร.เดือนเพ็ญ จาปรุง จากกลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน จึงร่วมกับนักวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น เนคเทคสวทช. แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรฯ และคณะวิศวกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ " เรื่องการวัดปริมาณน้ำตาลบนอัลบูมินเพื่อติดตามภาวะเบาหวาน" ขึ้น
เพื่อศึกษาโมเลกุลที่จำเพาะกับโปรตีนตัวบ่งชี้และติดตามเบาหวานตัวใหม่ นั่นก็คือ โปรตีนไกลเคทเตดอัลบูมิน หรือน้ำตาลที่เกาะอยู่บนโปรตีนอัลลูมิน ซึ่งโปรตีนชนิดนี้สามารถตรวจวัดได้ทุกสองอาทิตย์ และมีการพัฒนาต่อยอดเป็นชุดตรวจไกลเคทเตดอัลบูมิน เพื่อติดตามภาวะเบาหวาน ที่ใช้ได้ทั้งผู้ป่วยทั่วไป และผู้ป่วยธาลัสซีเมีย
ปัจจุบันประชากรไทยเป็นโรคเบาหวานมากกว่า 4 ล้านคน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจติดตามการดำเนินไปของโรคเพื่อวางแผนการรักษาและปฏิบัติตนที่ถูกต้อง แต่การตรวจติดตามเบาหวานในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังใช้วิธีการวัดระดับ HbA1c หรือน้ำตาลที่จับอยู่บนโปรตีนในเม็ดเลือดแดง ซึ่งเป็นการตรวจวัดที่ยังมีข้อจำกัดทั้งเรื่องของระยะเวลาในการตรวจที่ยาวนานเกินไป โดยตรวจวัดทุก 2-3 เดือน ซึ่งอาจไม่เหมาะกับการวางแผนรักษาในคนไข้บางกลุ่มที่มีอาการรุนแรงและรวดเร็ว นอกจากนี้การตรวจ HbA1c อาจมีระดับต่ำกว่าปกติ และไม่น่าเชื่อถือในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในการสร้างเม็ดเลือด เช่น ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย และพาหะธาลัสซีเมีย ซึ่งมีมากถึง 30-40% ของประชากรไทย
ล่าสุด…ชุดตรวจไกลเคทเตดอัลบูมิน เพื่อติดตามภาวะเบาหวาน "SugarAL GO sensor" ได้รับรางวัลเหรียญเงิน จากเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติในงาน 47th International Exhibition of Inventions Geneva ที่จัดขึ้นที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
โดยผลงานวิจัย "SugarAL GO sensor" นี้ เป็นชุดตรวจคัดกรอง และติดตามภาวะเบาหวานแบบใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร ก่อนการตรวจวัด และสามารถตรวจติดตามภาวะเบาหวานได้ทุก 1-2 อาทิตย์
เป็นการประยุกต์ใช้แอปตาเซ็นเซอร์ร่วมกับนาโนเทคโนโลยี ร่วมกับการพัฒนาเครื่องตรวจวัดแบบพกพา ที่เชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นอย่างง่ายบนโทรศัพท์มือถือ สะดวกต่อการใช้งานโดยบุคลากรทางการแพทย์ และบุคคลทั่วไป ผลงานดังกล่าวมีการยื่นจดสิทธิบัตรในประเทศไทยแล้วจำนวน 8 ฉบับ และในสหรัฐอเมริกาอีก 1 ฉบับ