วิจัยชี้โรครุมโชเฟอร์ หวั่นอุบัติเหตุพุ่งจี้คนขับรถโดยสารเช็กสุขภาพ
น.พ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกิจกรรมรณรงค์ “คนขับรถโดยสารสาธารณะสุขภาพดี” ว่า สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 เขต ทั่วประเทศจะร่วมกันทำกิจกรรมดังกล่าวเพื่อให้ผู้ขับรถสาธารณะหันมาใส่ใจสุขภาพ และสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงผู้ที่ใช้รถใช้ถนนให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (tdri) พบว่าสาเหตุที่ผู้โดยสารนิยมใช้บริการรถตู้ในการเดินทาง เพราะคิดว่าได้นั่งแน่ มีแอร์ ถึงที่หมายเร็วไม่รอนาน แต่สิ่งที่ผู้โดยสารแทบไม่มีโอกาสเลือกได้เลยคือ คนขับรถและรถ ขณะที่ปัญหาการใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะปัจจุบันมีจำนวนรถเพิ่มมากขึ้น มาตรฐานรถแตกต่างกันออกไป จำนวนรถในปัจจุบันจึงมากเกินไป คนขับรถต้องทำรอบเพื่อเพิ่มรายได้ ต้องขับรถแข่งกัน แย่งผู้โดยสาร โดยละเลยความปลอดภัย อุบัติเหตุจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งและเพิ่มขึ้น ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตไม่น้อย
“สถิติของกรมการขนส่งทางบก พบว่าอุบัติเหตุจราจรทางบกที่เกิดจากรถโดยสารเล็กหรือรถตู้ ในเขตพื้นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุประจำปีงบประมาณ 2554 จำนวน 869 ครั้ง ส่วนใหญ่เกิดจากอุปกรณ์ชำรุด ร้อยละ 16.51 รองลงมาคือ ขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดและเมาสุรา คิดเป็น 9.71 และ 9.04 ตามลำดับ” น.พ.นพพรกล่าว
จากผลการตรวจสุขภาพพนักงานขับรถ พบว่า เกือบ 1 ใน 4 ขับรถมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง เป็นโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 20 โรคเบาหวานร้อยละ 6 และยังพบมีพฤติกรรมเสี่ยงคือ ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ ร้อยละ 60
จากข้อมูลข้างต้น ผู้ขับรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท จำเป็นต้องมีความพร้อมทางร่างกายและจิตใจ เพื่อจะทำหน้าที่ได้อย่างปลอดภัย โดยสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ สธ. โทร.1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร.0-2590-3333
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด