วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย
ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
แฟ้มภาพ
โรงพยาบาลตรัง ร่วมกับสถาบันโรคทรวงอก จัดการการประชุมวิชาการสัญจร เขต 11 , 12 ในโครงการ “วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย (Save Thais from Heart Diseases)” เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจให้มีอัตราการเสียชีวิตลดลง
ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลตรัง พญ.จิรวรรณ อารยะพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรัง เป็นประธานในการประชุมวิชาการสัญจร เขต 11 , 12 ในโครงการ “วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย (Save Thais from Heart Diseases)” วันที่ 29-30 มีนาคม 2561 ณ โรงพยาบาลตรัง จังหวัดตรัง ระบบบริการสุขภาพในรูปแบบข่ายบริการสุขภาพ (Service Plan) เครือข่ายละ 4-8 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 12 เขตเครือข่ายบริการในส่วนภูมิภาค และเขต 13 กรุงเทพมหานคร ดูแลประชากรเครือข่ายละ 5-6 ล้านคน โดยเชื่อมโยงสถานบริการตั้งแต่ระดับ ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ และสถาบันเฉพาะทาง โดยการเน้นประสิทธิภาพของโรงพยาบาลทุกระดับ และเครือข่ายในการรักษาโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุข เพื่อตอบสนองปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศ สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบสาขาโรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนไทยในระดับต้นๆ
ดังนั้น เพื่อพัฒนามาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ ตลอดจนการบริหารจัดการระบบฐานข้อมูลของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน จึงได้จัดโครงการ “10,000 ดวงใจ ปลอดภัย ด้วยพระบารมี” ในปี 2556 และต่อเนื่องมาเป็นโครงการ “วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย (Save Thais from Heart Diseases)” ตั้งแต่ปี 2557-2561 มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพบุคลากร พัฒนาระบบบริการให้ได้มาตรฐาน การส่งต่อระบบเครือข่าย โดยการอบรมให้ความรู้ ผลิตตำรามาตรฐานการรักษา ผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว พัฒนาการบริหารจัดการข้อมูลโดย จัดตั้งศูนย์กลางเพื่อดูแล Server โปรแกรม Thai ACS Registry ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และรับฟังปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและสังกัดอื่นๆ ทั่วประเทศ จากผลการดำเนินงานโครงการ วิกฤตโรคหัวใจฯ สามารถทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ลดลงจากเดิมเหลือน้อยกว่าร้อยละ 10 ตามเป้าหมาย มีการเข้าถึงบริการได้รวดเร็ว และได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐานมากขึ้น
ทั้งนี้ พญ.จิรวรรณ อารยะพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรัง นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์หัวใจ สถาบันทรวงอกจังหวัดนนทบุรี นพ.สงกรานต์ จันทร์มุณี รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ นพ.ปัญญา งามไตรไร อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลตรัง ร่วมกันแถลงว่า ในปี 2560 จากรายงานการบริหารจัดการข้อมูล โปรแกรม Thai ACS Registry มีผู้ป่วยได้รับการขยายหลอดเลือดหัวใจ จำนวน 14,592 ราย จาก 441 โรงพยาบาล อัตราตายผู้ป่วย STEMI ร้อยละ 9.6 ในปีงบประมาณ 2561 สถาบันโรคทรวงอกได้ดำเนินงานโครงการ “วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย (Save Thais from Heart Diseases)” เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ พัฒนาขีดความสามารถของระบบส่งต่อและขยายการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ ในโรงพยาบาลระดับต่างๆ ตามเครือข่ายบริการ (Service Plan) โดยให้โรงพยาบาลระดับชุมชนสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือด และมี Warfarin Clinic ทุกแห่ง และพัฒนาโรงพยาบาลระดับ A ให้มี Heart Failure Clinic อย่างน้อย 1 แห่ง ในทุกเขตบริการ จึงได้จัดประชุมวิชาการสัญจร ในโครงการ “วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย (Save Thais from Heart Diseases)” ให้กับโรงพยาบาลในเขต 11 และ 12 โดยโรงพยาบาลตรัง เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดประชุมครั้งนี้
โดยมีกิจกรรมการบรรยายทางวิชาการเรื่องโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน มาตรฐานการรักษาผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวในรูปแบบสหวิชาชีพ (Heart Failure Clinic) มาตรฐานการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดในรูปแบบสหวิชาชีพ (Warfarin หรือ Anticoagulant Clinic) อบรมการลงข้อมูลทะเบียนผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันให้ข้อมูลระบบบริการสุขภาพในรูปแบบข่ายบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาโรคหัวใจ มีการสาธิตและแสดงวิธีการตลอดจนให้การรักษาผู้ป่วย โดยทีมงานห้องสวนหัวใจของสถาบันโรคทรวงอกและโรงพยาบาลตรัง จำนวน 6 ราย เป็นผู้ป่วยผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว (ASD) 3 ราย และลิ้นหัวใจตีบ (MS) 3 ราย การประชุมในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ผู้รับผิดชอบให้การดูแลข้อมูลผู้ป่วยโรคหัวใจ ทีมงานอายุรแพทย์หัวใจ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของสถาบันโรคทรวงอกและโรงพยาบาลตรัง จำนวนทั้งสิ้น 300 คน