วิกฤตเชื้อดื้อยา…ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องใส่ใจ
สถานการณ์ดื้อยาในประเทศไทย เป็นเรื่องที่คนไทยน้อยคนจะเข้าใจ!!
ปัจจุบันไทยมีการนำเข้าและผลิตยาปฏิชีวนะสูงเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีมูลค่าถึง 20% ของยาทั้งหมด หรือราว 20,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
สาเหตุที่ต้องจับตากลุ่มยาปฏิชีวนะ เป็นเพราะผลที่เกิดขึ้นเมื่อยากลุ่มดังกล่าวเกิดการดื้อยาขึ้น ร้ายแรงอย่างที่คาดไม่ถึง เนื่องจากกลุ่มยาปฏิชีวนะเป็นยาที่มีการผลิตคิดค้นใหม่น้อยลง หากเกิดการดื้อยาก็จะไม่มียาใดใช้ในการรักษาอีก ดังเช่นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย ที่เรียกว่า “Super Bug” และเกิดการติดเชื้อดื้อยาลามไปอีกหลายประเทศ
แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมจัดงานประชุมวิชาการระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งที่ 2เรื่อง การจัดการปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ กว่า 150 คนจาก 30 ประเทศ อาทิ ไทย สวีเดน อินโดนีเซียอินเดีย เวียดนาม เนเปาล ฯลฯ เมื่อเร็วๆ นี้
ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลีผู้จัดการ กพย. ชี้ว่าจากการประชุมผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นปัญหาตรงกันว่าการดื้อยาและการใช้ยาในกลุ่มยาปฏิชีวนะค่อนข้างควบคุมยาก การเฝ้าระวังที่ครอบคลุมถือว่าจำเป็นอย่างยิ่ง โดยปัจจุบันประเทศไทยถือว่าสถานการณ์น่าเป็นห่วงเพราะยังเก็บข้อมูลได้ไม่ทั่วถึงเพียงพอเพราะขณะนี้มีศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพียง 60 แห่งจากทั้งหมดกว่า 900 แห่ง ซึ่งยังต้องผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลและเก็บข้อมูลส่วนดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพ
สาเหตุของการเกิดเชื้อดื้อยาขึ้น เกิดจากพฤติกรรมการใช้ยาเป็นสำคัญ คนไทยยังมีพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้อง เกิดจากการซื้อยามากินเองโดยไม่จำเป็น และกินไม่ครบตามจำนวนที่เหมาะสมกับการรักษาโรค หรือใช้ยาขนาดที่แรงเกินไป เนื่องจากไม่ได้ปรึกษาเภสัชกร ส่งผลให้เชื้อโรคดื้อยาอย่างรวดเร็วขึ้น
“ประชาชนมักเข้าใจผิดในการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยยาปฏิชีวนะเป็นยาสำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่มีประโยชน์สำหรับผู้ติดเชื้อไวรัส เช่นหวัด ท้องเสีย หรือเป็นแผล ซึ่งเชื้อดื้อยา สามารถถ่ายทอดจากคนสู่คนได้โดยมีกลไกคล้ายกับการติดต่อโรคจากคนสู่คน”
สถานการณ์การดื้อยาในประเทศไทย ขณะนี้พบว่า เชื้อบางชนิดมีการดื้อยา 100% โดยพบการดื้อยาดังกล่าวในห้องผู้ป่วยวิกฤตซึ่งส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น กระแสเลือดปอด ทางเดินปัสสาวะ ช่องท้อง เยื่อหุ้มสมอง และแผลผ่าตัด เป็นต้นและเมื่อติดเชื้อดื้อยานี้แล้วมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง
สิ่งที่เกิดการเรียกร้องในเวทีนานาชาติ คือ ให้ทุกประเทศเกิดระบบการจัดการปัญหาการดื้อยาและการเฝ้าระวังพัฒนาระบบยา เพื่อป้องกันปัญหาการดื้อยาที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพราะเมื่อเกิดการระบาดขึ้น จะสร้างความกังวลในการเดินทางเข้ามารักษาตัวของชาวต่างชาติด้วย
การช่วยกันยับยั้งปัญหาเชื้อดื้อยาในประเทศและภูมิภาคนี้ สามารถช่วยกันได้ โดยทั้งประชาชนทั่วไป และบุคลากรด้านสุขภาพ ต้องเกิดความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเพิ่มความตระหนักถึงการใช้ยาโดยผู้ป่วยก็ต้องเข้าใจถึงขั้นตอนการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่คิดหรือเข้าใจเอาเองว่ายาแรง คือ ยาดีที่สุดหรือ ทานยาเองโดยไม่ปรึกษาเภสัชกร จนทำให้เกิดการใช้ยาไม่สมเหตุสมผลเช่น ควรทราบว่ายาปฏิชีวนะ ไม่ใช่ยาแก้อักเสบ และเป็นยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ฉะนั้น โรคที่เกิดจากไวรัส เช่น หวัด ไม่มีความจำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะแต่อย่างใด
ส่วนบุคลากรทางด้านสุขภาพก็ต้องตระหนัก และสั่งใช้ยาอย่างเหมาะสมด้วย ตลอดจนไม่เรียกยาปฏิชีวนะว่ายาแก้อักเสบ เพราะจะทำให้ประชาชนสับสนยา เป็นสิ่งที่มีทั้งประโยชน์และโทษ ถ้าใช้ไม่เป็น!!
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน