วิกฤติแพทย์-พยาบาลสมองไหล บาดแผลเรื้อรังที่ต้องเร่งรักษา


สถานการณ์อัตรากำลังทางการแพทย์ ไม่ว่าจะหมอ พยาบาล รวมถึงวิชาชีพต่างๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญและบ่งบอกถึงสถานการณ์ด้านสาธารณสุขของไทยได้ตลอดมา


“สมองไหล” เป็นสถานการณ์ที่ใช้อธิบายถึงปัญหาการผลิตกำลังคนรองรับการให้บริการด้านการแพทย์ และสาธารณสุข ปัจจุบันสัดส่วนของหมอต่อประชากรของไทย ถือว่ากระจุกตัวในบางพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่ยังถือว่าขาดแคลน


ดร.กฤษดา แสวงดี นักวิจัยสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุขได้ทำงานวิจัยเรื่อง “ปัญหาสมองไหลของบุคลากรสุขภาพจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน” ซึ่งเป็นการวิเคราะห์การสูญเสียกำลังคนลูกจ้างสายวิชาชีพพยาบาลวิชาชีพ นักกายภาพบำบัด และนักเทคนิคการแพทย์ ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผลสรุปน่าเป็นห่วง เพราะถือว่าขณะนี้ “เข้าขั้นวิกฤติ”


ปัจจุบันสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุง จำนวน 102,833 คน โดยเป็นกำลังคนวิชาชีพสุขภาพ ถึง 23,843 คน  ในจำนวนนี้เป็นพยาบาลวิชาชีพ 11,744 คน  นักกายภาพบำบัด 626 คน นักเทคนิคการแพทย์ 755 คน


แต่จากการศึกษาสถานการณ์กำลังคนด้านสุขภาพระหว่างปี 2548-2552 จากโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป 67 แห่ง พบว่า ภาครัฐไม่สามารถรักษาบุคลากรที่เป็นลูกจ้างเหล่านี้ไว้ได้


นักเทคนิคการแพทย์มีอัตราการลาออกถึง ปีละ 64.58% นักกายภาพบำบัดลาออก 51.05% และ พยาบาลวิชาชีพ 40.84% สาเหตุที่เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง คือ การที่ภาครัฐยึดนโยบายใช้งานบุคลากรเหล่านี้ในฐานะลูกจ้างของโรงพยาบาล หรือที่เรียกว่าเป็นลูกจ้างเงินบำรุง ได้รับเงินเดือนจากโรงพยาบาล โดยไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งถือว่าเป็นการลดความมั่นคงในการจ้างงาน สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของความต้องการบริการสุขภาพของประชาชน ทำให้ผู้ที่ไม่ได้รับการบรรจุหาทางเลือกใหม่เพื่อความมั่นคงในอาชีพ


ดร.กฤษดา ระบุว่า ผู้เป็นพยาบาลวิชาชีพ และไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ จะพบว่า 48.68% จะลาออกในปีแรกที่เริ่มทำงาน ในปีต่อมาจะลาออกอีก 25.57% และลดลงอย่างต่อเนื่องในปีถัดมา สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือพื้นที่ที่ขาดแคลนกำลังคนและอยู่ในข่ายทุรกันดาร เช่น จ.น่าน ลูกจ้างพยาบาลลาออกถึง 90% ในปีแรก แต่ในทางตรงข้ามพบว่า หากมีการบรรจุเข้ารับราชการ เช่น ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษ กลับสามารถรักษาพยาบาลจบใหม่ได้ 92.3% ด้วยการให้บรรจุเป็นข้าราชการ


เมื่อเปรียบเทียบกันจะพบว่า เมื่อบรรจุพยาบาลวิชาชีพเป็นข้าราชการจะมีอัตราการลาออกเพียงร้อยละ 4.45 หรือน้อยกว่าลูกจ้างพยาบาลถึง 9.2 เท่า หมายความว่าพยาบาลจบใหม่ที่เป็นลูกจ้างลาออก 9 เท่าของข้าราชการ


“งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า รัฐสูญเสียโดยสิ้นเชิง จากการไม่สามารถรักษาบุคลากรเหล่านี้ไว้ได้ เพราะใช้งบประมาณมหาศาลลงทุนผลิตบุคลากร แต่ไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งการเลือกวิธีเพิ่มค่าจ้าง สร้างภาระให้โรงพยาบาลเล็กในเขตทุรกันดารซึ่งมีเงินบำรุงต่ำให้แพ้อย่างไม่มีทางสู้ ทางออกคือ การเพิ่มความมั่นคงในอาชีพด้วยการบรรจุเป็นข้าราชการ จะช่วยลดความสูญเสียลงได้” ดร.กฤษดา อธิบายที่ผ่านมา เคยมีงานวิจัยชี้ชัดถึงภาระหน้าที่ อันตรายที่พยาบาลต้องได้รับ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และการออกจากงานพยาบาลก่อนวัยอันควร พบว่าพยาบาลไทยมีระยะเวลาทำงานในวิชาชีพเฉลี่ยเพียง 22.55 ปี และมีอัตราการสูญเสียสูงถึงร้อยละ 4.4 ต่อปี


คงถึงเวลาที่รัฐจะทบทวนว่าหนทางใดจะรักษาบาดแผลนี้ได้จริง!!


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ