วิกฤติสงฆ์ไทย ‘อ้วนอมโรค’
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
"ตักบาตรอย่าถามพระ" เป็นสำนวนไทยหมายถึง "จะให้อะไรแก่ผู้ที่เต็มใจรับอยู่แล้วไม่ควรถาม" ซึ่งที่มาที่ไปนั้นมาจาก "วัตรปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ในศาสนาพุทธ" อันเป็นศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือ นั่นคือ "การบิณฑบาต" ซึ่งวินัยของสงฆ์กำหนดว่า "ภิกษุไม่อาจเลือกรับหรือปฏิเสธอาหารที่มีผู้ถวายได้" อย่างไรก็ตาม เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ญาติโยมที่ต้องการทำบุญคงต้องให้ความสำคัญกับอาหารที่จะถวายแด่พระสงฆ์ให้มากขึ้น
"ข้อมูลผู้ป่วยนอกโดยโรงพยาบาลสงฆ์" ระหว่างปี 2558 – 2560 พบพระสงฆ์เข้ารับการรักษา "กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)" เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อีกทั้งยังพบภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น โดยสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งคือ "พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่นิยมตักบาตรด้วยอาหารสำเร็จรูปที่หาซื้อได้ง่ายและสะดวก ซึ่งอาหารเหล่านั้นมักมีรสหวาน มัน เค็ม หรือมีไขมันมากเกินไป" ประกอบกับพระสงฆ์ไม่มีโอกาสได้เลือกอาหารเพื่อสุขภาพมากนัก จำเป็นต้องฉันอาหารที่ได้รับจากการบิณฑบาต
นอกจากนี้ "การตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ สามเณร ในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อคัดกรองและค้นหาปัจจัยเสี่ยงของโรคด้านภาวะโภชนาการเมื่อปี 2559 ซึ่งมีจำนวนพระสงฆ์ สามเณร ที่เข้ารับการตรวจทั้งสิ้น 5,989 รูป" ยังพบว่า ค่าดัชนีมวลกายเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ ปี 2549 พระสงฆ์ สามเณร ในเขตกรุงเทพฯ มีภาวะน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้นจากเดิม ร้อยละ 13.8 เป็นร้อยละ 15.9 (ค่า BMI อยู่ระหว่าง 23.0 – 24.9 กก.ตร.ม.) และมีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 18.0 เป็นร้อยละ 41.6 (ค่า BMI มากกว่า 25.0 กก.ตร.ม.)
เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับพุทธศาสนิกชนในการเลือกอาหารที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ โรงพยาบาลสงฆ์จึงร่วมกับมูลนิธิหอธรรมพระบารมี และโอกิลวี่ จัดโครงการรณรงค์ "ทำบุญหรือทำบาป (Making Merit or Creating Hurt)" สะท้อนปัญหาภิกษุอาพาธผ่าน "ประติมากรรม" เพื่อให้สังคมเห็นถึงอันตรายของโรคภัยไข้เจ็บในหมู่พระสงฆ์ อันมีสาเหตุมาจากการฉันอาหารที่ได้รับถวายจากฆราวาส
ประติมากรรมพระสงฆ์อาพาธจำลองชุดนี้ถูกนำไปจัดแสดงตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น วัด ตลาด โรงพยาบาล และสถานปฏิบัติธรรม ให้ผู้คนที่สัญจรไป-มาได้เห็น และเพื่อให้ตระหนักรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับพระสงฆ์มากยิ่งขึ้น ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่ประติมากรรมจัดแสดงจะได้รับ MMS ซึ่งส่งด้วยระบบ location-based service ที่มีลิงค์เข้าไปยัง www.obesitymonk.com โดยนอกจากจะช่วยให้ผู้เข้าชมได้เข้าใจถึงโรคภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับพระสงฆ์แล้ว ในเว็บไซต์ยังแนะนำวิธีแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยสูตรอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะกับพระสงฆ์ด้วย
นพ.ชำนิ จิตตรีประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ เปิดเผยว่า ในรอบ 10 ปีมานี้ มีจำนวนพระสงฆ์อาพาธด้วยโรคภัยที่เกิดจากการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ส่งผลให้ "หน่วยงาน ของภาครัฐมีภาระค่ารักษาพยาบาลของพระสงฆ์สูงถึงปีละกว่า 1,000 ล้านบาท" พระสงฆ์บางรูปต้องตัดขาเนื่องจากโรคเบาหวาน และอีกหลายรูปต้องใช้ชีวิตลำบาก ทนทรมานกับโรคที่เกิดจากระดับไขมันในเลือดสูง
"ผมเชื่อว่านี่คือความทุกข์ที่ไม่ว่าญาติโยมคนไหนได้ทราบก็คงสะเทือนใจเช่นกัน ขณะนี้สถานการณ์กำลังเข้าขั้นวิกฤติ จึงต้องหาทางแก้ไขที่ต้นตอของปัญหาเป็นการเร่งด่วน โดยทุกคนสามารถเริ่มต้นได้ที่ตัวเอง ด้วยการปรุงเมนูอาหารสำหรับใส่บาตรที่มีประโยชน์และดีต่อสุขภาพ หรือเลือกซื้อเฉพาะอาหารจำพวกไขมันต่ำ น้ำตาลน้อย จากร้านค้าเพื่อนำไปถวายพระ" ผอ.รพ.สงฆ์ กล่าว
ขณะที่ วัชระ ประยูรคำ ศิลปินเจ้าของผลงานประติมากรรม "พระสงฆ์อ้วน" เล่าถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานว่า "ในฐานะพุทธศาสนิกชน..ไม่อยากเห็นพระสงฆ์ ซึ่งเป็นเสาหลักในการธำรงพระพุทธศาสนาต้องเจ็บป่วยและทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บ" จึงได้สร้างประติมากรรมพระสงฆ์จำลองขึ้นมา เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นผลเสียจากการที่พระสงฆ์ฉันอาหารที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการออกมาอย่างเป็นรูปธรรม
"ตัวประติมากรรมมีการแฝงความหมายไปตามจุดต่าง ๆ เช่น บาดแผลที่สื่อถึงความทุกข์ทรมานจากโรคเบาหวาน พื้นผิว ของรูปปั้นที่ขรุขระเนื่องจากไขมันส่วนเกิน และสีทองที่สื่อถึงความศรัทธาการถวายอาหารแต่กลับกลายเป็นการย้อนทำร้ายพระสงฆ์ทางอ้อม ผมหวังว่าประติมากรรมชุดนี้จะช่วยกระตุ้นให้เหล่าพุทธศาสนิกชนตื่นรู้และเห็นถึงความสำคัญของการเลือกสรรอาหารสำหรับถวายพระสงฆ์มากขึ้น และช่วยแก้ไขปัญหา พระสงฆ์อาพาธให้ลดลงได้ในระยะยาว" วัชระ ระบุ
ที่ผ่านมา มีความพยายามจากหลายหน่วยงานที่นำเสนอหลักการถวายภัตตาหารที่เป็นมิตรต่อสุขภาพพระสงฆ์ อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงหลัก "4 เพิ่ม 2 ลด" การเพิ่มนั้นหมายถึง 1.เพิ่มข้าวกล้อง เพราะช่วยควบคุมระดับไขมันและน้ำตาลในเลือด 2.เพิ่มผัก เพราะช่วยต้านอนุมูลอิสระ 3.เพิ่มปลา มีโอเมก้า 3 บำรุงสมอง ระบบประสาท สายตา ช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด และ 4.เพิ่มนมพร่องมันเนย เพื่อลดความเสี่ยงภาวะอ้วนและโรคไขมันในเส้นเลือดสูง
ส่วนการลดนั้นหมายถึง 1.ลดอาหารหวานมัน เพื่อหลีกเลี่ยงการสะสมไขมันอันเป็นบ่อเกิดของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และ 2.ลดอาหารเค็ม เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์อัมพาต ขณะที่สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แนะนำ "5 เมนูสุขภาพ" ได้แก่ 1.ข้าวกล้อง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดไขมันและน้ำตาลในเลือด
2.น้ำพริกอ่อง มีส่วนประกอบของมะเขือเทศช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและช่วยบำรุงสายตา 3.แกงส้มมะรุม ฝักมะรุมช่วยลดความดันโลหิต ลดไขมันในเส้นเลือดและป้องกันโรคมะเร็ง 4.ถั่วเขียวต้มน้ำขิง ช่วยขับสารพิษในตับ และขับลมในกระเพาะอาหาร และ 5.ผลไม้สด ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานเป็นปกติ ซึ่งพุทธศาสนิกชนควรใส่ใจเลือกอาหารถวายแด่พระสงฆ์มากขึ้น รวมถึง "บรรดาร้านค้าที่มีบริการอาหารถุงสำหรับถวายพระ" ก็ควรคำนึงด้วยเช่นกัน เพื่อให้ความตั้งใจในการทำบุญ..ไม่กลายเป็นการทำบาปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์