วาระแห่งชาติกำจัดฝุ่นพิษ
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
สำหรับมาตรการที่รัฐไทย ปฏิบัติอยู่ตอนนี้ออกไปทาง ขอความร่วมมือ ประชาชนในการลดความเสี่ยง และลดการกำเนิดฝุ่น PM2.5 ที่มาจาก ลดใช้รถยนต์ส่วนบุคคลโดยเฉพาะรถเก่าที่ก่อให้เกิดควันดำ วางแผนการเดินทางโดยเลือกเส้นทางที่รถติดน้อย เพราะยิ่งรถติดมากก็ยิ่งก่อมลพิษมาก
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการ ให้วางมาตรการ แก้ฝุ่นละอองพิษ ในระยะยาว เพราะสิ่งที่เราเผชิญ ในหลายจังหวัดวันนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งปรากฏ ในปีนี้ แต่ได้เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว แต่สิ่งที่น่าวิตกตรงที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ประเทศอื่นในเมืองใหญ่ ก็เป็นเช่นเดียวกันกับเรา แต่สถานการณ์ประเทศอื่น กลับดีขึ้น เนื่องจากเขาได้วางแผนแก้ปัญหามายาวนาน 4-5 ปีที่แล้ว ขณะที่ประเทศเราทุกรัฐบาล หันมาจัดการระยะสั้น แต่มาถึงวันนี้ หากยังเน้นระยะสั้น เหมือนเดิม คงจะไม่ดีกับประเทศแน่นอน เพราะเราทราบดีว่าฝุ่นละออง PM 2.5 นั้นเป็นอันตรายต่อมนุษย์อย่างมาก เพราะตัวเลขล่าสุดจากการเปิดเผย นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรคที่มีเครือข่ายเฝ้าระวังและรายงานโรคจากฝุ่น PM2.5 โดยเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคหอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ และกลุ่มเสี่ยง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และหญิงตั้งครรภ์ ใน 22 โรงพยาบาล และจากการรายงานผลย้อนหลัง 5 เดือนตั้งแต่สิงหาคม ถึง ธันวาคม 2561 จากโรงพยาบาล 7 แห่ง มีผู้ป่วย ราว 364 ราย อัตราป่วย ไม่แตกต่างจากปี 2560 แต่จะต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ต่อไป
สำหรับมาตรการที่รัฐไทย ปฏิบัติอยู่ตอนนี้ออกไปทาง ขอความร่วมมือ ประชาชนในการลดความเสี่ยง และลดการกำเนิดฝุ่น PM2.5 ที่มาจาก ลดใช้รถยนต์ส่วนบุคคลโดยเฉพาะรถเก่าที่ก่อให้เกิดควันดำ วางแผนการเดินทางโดยเลือกเส้นทางที่รถติดน้อย เพราะยิ่งรถติดมากก็ยิ่งก่อมลพิษมาก การเลิกเผาในที่แจ้ง การปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นซึ่งช่วยลดมลพิษในอากาศได้ เป็นมาตรการจากเบาไปหาหนักสาเหตุที่เน้นแบบนี้ เพราะมองว่าออกมาตรการเข้มหนักไปเลย อาจทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างได้ ส่วนระดับใดถึงจะวิกฤติที่จะต้องออกเป็นมาตรการทางกฎหมายในการห้าม อาจพิจารณาว่า ค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีแดงทั้งวันและกินระยะเวลามากกว่า 3-4 วัน ก็อาจจะมีการออกมาตรการต่างๆ เช่น ห้ามรถดีเซล มาตรการวันคู่วันคี่ ซึ่งจะเห็นว่ามาตรการเหล่านี้หากนำมาใช้จะเกิดผลกระทบอย่างมาก แต่หากอนาคตเมื่อระบบขนส่งสาธารณะมีความสมบูรณ์ ก็อาจเป็นทางเลือกในการดำเนินการ นี้คือสิ่งที่เราเห็นในวันนี้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ เริ่มขยับขึ้นมาอีกระดับ เมื่อนายกรัฐมนตรี มุ่งไปที่โรงงานอุตสาหกรรม ที่เป็นอีกต้นตอใหญ่ของการปล่อยฝุ่นพิษ เพราะที่ผ่านมาไม่ค่อยมีใครออกมาตรการ
สำหรับในส่วนต่างประเทศที่จริงจังกับเรื่องนี้ และเน้นแก้ปัญหาระยะยาว แล้วเช่น ประเทศจีนสั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ระงับโครงการก่อสร้าง ในช่วงหน้าหนาว ตั้งทีมงานกำจัดฝุ่นพิษ ห้ามขายอาหารปิ้งย่างข้างถนน ห้ามเผาใบไม้ทุกชนิด โดยเฉพาะใน เสินเจิ้น เมืองใหญ่ของจีน เปลี่ยนมาใช้รถแท็กซี่พลังงานไฟฟ้าเกือบทั้งหมด ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทำให้ท้องฟ้ากลับมาใส ซึ่งใช้เวลา 4-5 ปี ขณะที่อินเดีย ห้ามรถแท็กซี่ ใช้เครื่องยนต์ดีเซลมาวิ่งบริการ และยังมีการทดลองให้รถวิ่งวันคู่วันคี่ ซึ่งส่วนนี้ประเทศไทยเคยมีการเสนอ และอินเดียยังห้ามจุดพลุไฟในเทศกาลต่างๆ ส่วนเดนมาร์ก เรียกร้องให้ประชาชน หันมาใช้จักรยานแทน ส่วนเนเธอร์แลนด์ห้ามขายรถยนต์น้ำมันดีเซล และให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทน ส่วนฮ่องกง ใช้งบประมาณสร้าง 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง สร้างหอคอยฟอกอากาศ รูปทรงหอคอยออกแบบช่องระบายอากาศเป็นทรงเกลียวใบไม้ มีความสามารถกำจัดอนุภาคแขวนลอยและไนโตรเจนไดออกไซด์ของมลพิษบนถนนสายสำคัญสองสายไม่ต่ำกว่า 80%
เรายอมรับว่าปัญหาฝุ่นพิษ มิอาจกำจัดได้ผ่านในระยะเวลาอันสั้นแต่หัวใจต้องเริ่มจากการวางแผนระยะยาวและมีโรดแมพ ชัดเจนว่าประเทศจะเดินอย่างไรในแต่ละปี มาตรการไหนที่สามารถดำเนินการได้ก่อนหลัง จริงอยู่หลายมาตรการจากแนวทางต่างประเทศ จำเป็นต้องใช้ความเด็ดขาดในฐานะผู้นำและกฎหมาย แต่เป็นความจำเป็นที่ต้องดำเนินการ เพื่อที่จะไม่ให้รุ่นลูกหลาน ตำหนิได้ว่าไม่ได้เริ่มทำมาตรการแก้ระยะยาวเลย เพราะปัญหาถึงวันนี้ต้องยอมรับว่าไม่ใช่พันธกิจของหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่ง แต่คือวาระแห่งชาติ ที่ต้องบูรณาการกันเพื่อแก้ปัญหานี้ ก่อนที่ยากจะแก้ไข