“วาตาโบชิ” มหกรรมดนตรีของคนพิการที่รักในเสียงดนตรีจากเอเชีย-แปซิฟิก

นับเป็นโอกาสสำคัญอีกครั้งที่ประเทศไทยจะได้เป็นเจ้าภาพจัด “มหกรรมดนตรีวาตาโบชิแห่งเอเชีย-แปซิฟิก” มหกรรมดนตรีของคนพิการทั่วเอเชีย-แปซิฟิกที่รักในเสียงดนตรี และตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยมที่จะร่วมกันถ่ายทอดความสุข ความบันเทิงและแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ชมทุกคน จากความสามารถพิเศษด้านดนตรีที่พวกเขามี

มหกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 11 แล้ว ภายใต้หัวข้อ “ยิ้มสู้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน” และนับว่าเป็นโอกาสดียิ่งเพราะเป็นปีที่ครบรอบ 20 ปีวาตาโบชิแห่งเอเชีย-แปซิฟิกพอดี นอกจากจะได้ฟังเพลงเพราะๆ จากคนพิการหลากหลายประเทศแล้ว คนพิการจากทั่วเอเชีย-แปซิฟิกกว่า 10 ประเทศจะร่วมกันขับร้องเพลง “ยิ้มสู้” หรือ “Smile” บทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่พระองค์ท่านทรงมีพระชนมายุครบ 7 รอบ นอกจากนี้ยังมีการแสดงจากศิลปินรับเชิญสุดพิเศษ เช่น การดวลแซ็กโซโฟนระหว่างคนพิการไทยและอเมริกา การเล่นพิณแก้วของ อ.วีระพงศ์ ร่วมกับวง Human Station และนักกีตาร์มือเดียว การแสดงดนตรีพื้นบ้านอีสานของกลุ่มคนพิการจาก จ.ขอนแก่น รวมทั้งการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยสี่ภาคและการแสดงเพลงลูกทุ่งของกุ้ง สุทธิราชและแคต รัตตกาล โดยมีวง BICO และ Diamond ร่วมสร้างสีสันตลอดการแสดง

“วาตาโบชิ” เป็นภาษาญี่ปุ่น หมายถึงปุยเกสรของดอก “แดนดิไลออน” หรือ “ทันโปโป” ในภาษาญี่ปุ่น ที่นำพาเมล็ดพันธุ์ปลิวล่องลอยไปตามสายลม เมื่อตกลงสู่พื้น ได้รับน้ำและอาหารที่เหมาะสม ก็จะงอกงามเป็นดอกไม้ที่สวยงามต่อไป ไม่ต่างจากคนพิการที่หากได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเหมาะสมแล้ว พวกเขาก็จะเติบโตและสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้แก่สังคม และนี่ก็เป็นสิ่งที่คุณ “ฮาริมะ ยาสุโอะ” เชื่อมั่นมาตลอดชีวิตการทำงานกับคนพิการมาเกือบ 40 ปี

คุณฮาริมะคืออดีตนักข่าวในเมืองนารา ประเทศญี่ปุ่น ที่ยอมทิ้งอาชีพของตนเองมาทุ่มเททำงานเพื่อพัฒนาคนพิการในชุมชนโดยใช้ศิลปะและดนตรี เขาได้ก่อตั้ง “มูลนิธิทันโปโป” ขึ้นใน ค.ศ. 1976 ในปีนั้นเองเขาได้ค้นพบการถ่ายทอดมุมมองและความคิดที่น่าอัศจรรย์ของคนพิการโดยการให้คนพิการแต่งกลอนแล้วนำมาใส่ดนตรีและร้องเป็นเพลง จนนำไปสู่คอนเสิร์ตเล็กๆ ในชื่อ “Wataboshi Music Festival” ในเมืองนารา ก่อนที่จะขยายออกไปสู่เมืองอื่นๆ ทั่วญี่ปุ่นและจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี จนกระทั่งได้ขยายสู่ประเทศอื่นๆ ในปี พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของมหกรรมดนตรีนี้ในระดับเอเชีย-แปซิฟิก อนึ่ง นอกจากการแสดงดนตรีแล้ว ทันโปโปยังส่งเสริมให้คนพิการทำงานศิลปะอื่นๆ สร้างอาชีพและรายได้ ช่วยให้คนพิการในชุมชนสามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเองอย่างภาคภูมิใจ

เราคงไม่ได้มีโอกาสจัดมหกรรมดนตรีดีๆ เช่นนี้บ่อยๆ ในประเทศของเรานัก เพราะฉะนั้น อย่าพลาดที่จะได้ไปชมและฟังด้วยตัวของท่านเป็นอันขาด วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 ณ โรงละครแห่งชาติ ตั้งแต่เวลา 18.20 น. เป็นต้นไป หนึ่งแรงใจของท่านมีค่า ทั้งในฐานะเจ้าภาพและการสนับสนุนให้คนพิการเหล่านี้ได้มีโอกาสเติบโตต่อไปบนเส้นทางสายดนตรี

 

 

 

ที่มา : เครือข่ายศิลปะดนตรีผู้พิการ

Shares:
QR Code :
QR Code