วางโมเดล ‘สร้างสุข’ สลายโรคของคนเมือง

ที่มา : โพสต์ ทูเดย์ 


วางโมเดล 'สร้างสุข' สลายโรคของคนเมือง thaihealth


แฟ้มภาพ


วิถีชีวิตมีผลกระทบต่อเนื่องถึงภาวะสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนในสังคม เมื่อสังคมเมืองมีการขยายตัวและพัฒนาอย่างรวดเร็วส่งผลให้คนเมืองต้องแข่งขันกันอย่างเร่งรีบ ประกอบกับการใช้ชีวิตของคนเมืองในปัจจุบันที่ต้องการความสะดวกสบาย ทำให้ชีวิตของคนเมืองในปัจจุบันเริ่มหันมาอยู่อาศัยในอาคารชุดมากขึ้น ซึ่งกลุ่มผู้ที่ใช้ชีวิตในอาคารชุดถือเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ลำดับต้นๆ ของสังคมเมือง ด้วยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เกิดความพยายามที่จะสร้างสุขภาวะให้กับคนเมืองยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร


ทั้งนี้ เนื่องจากพฤติกรรมของคนเมืองที่เคร่งเครียดจากการทำงาน อยู่อาศัยบนอาคารสูงในเมือง ขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้อยู่อาศัย การทำงานอยู่ในสำนักงานมีความเสี่ยงต่อโรคตึกเป็นพิษ หรือที่เรียกว่า Sick Building Syndrome (SBS) ที่มีอาการเซื่องซึม เวียนหัว คลื่นไส้บ่อยๆ อาการที่เกิดขึ้นมาจากมลพิษภายในอาคารที่วางระบบหมุนเวียนอากาศไม่ดี สารระเหยจากสีทาผนัง สารเคลือบเงาทั้งหลาย การใช้เครื่องถ่ายเอกสาร หรือแม้กระทั่งไรฝุ่นในพรม วนเวียนอยู่ภายในระบบปรับอากาศภายในอาคาร


การตั้งต้นแนวคิด กระบวนการพัฒนาสุขภาวะชุมชนอาคารชุด ซึ่งหมายถึงกระบวนการที่รวบรวมองค์ประกอบต่างๆ ที่สัมพันธ์กันเพื่อสร้างให้เกิดสุขภาวะของประชาชนในชุมชน โดยการสร้างความร่วมมือกันของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐ เอกชน เพื่อพัฒนากระบวนการสร้างสุขภาวะทั้ง 4 ด้านของผู้อยู่อาศัยและใช้ชีวิตในอาคารชุดได้อย่างสอดคล้องสมดุลทั้ง ร่างกาย จิตใจ ปัญญา สังคม ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นชุมชนน่าอยู่สำหรับ คนทุกวัย


ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จัดงานสุขภาวะชุมชนอาคารชุด สร้างความสุขที่ยั่งยืน ภายใต้โครงการศึกษารูปแบบบริหารจัดการชุมชนต้นแบบเพื่อสุขภาวะของการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตในอาคารชุด


วางโมเดล 'สร้างสุข' สลายโรคของคนเมือง thaihealth


นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า วิถีชีวิตของเมืองที่เร่งรีบตอนเช้ากลับค่ำส่งผลต่อสภาวะความเครียด ขาดปฏิสัมพันธ์ของผู้อยู่อาศัย ละเลยกฎอาศัยการอยู่ร่วมกัน มีลักษณะครอบครัวเดี่ยวที่มีแนวโน้มเข้าสู่สังคมสูงอายุ ขาดการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมและเสี่ยงต่อโรคตึกเป็นพิษ


สอดคล้องกับสวนดุสิตโพล ที่ได้สำรวจวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดของ กทม. พบว่า 95% ไม่ปฏิบัติตามกฎการอยู่รวมกัน 66.85% ไม่รู้จักกัน และต้องการให้ผู้ดูแลคอนโดมิเนียมดูแลสุขทุกข์ และกำหนดวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันเพื่อความสงบสุขมากถึง 78.72% ซึ่งสิ่งที่พบคือ ส่วนสะท้อนสภาพสังคมที่อ่อนแอลงหากไม่มีการจัดการ


สสส. กรุงเทพมหานคร และบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จึงได้หาโมเดลการบริหารจัดการชุมชนอาคารชุด และแนวทางการสร้างสุขภาวะของผู้อยู่อาศัยและใช้ชีวิตในอาคารชุด เพื่อหาแกนนำในพื้นที่มาขับเคลื่อน หรือเรียกว่าแกนนำ "Sook Fa" ซึ่งอาจเป็นผู้นำกิจกรรมชุมชนอยู่แล้ว เช่น ผู้จัดการโครงการหรือนิติบุคคล โดยพัฒนาให้มีความรู้เรื่องสุขภาพที่ดีทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย ใจ สังคม และปัญญา ทักษะการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ทักษะการฟังเพื่อจัดการความขัดแย้ง เรียนรู้การออกแบบกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพและฝึกออกแบบกิจกรรมจริงในพื้นที่เพื่อเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนงานสร้างสุขภาวะของผู้อยู่อาศัย


"การสร้างโมเดลสุขภาวะชุมชนอย่างยั่งยืนนั้น หัวใจสำคัญอยู่ที่การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ต้องทำให้การมีส่วนร่วมเกิดขึ้นอย่างมีความสุข ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันและพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันจะเริ่มเห็นโรคระบาดที่เกิดขึ้นในชุมชน อย่างเช่นโรคไข้หวัดใหญ่ เกิดขึ้นและติดต่อกับคนในชุมชน แนวทางการป้องกันไม่ใช่แค่เช็ดทำความสะอาดภายในลิฟต์ที่อาจจะติดโรคได้ง่าย การจัดการขยะชุมชนเนื่องจากการพัฒนาคอนโดตั้งอยู่บนพื้นที่ 1 ไร่ แต่มีชุมชนที่อยู่มากกว่า 100 ครัวเรือน การจัดการที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ" นพ.ชาญวิทย์ กล่าว


วางโมเดล 'สร้างสุข' สลายโรคของคนเมือง thaihealth


ขณะที่ สมศรี เตชะไกรศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ที่อยู่อาศัยในโครงการที่บริษัทพัฒนามานานกว่า 26 ปี มีอยู่กว่า 2 แสนครัวเรือน หรือ 150 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เจาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในระดับกลาง-ล่าง ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างชุมชนขนาดใหญ่ให้เกิดขึ้น ซึ่งการสร้างเสริมสุขภาวะที่เกิดขึ้นในชุมชนอาคารชุด ผู้อยู่อาศัยไม่ใช่แค่ผู้ร่วมกิจกรรม แต่เป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรม เช่น การกำจัดแมลง ฉีดวัคซีนในชุมชน ทำให้มีความรู้ในการส่งเสริมสุขภาพของผู้อยู่อาศัยในอาคารสูงมากขึ้น


สิ่งที่ได้จากคนในชุมชนอาคารชุดคือลดความขัดแย้งลง ผู้จัดการชุมชนได้รับการยอมรับ ผู้อยู่อาศัยมีส่วนร่วมในการตอบสนองเพิ่มขึ้น โดยโจทย์ท้าทายของการทำงานต่อไปคือ การคัดนิติบุคคลที่มาบริหารจัดการอาคารชุดที่มีทักษะการสร้างการมีส่วนร่วม พร้อมที่จะเรียนรู้และเผยแพร่ความรู้เรื่องสุขภาวะชุมชนซึ่งเป็นการส่งเสริมคุณภาพของผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดที่ยั่งยืน


ขณะที่ มยุรี เถาลัดดา หัวหน้ากลุ่มงานสาธารณสุขชุมชน กทม. กล่าวว่า โมเดลการสร้างสุขภาวะชุมชนอาคารชุดใน กทม.นั้น จะใช้เป็นต้นแบบในการส่งต่อหรือนำไปใช้ในชุมชุนอื่น อย่างหัวเมืองจังหวัดในส่วนภูมิภาคเพื่อเป็นแนวทางในการเฝ้าระวังและแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


หลักสำคัญของการสร้างสุขในชุมชน อาคารชุด คือ การมีส่วนสร้างสุขภาวะที่ดีร่วมกัน ซึ่งถือเป็นงานท้าทายสำหรับนักบริหารชุมชนและสมาชิกในชุมชนนั้นๆ จะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้

Shares:
QR Code :
QR Code