‘วางแผนก่อนแก่…ดูแลชีวิตก่อนตาย’
“วางแผน ก่อนแก่…ดูแลชีวิตก่อนตาย” หัวข้อการสัมมนาที่สะกิดให้ผู้ได้ฟังหันกลับมาทบทวนตัวเองว่าได้ทำทั้งสองอย่างนี้หรือยัง เพื่อรักษาความสุขของกายและใจให้คงอยู่
ขณะที่คนวัยหนุ่มสาวที่ยังมีชีวิตอยู่อีกยาวนานอาจจะดูไม่สนใจ เพราะมองว่ายังอีกไกล แต่สมาคมประกันชีวิตไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มองว่าทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมดคนหนุ่มสาวเชื่อมโยงกับผู้เกษียณผ่านการจ่ายเงินประกันสังคมซึ่งในอีก 15 ปีข้างหน้า อาจจะไม่ได้รับเงินคืนทันทีที่อายุครบ 55 ปี เพราะคนเกษียณมีเต็มบ้านเต็มเมือง แต่คนรุ่นใหม่ที่จะส่งเงินเข้าประกันสังคมเพื่อดูแลคนหนุ่มสาวในขณะนี้น้อยลง ฉะนั้นต้องวางแผนการเงิน วางแผนสุขภาพของตัวเองตั้งแต่วันนี้
รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ปัจจุบันพบว่าผู้สูงอายุต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ 3 ประการ คือ ปัญหาด้านสุขภาพจากความเสื่อมถอยของร่างกายปัญหาด้านการเงินจากการสูญเสียรายได้ที่เคยได้รับจากการทำงาน และปัญหาด้านสังคม เนื่องจากผู้สูงอายุต้องพึ่งพิงประชากรวัยแรงงานในครอบครัวเพิ่มขึ้น ภาครัฐจึงได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ “การเตรียมความพร้อมสังคมไทยสู่สังคมผู้สูงอายุ” เพื่อเป็นการรองรับและเตรียมความพร้อมให้กับผู้สูงวัย
ขณะที่ภาคเอกชนและยังอยู่ในวัยทำงานอย่าง พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน ประธานคณะอนุกรรมการนักคณิตศาสตร์ประกันภัย สมาคมประกันชีวิตไทย วัย 36 ปี กล่าวว่า การออมจะต้องเริ่มเดี๋ยวนี้ แม้ว่าเงินจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิต เพราะการเกษียณอายุต้องใช้เงินในการดูแลสุขภาพที่ค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10% ในทุกๆ ปี และยังต้องใช้เงินเป็นค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมทางสังคม
กลุ่มคนวัยทำงานมีระบบการออมเพื่อเกษียณอยู่ 2 แบบ คือ คนวัยทำงานนำเงินส่งเข้ากองกลาง คือประกันสังคม เพื่อนำไปจ่ายให้คนที่จ่ายเงินเข้ากองกลางก่อนหน้านี้ที่เกษียณอายุไปก่อน
ปัญหาคือ ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีก 7 ปีข้างหน้า จะมีคนวัยเกษียณ 60 ปี 20% และอีก 15 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 25% แต่อัตราการเกิดของคนลดลงมาก ทำให้คนวัยทำงานลดลง คนวัยหนุ่มสาวในปัจจุบันเมื่อถึงวัยเกษียณอาจจะไม่ได้รับเงินคืนทันทีที่เกษียณ เพราะเงินไม่พอ หากประกันสังคมไม่ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการ นี่จึงเป็นเหตุผลที่คนวัยทำงานในปัจจุบันจะต้องเริ่มออมเงินเพื่อตัวเองตั้งแต่เดี๋ยวนี้
อีกหนึ่งระบบการออมคือ การออมที่จ่ายเพื่อตัวเอง ออมเท่าไหร่ก็ได้คืนพร้อมผลตอบแทน ผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และประกันชีวิต ซึ่งเป็นการออมระยะยาว แต่ถ้าเป็นการออมระยะสั้นคือ การออมผ่านกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF
นวพร เรืองสกุล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) มองว่าประกันสังคมในส่วนของกองทุนชราภาพ ถ้าไม่เพิ่มการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนในอนาคตอาจจะไม่มีเงินจ่ายคืน เพราะในต่างประเทศได้เกิดปัญหาไม่มีเงินจ่ายคืนให้กับผู้ประกันตนแล้ว
ขณะที่ในต่างประเทศหลังจากเกษียณก็สามารถบริหารเงินก้อนที่ได้จากการเกษียณนอกเหนือจากการนำไปให้บริษัทประกันชีวิตบริหารในรูปของบำนาญ ยังมีทางเลือกมอบให้มหาวิทยาลัยบริหาร โดยมอบผลประโยชน์หลังการตายให้กับมหาวิทยาลัย หรือสินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) เหมือนการจำนองบ้าน แต่ผู้กู้ไม่ต้องจ่ายเงินต้นและชำระดอกเบี้ยให้ธนาคาร แต่ตรงกันข้ามธนาคารจะจ่ายเงินให้ผู้กู้เป็นรายเดือน เพื่อคนวัยเกษียณจะได้มีเงินไว้ใช้สัญญาจะสิ้นสุดเมื่อผู้กู้เสียชีวิตแล้วบ้านจะตกเป็นของธนาคาร แต่ในประเทศไทยยังไม่มี
คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ วัย 74 ผู้ริเริ่มโครงการศูนย์ฝึกอบรมและสถานพักฟื้นผู้ป่วยระยะสุดท้าย กล่าวว่า คนวัยนี้ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพว่า ต้องแก่ เสื่อมและต้องตาย แต่ต้องดูแลให้ทุกข์น้อยที่สุด ลดความกังวลใจ ลดความเครียด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ผู้สูงวัยจะเกี่ยวโยงกับคนอายุน้อยๆ เพราะต้องมีคนดูแล ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีผู้สูงอายุสูงสุดในอาเซียน จะใช้บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากในอนาคต การดูแลผู้สูงอายุจะต้องแยกตามสภาพร่างกายและจิตใจให้เหมาะสม เช่น กลุ่มที่ความสามารถด้านสมองและร่างกายลดลง ซึ่งสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้และกลุ่มที่มีปัญหาด้านจิตใจ เช่น พยายามฆ่าตัวตาย
ชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มองว่าต้องเริ่มสร้างการออมให้เด็กติดเป็นนิสัย เพื่อให้เตรียมตัวสู่การเกษียณเพราะต้องสร้างตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งมีทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุนให้สังคมเห็นความสำคัญของการออม เพราะโครงสร้างทางสังคมเปลี่ยน คนเกิดน้อยลงคนวัยทำงานในอีก 20-30 ปีข้างหน้าจะน้อยลงไปอีกการที่จะทำให้เกษียณอย่างมีคุณภาพเศรษฐกิจและทางสังคม รวมถึงสุขภาพกายจะต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก
การเตรียมความพร้อมเพื่อการเกษียณในขณะนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆแต่เป็นเรื่องใหญ่ที่ถูกกำหนดเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 และ 11 เพื่อกระตุ้นให้มีการเตรียมตัวกันแต่เนิ่นๆ ชีวิตจะได้เบิกบาน สุขใจ สุขกาย ล้วนต้องมีเงินรองรับไว้ใช้ให้พอดีและมีศักดิ์ศรีเพราะไม่ต้องง้อหรือขอใคร
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ โดยวารุณี อินวันนา