วางกรอบ-เพิ่มงบดูแล บัตรทอง ด้วยแพทย์แผนไทย
ที่มา : มติชน
แฟ้มภาพ
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ประชาชนจำนวน 48.5 ล้านคน ที่ใช้สิทธิในโครงการ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทองมาอย่างต่อเนื่อง
นพ.พินิจ หิรัญโชติ ประธานคณะทำงานพัฒนาประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เปิดเผยถึงกระบวนการจัดทำสิทธิประโยชน์ด้านการแพทย์แผนไทย ว่าขณะนี้ สปสช.เตรียมออกประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2562 และหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ ซึ่งออกตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป
นพ.พินิจ กล่าวว่า สำหรับประกาศฉบับดังกล่าวครอบคลุมถึง "บริการการแพทย์แผนไทย" ด้วย โดยจะมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจากบริการผู้ป่วยนอกเป็นค่าใช้จ่ายบริการการแพทย์แผนไทยสำหรับผู้มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง จำนวน 48,575,000 คน ในอัตราเหมาจ่าย 11.61 บาทต่อหัวประชากร ผ่านหน่วยบริการประจำ คิดเป็นเงิน งบประมาณ 563,955,750 บาท
นพ.พินิจกล่าวว่า ทั้งนี้ได้มีการยกร่างประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขด้านการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2561 อีก 1 ฉบับ เพื่อจัดสรรงบประมาณ แนวทาง เงื่อนไข และหลักเกณฑ์การจ่าย แบ่งเป็น 1.ร้อยละ 10 หรือประมาณ 1.16 บาทต่อหัวประชากร เหมาจ่ายให้หน่วยบริการประจำและหรือหน่วยบริการที่ร่วมให้บริการด้านการแพทย์แผนไทยที่เป็นหน่วยบริการต้นแบบการบริการการแพทย์แผนไทย 2.ไม่เกินร้อยละ 45 หรือประมาณ 5.22 บาทต่อหัวประชากร เหมาจ่ายให้หน่วยบริการประจำและหรือหน่วยบริการที่ร่วมให้บริการด้านการแพทย์แผนไทยตามระดับการบริการการแพทย์แผนไทย โดยพิจารณาจัดกลุ่มตามระดับการบริการจากผลงานบริการจริงที่จัดสรรในไตรมาส 3-4 ปีงบประมาณ 2560 และไตรมาส 1-2 ปีงบประมาณ 2561 ไม่รวมหน่วยบริการที่ได้รับค่าใช้จ่ายในข้อ 1 และ 3.ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 45 หรือประมาณ 5.22 บาทต่อหัวประชากร จ่ายให้หน่วยบริการประจำและหรือหน่วยบริการร่วมให้บริการด้านการแพทย์แผนไทยตามจำนวนผลงานบริการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562 เช่น บริการนวด ประคบ อบสมุนไพร ฟื้นฟูสมรรถภาพมารดาหลังคลอด ใช้ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นต้น
"ประกาศฉบับนี้ เพื่อให้มีแรงจูงใจด้านการเงินที่เหมาะสมแก่ผู้ให้บริการในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และให้บริการที่มีคุณภาพ ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นและมีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน" นพ.พินิจกล่าว
สำหรับประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขด้านการแพทย์แผนไทยที่ผู้มีสิทธิจะได้รับในหน่วยบริการ รวมทั้งที่หน่วยบริการจัดให้ที่บ้านและในชุมชน นพ.พินิจบอกว่า ประกอบด้วย 1.บริการตรวจและวินิจฉัยโรค 2.บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพมารดาก่อนคลอด การให้ความรู้และหรือการปรับพฤติกรรมสุขภาพบุคคลด้วยการแพทย์แผนไทย การให้ยาจากสมุนไพร ยาแผนไทย หรือกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย 3.บริการบำบัด รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ ได้แก่ การรักษาด้วยยาจากสมุนไพรหรือยาแผนไทย การฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยและมารดาหลังคลอด การบริการด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย ซึ่งหมายถึงกรรมการวิธีที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนไทยที่สภาการแพทย์แผนไทยกำหนด หรือรับรองแล้วแต่กรณี รวมทั้งการนวด อบ ประคบ หรือกรรมวิธีอื่นใดตามที่ระบุไว้ในตำราการแพทย์แผนไทยที่ถ่ายทอดและพัฒนาสืบต่อกันมา และ 4.บริการอื่นใดที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดแต่ทั้งนี้ การรับบริการสาธารณสุขด้านการแพทย์แผนไทยจะต้องเป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ หรือแนวทางเวชปฏิบัติด้านการแพทย์แผนไทย
นพ.พินิจกล่าวต่อไปว่า ความจริงสิทธิประโยชน์แบบนี้มีมานาน ตั้งแต่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข แต่เพื่อให้มีความชัดเจนในทุกด้านยิ่งขึ้น จึงต้องออกเป็นประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขด้านการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2561 เพื่อทำให้นิยามต่างๆ ชัดเจน เช่น คำว่า "การแพทย์แผนไทย" หมายถึง กระบวนการทางการแพทย์เกี่ยวกับการตรวจ วินิจฉัย บำบัด รักษา หรือป้องกันโรค หรือการส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพมนุษย์ การผดุงครรภ์ การนวดไทย และหมายรวมถึงการเตรียมการผลิตยาแผนไทย การประดิษฐ์อุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ โดยอาศัยความรู้หรือตำราที่ได้ถ่ายทอดและพัฒนาสืบต่อกันมา หรือคำว่า "กรรมวิธีการแพทย์แผนไทย"หมายถึง กรรมวิธีที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนไทยที่สภาการแพทย์แผนไทยกำหนด หรือรับรองแล้วแต่กรณี รวมทั้งการนวด อบ ประคบ หรือกรรมวิธีอื่นใดตามที่ระบุไว้ในตำราการแพทย์แผนไทยที่ได้ถ่ายทอดและพัฒนา สืบต่อกันมา ที่สำคัญให้นิยาม "ผู้มีสิทธิ" ที่จะได้รับบริการว่า คือผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น
"สำหรับงบประมาณที่จัดสรรสำหรับการให้บริการการแพทย์แผนไทยนั้นถือว่าดีขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2550 ที่ได้งบเพียง 50 สตางค์ต่อหัวประชากร หรือประมาณ 24 ล้านบาท ในปี 2551 ก็ได้เพิ่มเป็น 1 บาทต่อหัวประชากร ต่อมาปี 2553 ได้เพิ่มเป็น 2 บาทต่อหัวประชากร ปี 2554 เพิ่มเป็น 6 บาทต่อหัวประชากร กระทั่งปี 2560 ถึงปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นเป็น 11.61 บาทต่อหัวประชากร แม้จะเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังไม่เพียงพอ" นพ.พินิจกล่าว และว่า การนำแนวทางการรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยเข้าไปให้บริการประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทอง นอกจากจะช่วยให้ประเทศลดค่าใช้จ่ายจากการจัดซื้อยาแผนปัจจุบัน ซึ่งบางชนิดมีการนำเข้าและยังมีราคาแพงแล้ว อีกด้านหนึ่งยังช่วยลดปัญหาการดื้อยาแผนปัจจุบัน เพราะแนวทางของการแพทย์แผนไทย หากใช้ยาส่วนใหญ่เป็นจำพวกสมุนไพรที่สามารถหาวัตถุดิบและผลิตได้ภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม นพ.พินิจกล่าวว่า เนื่องจากมีเป้าหมาย ให้ประชาชนในสิทธิบัตรทองเชื่อมั่น เข้าถึง และใช้บริการการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาโดยในปี 2560 มีผู้ป่วยนอกที่ใช้บริการการแพทย์แผนไทยเพียงร้อย 10.91 ในปีงบประมาณ 2561 จึงเสนอให้โรงพยาบาลที่มีศักยภาพมีการจัดทำหน่วยบริการต้นแบบขึ้น โดยตัดงบจากเงินที่จัดสรรให้บริการด้านการแพทย์แผนไทย หัวละ 1.061 บาท ไปดำเนินการตามแนวทางและศักยภาพของแต่ละพื้นที่ และให้แต่ละแห่งรายงานว่าได้นำเงินไปใช้อย่างไร ขณะนี้มีหน่วยบริการต้นแบบประมาณ 30-40 แห่ง ทั่วประเทศ
"ส่วนใหญ่จะเน้นการแพทย์แบบผสมผสาน หรือที่เรียกว่าการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องสมุนไพรเพียงด้านเดียว จะทำทั้งยาสมุนไพร บำบัดฟื้นฟู และออกกำลังกาย เราต้องทำให้การแพทย์แผนไทยมีความเป็นวิทยาศาสตร์ มีค่าสถิติที่สามารถทำให้ผู้ใช้เกิดความเชื่อมั่น สามารถสอนให้คนไข้ทำเองได้" นพ.พินิจกล่าวพร้อมทิ้งท้ายว่า คาดว่า ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะ ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างมาก เพราะมีรายละเอียดชัดเจนว่าเขาจะได้สิทธิอะไรบ้างนับจากนี้ สามารถช่วยให้คนไข้มีสิทธิเลือกว่าจะให้รักษา แบบไหน อย่างไร แต่แน่นอนว่า แพทย์เองก็ยังคงทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยว่าเมื่อถึงที่สุดแล้ว แต่ละคนเหมาะสมที่จะเข้าสู่การรักษาแบบใด