วัยใสฉลาดรู้ ท้องไม่พร้อมมีทางออก

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 


วัยใสฉลาดรู้ ท้องไม่พร้อมมีทางออก thaihealth


แฟ้มภาพ


การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย และไม่มีความรู้ที่ถูกต้องเรื่องการคุมกำเนิดส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราการตั้งครรภ์ในกลุ่มวัยรุ่น


ข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปี 2558 มีจำนวนหญิงคลอดบุตรวัย 10-19 ปี จำนวน 104,289 คน หรือเฉลี่ยวันละ 286 คน คิดเป็นอัตราสูงถึง 15% ของการคลอดทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นที่มีแนวโน้มสูงขึ้น   การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย การทอดทิ้งทารก และคุณภาพของประชากรที่เกิดจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น


เมื่อเร็วๆ นี้ ใน การประชุมระดับชาติ เรื่องสุขภาวะทางเพศครั้งที่ 2 หัวข้อ เซ็กส์เปิดในวัยรุ่น : เปิดพื้นที่ความฉลาดรู้เรื่องเพศ จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับองค์การกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ หวังมุ่งลดปัจจัยเสี่ยงและส่งเสริมสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น


หนึ่งในห้องเสวนาย่อยที่น่าสนใจคือ "นวัตกรรมผสานพลังเพื่อแก้ปัญหาท้องวัยรุ่น : ไม่ว่าจะท้องต่อหรือยุติการท้อง" โดย นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง" ผู้อำนวยการสำนักอนามัยเจริญพันธุ์ กรมอนามัย ให้ข้อมูลว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา นับเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนในภาพใหญ่ของประทศ สิ่งที่วัยรุ่นจะได้จากกฎหมาย ฉบับนี้คือ ทุกคนได้เรียนเพศศึกษาที่สอดคล้องกับวัยและนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง เพื่อให้เด็กเยาวชนฉลาดรู้เรื่องเพศ มีทักษะในการป้องกัน ส่วนวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์สามารถเรียนต่อจนจบได้โดยไม่ต้องพักการเรียน หรือถูกบังคับให้ย้ายไปเรียนที่อื่น วัยรุ่นสามารถใช้บริการจากคลินิกสุขภาพทางเพศได้อย่างมั่นใจว่า ความลับจะไม่ถูกเปิดเผย ไม่ต้องอายและสามารถตัดสินใจเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้ปกครองยินยอม นอกจากนี้กฎหมายยังมุ่งส่งเสริม ป้องกัน รักษาและฟื้นฟู ที่เกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์แก่วัยรุ่น ถูกต้องตามหลักวิชาการ


"เด็กบางคนพอรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ ก็จะปกป้องตัวเองโดยการแกล้งลืมเพื่อหนีปัญหา หลอกตัวเองว่า เขาไม่ได้ตั้งครรภ์เป็นเพียงเนื้องอก สิ่งนี้สะท้อนความรู้สึกว่าเขาไม่มีที่ให้พึ่งพิงได้เลย" ประสบการณ์ของ "นพ.พิษณุ ขันติพงศ์" ประธานจริยธรรม ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย


วัยใสฉลาดรู้ ท้องไม่พร้อมมีทางออก thaihealth


นพ.พิษณุ อธิบายว่า สิ่งแรกคือเราต้องเข้าใจสภาพจิตใจของเด็กก่อน ยิ่งในกรณีเด็กตั้งครรภ์ก็ต้องมาดูว่าใครจะเป็นคนแรกที่รับรู้ ซึ่งต้องเป็นคนที่เด็กไว้ใจได้เป็นคนที่เข้าใจเขา ไม่ใช่ไปซ้ำเติมว่าเด็กไปสำส่อนหรือไปทำอะไรมา แต่เราต้องรู้ก่อนว่านี่เป็นปัญหาใหญ่ของเขานะ จากนั้นต้องอธิบายถึงขั้นตอนทางเลือกต่างๆ ให้เขาได้รู้ และพอมาถึงตอนที่ต้องตัดสินใจว่า จะทำแท้งหรือต้องการที่จะเก็บไว้ เราต้องทำให้เขาสามารถเข้ามาอยู่ในกระบวนการ เช่น มีคลินิกฝากครรภ์วัยรุ่น ซึ่งไม่ต้องไปติดป้ายประกาศให้คนทั่วไปรู้ เพียงแต่แยกออกมาเป็นห้องพิเศษเพื่อดูแล ให้เด็กได้รับความรู้สึกว่าได้รับการยอมรับ ถึงแม้ว่าเขาจะท้อง แต่ก็เป็นแม่ที่ดีได้ ขณะเดียวกันต้องดูแลอย่าให้มีปัญหาอื่นแทรกซ้อน


ประธานจริยธรรมฯ ยังย้ำว่า ในกรณีที่เด็กไม่ต้องการจะเก็บไว้ เราก็ต้องหาวิธีการว่าจะทำอย่างไร เพราะการที่เขาทำแท้งก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตเขามันจบแล้วนะ เป็นคนไม่ดี ฆ่าลูกผิดศีลธรรม แต่ในเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เราต้องช่วยกันรักษาศักดิ์ศรีความเป็นคนให้เขาเสียก่อน แล้วเราก็หาช่องทางว่าจะทำอย่างไรให้ปลอดภัยที่สุด เจ็บตัวน้อยที่สุด ที่สำคัญยังสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ต่อไป


ส่วนการเรียนการสอนเพศศึกษาแก่เด็กจะมีอยู่ 3 แนวทางคือ หลีกเลี่ยง ป้องกัน และแก้ไข ซึ่งสมัยนี้ต้องยอมรับว่า สิ่งที่จะทำให้เด็กหลงผิดมีมากมาย แต่จะทำอย่างไรให้เด็กเขารู้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ดีอย่าไปเกี่ยวข้อง แต่ถ้าจำเป็นต้องเกี่ยวข้องจะต้องรู้อะไรบ้าง ซึ่งทักษะในเพศศึกษาก็จะมีทั้งการหลีกเลี่ยง หัดรู้จักต่อรองหรือไม่ไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงลับตาคน ซึ่งถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ต้องสอนให้รู้ว่าจะป้องกันอย่างไร เช่น การใส่ถุงยางอนามัย หรือวิธีการใช้ยาคุมฉุกเฉิน เป็นต้น กรณีถ้าเกิดพลาดขึ้นมา ก็ต้องรู้ว่าจะเข้าไปให้ใครช่วยเหลือดี ซึ่งถ้าเด็กเข้ามาหาตั้งแต่ท้องระยะแรกๆ อายุครรภ์น้อยๆ การแก้ไขปัญหาก็จะง่าย


"เรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาของใครคนใดคนหนึ่งหรือหน่วยงานใด แต่เป็นปัญหาของทุกคนในสังคมที่ต้องช่วยกันแก้ไขและหาทางป้องกัน ซึ่งแต่ละปีมีเด็กท้องไม่พร้อมแสนกว่าคน เด็กเหล่านี้หากปล่อยไปก็มักพบเจอกับปัญหาชีวิตต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทำไมเราไม่ทำให้เป็นระบบ เด็กแสนกว่าคนได้รับการดูแลระยะยาว การให้ความช่วยเหลือดูแลเรื่องการศึกษา ซึ่งจะทำให้เราได้คนที่มีคุณภาพมาเป็นกำลังสำคัญให้สังคมต่อไป" นพ.พิษณุฝากทิ้งท้าย


แม้ชีวิตก้าวพลาด ขอเพียงโอกาสเริ่มต้นใหม่ การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของสังคมไทยในเรื่องเพศที่ถูกต้อง ถือเป็นหนทางในการป้องกันปัญหาอย่างยั่งยืน

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ