วัยแรงงานอัตราเสี่ยงฆ่าตัวตายสูง

    /data/content/24118/cms/e_adefjrstuw79.jpg      


          กรมสุขภาพจิตเผยวัยแรงงานมีอัตราเสี่ยงการฆ่าตัวตาย สูง โดยเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานมากที่สุด รองลงมาคือเกษตรกร เป็นผล มาจากความเครียดและความกดดันด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง


          นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการขอรับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตผ่านสายด่วน 1323 ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พบวัยแรงงานโดยเฉพาะช่วงอายุ 26-30 ปี ขอรับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตมากที่สุด 12,333 ราย รองลงมาคือ ช่วงอายุ 21-25 ปี 9,076 ราย และ 36-40 ปี 8,774 ราย ปัญหาที่ขอปรึกษาเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ โรคทาง จิตเวช ปัญหาสุขภาพจิต เครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ ปัญหาครอบครัว ปัญหาความรัก และปัญหาการพนัน


          ขณะที่จากรายงานการฆ่าตัวตายของประเทศไทยปี 2540-2555 พบว่าวัยแรงงานยังคงเสี่ยงต่อปัญหาการฆ่าตัวตาย โดยช่วงอายุ 20-29 ปี มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด 17,429 ราย รองลงมาคือ ช่วงอายุ 30-39 ปี 16,719 ราย และช่วงอายุ 40-49 ปี 12,081 ราย ล่าสุดปี 2555 อายุ 30-39 ปี ฆ่าตัวตายมากที่สุด 947 ราย รองลงมาคือ 40-49 ปี 828 ราย และ 20-29 ปี 686 ราย


          กลุ่มอาชีพผู้ใช้แรงงานทำร้ายตนเองมากที่สุด รองลงมาคือ กลุ่มอาชีพเกษตรกร และผู้ไม่มีรายได้ เหล่านี้สะท้อน ให้เห็นถึงความเครียดและความกดดันในชีวิตที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ซึ่งหากแรงงาน ไทยเกิดความเครียดและไม่สามารถจัด การกับความเครียดได้อย่างเหมาะสม ย่อม มีโอกาสเกิดปัญหาต่างๆตามมาอีกมาก


          อธิบดีกรมสุขภาพจิตแนะให้ดูแลสุขภาพกายโดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายคลายเครียด รับแสงแดดวันละ 10-15 นาที หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มสุรา ดูแลสุขภาพใจ รักษาสมดุลระหว่างหน้าที่ความรับผิดชอบและการทำกิจกรรมที่สร้างความสุข ช่วยงานคนอื่น หรือทำสิ่งดีๆให้เพื่อนร่วมงานที่ทำให้เกิดความรู้สึกภูมิใจ รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ฝึกการมีวินัยในตัวเอง ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นไปได้ในแต่ละวัน และทำให้ได้ตามที่วางไว้ ลดความสมบูรณ์แบบลงบ้าง เพราะจะยิ่งช่วยเพิ่มความเครียด ให้มากขึ้น


          รวมทั้งสร้างความหวังเพื่อเอาชนะ ความรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง และความคิดทางลบ ตลอดจนทำสิ่งใหม่ๆหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มีความสุขกับธรรมชาติและศิลปะ คิดบวก มองเรื่องต่างๆในแง่ขำขัน หรืออยู่ใกล้คนที่มีอารมณ์ขัน ไม่คิดอะไรมาก หลีกเลี่ยงการมีความขัดแย้ง เรียนรู้ให้อภัยผู้อื่นรวมถึงตนเอง ที่สำคัญมีสติคอยวัดอุณหภูมิความเครียดตัวเอง และหาวิธีจัดการกับความเครียด หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่ทำให้รู้สึกวิตกกังวล กลัว และซึมเศร้า ซึ่งแต่ละคนอาจมีวิธีที่แตกต่างกัน เช่น ทำสมาธิหายใจเข้าออกลึกๆ หามุมสงบนั่งทำใจคนเดียว เปลี่ยนไปพูดเรื่องอื่น ทำบุญทำทาน หรือช่วยเหลือผู้อื่น เป็นต้น


 


 


          ที่มา: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต  

Shares:
QR Code :
QR Code